กฎของอุปสงค์ คืออะไร?
กฎของอุปสงค์ คือ แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ (Demand) กับระดับราคาสินค้า (Price) ที่มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงข้ามกัน เมื่อสินค้าราคาเพิ่มขึ้นความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะยิ่งลดลง และในทางกลับกันยิ่งสินค้าราคาลดลงความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะยิ่งเพิ่มขึ้น
จากกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) ความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการซื้อ (Demand) กับระดับราคาสินค้า (Price) สามารถสรุปได้ดังนี้
- เมื่อสินค้าราคาสูงขึ้น (Price เพิ่มขึ้น) ความต้องการซื้อสินค้าจะลดลง (Demand ลดลง)
- เมื่อสินค้าราคาลดลง (Price ลดลง) ความต้องการซื้อสินค้าจะเพิ่มขึ้น (Demand เพิ่มขึ้น)
กล่าวคือ กฎของอุปสงค์ เป็นหลักการพื้นฐานที่ใช้ในการอธิบายกลไกการทำงานของตลาด (Market) และกลไกราคาของสินค้าทั่วไป (แม้ว่าจะมีสินค้าบางชนิดไม่เป็นไปตามกฎของอุปสงค์) ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาตามระดับความต้องการซื้อของผู้บริโภค และระดับราคาของสินค้า
ปัจจัยที่มีผลต่อกฎของอุปสงค์
โดยพื้นฐานสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ที่อธิบายโดยกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) เกิดขึ้นจริง อาจมีเหตุผลมาจากประเด็นต่อไปนี้
- ราคา (Price) เมื่อราคาของสินค้าหรือบริการลดลง (ในขณะที่ปัจจัยอื่นไม่เปลี่ยนแปลง) ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าดังกล่าวมากขึ้น
- กำลังซื้อ (Purchasing Power) เมื่อรายได้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้เงินไปกับสินค้าและบริการมากขึ้น
- รสนิยมและกระแส (Taste & Trend) หากสินค้าเป็นที่ต้องการจากกระแสบางอย่างหรือรสนิยมของคนกลุ่มใหญ่ ก็จะทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นที่ต้องการมากขึ้น
- ราคาของสินค้าทดแทน (Substitute Product) เมื่อราคาของสินค้าหนึ่งเพิ่มขึ้น สินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ก็จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น (และส่งผลให้ราคาสินค้าทดแทนเพิ่มขึ้นตามมากน้อยตามสถานการณ์)
- สินค้าประกอบกัน (Complementary Goods) เมื่อราคาของสินค้าที่ต้องใช้ร่วมกับสินค้าหนึ่งลดลง ผู้บริโภคก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้สินค้านั้นมากขึ้น อย่างเช่น ราคาน้ำมันและความต้องการใช้รถยนต์เพื่อความบันเทิง
จะเห็นว่าในภาพรวมกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) มีพื้นฐานมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม กฎของอุปสงค์อาจไม่เป็นจริงเสมอไปในทุกสถานการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง มีบางกรณีที่ปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องและทำให้กฎของอุปสงค์ผิดเพี้ยนไป อย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของรายได้ ความชอบ และความคาดหวังต่อราคาในอนาคตที่มีอิทธิพลมากพอต่ออุปสงค์และทำให้กฎแห่งอุปสงค์ไม่เป็นไปตามกลไกข้างต้น
กราฟ Law of Demand
ตามปกติความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และราคาจะเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกัน ซึ่งจากความสัมพันธ์ของราคาสินค้า (Price) กับความต้องการซื้อสินค้า (Demand) ของผู้บริโภคดังกล่าวตามกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) สามารถเขียนออกมาเป็นกราฟอุปสงค์ ได้ตามกราฟด้านล่าง

โดยที่แกนตั้งคือระดับราคาของสินค้า (Price) และแกนนอนคือปริมาณความต้องการซื้อสินค้า (Quantity Demanded)
จากกราฟด้านบนจะเห็นว่า เมื่อระดับราคาของสินค้าลดลงมาจาก P1 เหลือ P2 จะทำให้ระดับความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภค (Demand หรือ Quantity) เพิ่มขึ้นจาก Qๅ ไปเป็น Q2 ในทางกลับกันเมื่อระดับราคาสินค้า (Price) เพิ่มขึ้นจาก P2 ไปเป็น P1 ระดับปริมาณความต้องการสินค้าของผู้บริโภค (Quantity) ลดลงจากจุด Q2 เหลือ Q1
ทั้งนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์จะเรียกความต้องการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะราคาสินค้าว่า ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา (Price Elasticity of Demand)
ข้อยกเว้นของกฎของอุปสงค์ (Law of Demand)
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สินค้าทุกประเภทที่ความสัมพันธ์ระหว่างราคาต่อความต้องการซื้อสินค้าจะเป็นไปตามกฎของอุปสงค์หรือ Law of Demand โดยสินค้าที่ขัดกับกฎของอุปสงค์ ได้แก่ สินค้าประเภท Giffen Goods และสินค้าประเภท Veblen Goods ที่ราคาที่สูงขึ้น ไม่ได้ทำให้ระดับความต้องสินค้า (Demand) ลดลงตามกฎของอุปสงค์แต่อย่างใด
Giffen Goods คือ สินค้าจำเป็นทั่วไปที่ถึงแม้ว่าสินค้าจะแพงก็ยังต้องซื้ออยู่ ทำให้ปริมาณความต้องการซื้อหรือ Demand ไม่ลดลงตาม กฎของอุปสงค์
Veblen Goods คือ ด้านตรงข้ามของ Giffen Goods ในแง่ที่เป็นสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าทั่วไป โดย Veblen Goods จะเป็นสินค้าที่ไม่ได้จำเป็นต้องซื้อ แต่ยิ่งราคายิ่งแพงคนยิ่งซื้อ เพื่อใช้แสดงฐานะ