กองทุน SSF กองทุนรวมที่จะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้แทนกองทุน LTF ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป มาดูกันว่ากองทุน SSF มีอะไรต่างไปจากเดิมบ้าง?
SSF คือ กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ Super Saving Fund เป็นกองทุนรวมรูปแบบใหม่ที่เน้นการออมเงินระยะยาวโดยกองทุน SSF จะสามารถลงทุนได้ในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท และสำหรับผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุน SSF จะสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อหน่วยลงทุนมาเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
กองทุน SSF คือ กองทุนรวมที่เป็นการปรับปรุงเพื่อลบข้อด้อยในเรื่องของความเหลื่อมล้ำในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีระหว่างผู้มีรายได้สูงกับผู้รายได้ต่ำ ที่จากเดิมผู้มีรายได้สูงสามารถซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท ในขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลางหรือต่ำสามารถลดหย่อนภาษีได้เพียง 15% ของเงินได้เท่านั้น
เงื่อนไขของ กองทุน SSF จึงเปลี่ยนเป็นลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้และไม่เกิน 200,000 บาท (รายละเอียดอื่นๆ ในหัวข้อถัดไป)
พูดให้ง่ายกว่านั้น กองทุน SSF คือ กองทุนที่จะมาแทนกองทุน LTF ที่จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ในปีภาษี 2562 เป็นปีสุดท้าย โดยกองทุน SSF หรือ Super Saving Fund คือ เวอร์ชั่นอัพเดทใหญ่ที่มาพร้อมชื่อใหม่และมีการปรับปรุงเงื่อนไขเพื่อมุ่งงเน้นให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยและผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานได้รับประโยชน์ได้มากขึ้น
กองทุน SSF ลดหย่อนภาษี ได้เท่าไหร่
การลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน SSF ของบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
สำหรับปี 2563 (เท่านั้น) สรรพากรให้ SSF ลดหย่อนได้มากขึ้นอีก 2 แสน รวมเป็นสูงสุด 4 แสนบาท
และเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ในปีภาษีนั้นๆ ซึ่งได้แก่ กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และ เบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
นั่นหมายความว่าผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางจะสามารถลดหย่อนภาษีผ่านการซื้อกองทุนได้มากกว่าเดิม 1 เท่า ในขณะที่ผู้ที่มีรายได้สูง ในระดับที่เมื่อก่อนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน 500,000 บาท จะลดหย่อนภาษีได้น้อยลงจาก 500,000 เหลือ 200,000 บาท
เงื่อนไขกองทุน SSF
นอกจาก เพดานค่าลดหย่อนของ ค่าลดหย่อน SSF จะเปลี่ยนไปจาก LTF ในส่วนของเงื่อนไขอื่นๆ ก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ได้แก่
- ต้องถือครองหน่วยลงทุน SSF ได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ (ไม่ได้นับปีปฏิทินเหมืน LTF) ถ้าขายก่อนก็จะต้องคืนเงินส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากการซื้อกองทุน SSF พร้อมเงินเพิ่ม (เหมือน LTF กับ RMF)
- ไม่กำหนดขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน SSF
- ไม่มีเงื่อนไขในการที่จะต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
ทั้งนี้ การซื้อหน่วยลงทุนกองทุน SSF จะใช้ได้ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563 – 2567
ค่าลดหย่อน RMF ยังมีอยู่ไหม
จากการที่ SSF มาแทน LTF ในปีหน้าหลายคนอาจกังวลว่า RMF จะถูกยกเลิกไปด้วยไหม คำตอบคือกองทุน RMF ยังอยู่ แต่มีการปรับปรุงเงื่อนไขเล็กน้อย
โดยการซื้อหน่วยลงทุน RMF สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ (จากเดิม 15%) และไม่มีเงื่อนไขขั้นต่ำในการซื้อ (เดิมขั้นต่ำคือ 3% ของเงินได้หรือ 5,000 บาทต่อปี) แต่เพดานสูงสุดยังคงเป็น 500,000 บาทเหมือนเดิม
เพื่อทำให้ผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยได้รับประโยชน์ได้มากขึ้นเช่นเดียวกับเป้าหมายของ SSF
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าลดหย่อนภาษีของปีนี้ได้ที่บทความ – ค่าลดหย่อนภาษี คืออะไร? และมีอะไรบ้าง?
ที่มาและภาพจาก – แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ธันวาคม 2562 กระทรวงการคลัง