กลยุทธ์ระดับองค์กร คือ กลยุทธ์ในการกำหนดกลยุทธ์ในภาพกว้างของทั้งองค์กร เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานขององค์กร ว่าองค์กรจะทำอะไร เดินไปในทิศทางไหนต่อไป ตัวอย่างเช่น การขยายกิจการ ลดจำนวนสาขา หรือ เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น
ถ้าหากเทียบกับกลยุทธ์ระดับอื่น ๆ กลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Strategy) จะเป็นกลยุทธ์ในระดับที่กว้างที่สุดจากระดับของกลยุทธ์ทั้ง 3 ระดับตามหลักการจัดการเชิงกลยุทธ์ ซึ่งมักจะสะท้อนออกมาเป็น Vision, Mission, และ Objective ขององค์กร
โดยกลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Strategy) จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ Growth Strategy, Stability Strategy, และ Retrenchment Strategy
Growth Strategy
Growth Strategy คือ กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเติบโต เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตด้วยวิธีต่าง ๆ โดย Growth Strategy หรือกลยุทธ์การเติบโตจะสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
Market Penetration คือ การเติบโตด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดภายในตลาดเดิม เช่น การทำให้ลูกค้าใช้สินค้ามากขึ้น
Product Development คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ยังขายอยู่ในตลาดเดิม ไม่ได้หาลูกค้าใหม่ โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวอาจจะนำมาทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมหรือไม่ก็ได้
Market Development คือ การขยายตลาดด้วยสินค้าเดิม เช่น การส่งออกสินค้าจากที่ไม่เคยส่งออก และการจับลูกค้ากลุ่มใหม่ด้วยสินค้าชนิดเดิม
Diversification คือ การขยายเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ในตลาดใหม่ โดยกลยุทธ์ Diversification จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ Concentric Diversification ที่เป็นการขยายเข้าไปในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และ Conglomerate Diversification ที่เป็นการขยายไปสู่ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเดิม
Integrative Growth จะเป็นการเติบโตด้วยการขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแบ่งเป็น Horizontal Growth และ Vertical Growth ดังนี้
Horizontal Growth คือ การเติบโตด้วยการขยายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วยการ Merger Acquisition หรือ Take Over เช่น บริษัทผลิตมือถือควบรวมกับบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค
Vertical Growth คือ การเติบโตด้วยการขยายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการของธุรกิจเดิม แบ่งเป็น Backward Integration และ Forward Integration
Backward Integration คือ การขยายธุรกิจไปในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัตถุดิบ เช่น บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ ทำโรงงานผลิตหน้าจอเอง
Forward Integration คือ การขยายธุรกิจไปในธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้า เช่น ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คเปิดศูนย์จำหน่ายเอง (แทนที่จะฝากร้านอื่นขายเป็นหลัก)
Stability Strategy
Stability Strategy คือ กลยุทธ์แบบคงที่ เป็นกลยุทธ์ที่จะไม่ทั้งขยายกิจการแบบ Growth Strategy หรือลดการดำเนินงานลงแบบ Retrenchment Strategy
การเลือกใช้กลยุทธ์ระดับองค์กรแบบ Stability มักจะเกิดจากการที่ธุรกิจดำเนินอยู่ในตลาดที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงหรืออิ่มตัวแล้ว ซึ่งการลงทุนเพิ่มเข้าไปก็ไม่ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าพอใจ (เรียกว่าอยู่เฉย ๆ ดีกว่า) หรือในอีกกรณีคือการที่บริษัทมีปัญหาภายในจึงควรหยุดเติบโตเพื่อจัดการปัญหาภายในให้เรียบร้อยก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป
โดยกลยุทธ์ Stability Strategy สามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่
Pause หรือ Proceed with Caution Strategy คือ การหยุดการเติบโตไว้ชั่วคราว หรือ ดำเนินการต่อไปแต่ดำเนินงานด้วยความระมัดระวัง ซึ่งการใช้กลยุทธ์นี้จะเป็นผลจากการได้รับผลกระทบชั่วคราวจากปัจจัยภายนอกบางอย่าง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ เข้มงวดขึ้น
No Change Strategy คือ การอยู่เฉย ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นต่อไป
Profit Strategy คือ กลยุทธ์ในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง แต่ยังขายสินค้าเหมือนเดิม ซึ่งการลดต้นทุนจะส่งผลให้กำไรต่อหน่วยเพิ่มขึ้น
Retrenchment Strategy
Retrenchment Strategy คือ กลยุทธ์ระดับองค์กรที่เป็นกลยุทธ์แบบหดตัว เป็นการลดระดับการดำเนินงานของกิจการ มักจะพบได้ในบริษัทที่เริ่มเห็นทิศทางของตลาดที่แย่ลง
โดยกลยุทธ์ Retrenchment Strategy สามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่
Turnaround Strategy คือ การลดขนาดองค์กรเพื่อปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ (Recession)
Divestment Strategy คือ การลดการลงทุนในสิ่งที่ไม่ทำกำไร (หรือเลิกลงทุนตรงนั้นไปเลย) เพื่อมุ่งไปที่สิ่งที่ยังทำกำไรให้บริษัทอยู่
Bankruptcy หรือ Liquidation Strategy คือ การเลิกกิจการ อาจจะเป็นการเลิกทั้งกิจการ หรือเลิกแค่ในบางส่วนที่ไม่ทำกำไร (ขายทิ้งบางส่วน)