ETF คือ กองทุนรวมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลให้กองทุน ETF (Exchange Traded Fund) สามารถซื้อขายได้แบบ Real Time เหมือนกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น ซึ่งแต่ละ ETF จะถูกบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และในแต่ละกองทุนก็จะมีนโยบายการลงทุนและรูปแบบการบริหารกองทุนที่แตกต่างกันไปในแต่ละกองทุน ETF
กองทุน ETF คือ สิ่งที่เป็นกึ่งกลางระหว่างกองทุนรวมกับหุ้น เพราะ ETF เทียบได้กับการทำให้กองทุนรวมสามารถซื้อขายได้บนกระดานของตลาดหุ้นและสามารถทราบมูลค่าของกองทุนได้ทันทีแบบ Real Time เหมือนกับหุ้นตัวหนึ่ง ทำให้นักลงทุนที่มีพอร์ตหุ้นสามารถซื้อขาย ETF ได้ทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดอยู่ แทนที่นักลงทุนจะต้องติดต่อตัวแทนที่ขายกองทุนรวมเพื่อซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน
ความได้เปรียบของการลงทุนใน ETF คือความง่ายในการลงทุนจากการที่นักลงทุนไม่ต้องซื้อหุ้นเองรายตัว และกองทุน ETF มีการกระจายความเสี่ยงมาในระดับหนึ่งแล้วจากการที่ ETF ประกอบด้วยหลักทรัพย์มากกว่า 1 หลักทรัพย์ตามลักษณะของกองทุนแต่ละกองทุน
นอกจากนี้ ผู้ลงทุน ETF ยังสามารถทราบมูลค่าของกองทุนได้ทันที (รู้ราคา Real-Time เหมือนหุ้น) ไม่ต้องรอราคา NAV (Net Value Asset) ตอนสิ้นวันเหมือนกับกองทุนเปิดทั่วไป
ราคา ETF อ้างอิงจากอะไร?
ราคา ETF อ้างอิงจากราคาสินทรัพย์ที่กองทุน ETF นั้น ๆ เข้าไปลงทุน ดังนั้นเมื่อสินทรัพย์ที่ ETF อ้างอิงมีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลง มูลค่าของ ETF จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงในทิศทางเดียวกันที่ใกล้เคียงกัน ตัวอย่างเช่น
- ดัชนีหุ้น เช่น SET50 Index
- ทองคำแท่ง (Gold Bar)
- น้ำมันดิบ (Crude Oil)
- ETF ลงทุนในหุ้นตามกลุ่มอุตสาหกรรม (เช่น เทคโนโลยี การเงิน)
- หุ้นต่างประเทศ ที่กองทุนนั้นเข้าไปลงทุน
- ตราสารหนี้ (Bond ETF)
ดังนั้น เมื่อสินทรัพย์ที่ ETF อ้างอิงมีราคาเพิ่มสูงขึ้น มูลค่าของ ETF จึงมักจะเพิ่มขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกัน ในทางตรงกันข้ามถ้าหากสินทรัพย์อ้างอิงมูลค่าลดลงมูลค่าของ ETF ก็จะลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกัน
ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงเป็นแรงผลักดันให้ราคาซื้อขาย ETF ในตลาดที่นักลงทุนเห็นในกระดานซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการซื้อและความต้องการขาย ETF นั้นตามกลไกตลาด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการที่สินทรัพย์ที่ ETF อ้างอิงมีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลง มูลค่าของ ETF จึงเพิ่มขึ้นหรือลดลงในทิศทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
ผลตอบแทนจากการลงทุนใน ETF
อย่างที่บอกว่า ETF เป็นกองทุนรวม (Mutual Fund) แต่ลักษณะการซื้อขายจะเหมือนหุ้น ทำให้ผลตอบแทนของกองทุน ETF จะไม่ต่างจากกองทุนรวม (Mutual Fund) หรือหุ้นสามัญ (Common Stock) โดยผลตอบแทนของการลงทุนใน ETF จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
กำไรจากส่วนต่าง (Capital Gain) – ที่เกิดการซื้อ ETF ในราคาถูกและขายในราคาที่แพงกว่า กำไรจากกรณีนี้เรียกว่า Capital Gain
เงินปันผล (Dividend) – หน่วยลงทุน ETF ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุน จะจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนหากกองทุน ETF นั้นมีกำไร ซึ่งเงินปันผลจะจ่ายกี่ % ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของกองทุนนั้น
เมื่อพูดถึงผลตอบแทนจากการลงทุนอีกสิ่งที่ต้องพูดถึงคือความเสี่ยง (Risk) สำหรับ ETF ความเสี่ยงของ ETF มาจากการที่ ETF แต่ละกองทุนเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงที่แตกต่างกัน ดังนั้นความเสี่ยงของ ETF จะไม่ได้อยู่กับตัว ETF เองเป็นหลัก แต่จะมีความเสี่ยงตามสินทรัพย์ที่กองทุน ETF เข้าไปลงทุน
ข้อมูลอ้างอิงจาก: Vanguard, Blackrock