Polycentric คือ แนวคิดในการบริหารบริษัทลูกในต่างประเทศด้วยนโยบายท้องถิ่น โดยจะเลือกใช้รูปแบบการบริหารที่เหมาะสมต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น ทั้งเรื่องการกระจายอำนาจการตัดสินใจ การออกแบบสินค้า ไปจนถึงการเลือกใช้ผู้บริหารของบริษัทลูกในต่างประเทศ
แนวคิดแบบ Polycentric คือแนวคิดที่เชื่อว่าในประเทศที่แตกต่างกันมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน จึงควรจะบริหารด้วยรูปแบบที่เหมาะสมต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น เพราะไม่มีวิธีใดที่จะสามารถใช้ได้กับทุกประเทศทั่วโลกได้ โดยนโยบาย Polycentric ถือเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับ Ethnocentric อย่างสิ้นเชิง และมีแนวคิดคล้ายกับด้าน Particularism ของ Trompenaars
อธิบายให้ง่ายกว่านั้น Polycentric คือกลยุทธ์ที่มองว่า “ใครจะเข้าใจคนพื้นที่ไปมากกว่าคนพื้นที่เอง” จึงทำให้จำเป็นต้องใช้การบริหารและขายสินค้าที่เหมาะสมกับแต่ละวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รูปแบบการบริหารของบริษัทที่มีนโยบาย Polycentric จะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่แนวทางการดำเนินงาน การวิจัยและพัฒนา การทำการตลาด จะยังคงมีความคล้ายคลึงกันหรือเป็นไในลักษณะเดียวกันกับสาขาอื่นทั่วโลก
Polycentric HRM
การบริหารทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทที่มีนโยบายในลักษณะ Polycentric จะหาคนจากประเทศที่บริษัทข้ามชาติเข้าไปเปิดกิจการ (Host Country) มาเป็นผู้บริหารระดับสูงในสาขาดังกล่าว รวมทั้งให้อำนาจการตัดสินใจกับผู้บริหารคนดังกล่าวมากในระดับหนึ่ง
สำหรับข้อได้เปรียบของวิธีการบริหารแบบ Polycentric มีดังนี้
ผู้บริหารเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศตนเองดีอยู่แล้ว ทำให้สามารถแก้ปัญหาที่แตกต่าง (ในแต่ละประเทศ) ได้อย่างถูกจุด เพราะรู้ว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง นอกจากนี้ผู้บริหารคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมายดีอยู่แล้ว จึงทำให้ช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากเรื่องพวกนี้ได้เช่นกัน
ผู้บริหารเป็นคนประเทศเดียวกับพนักงานในประเทศสาขา ทำให้พนักงานในบริษัทลูกมีโอกาสเชื่อฟังมากกว่าผู้บริหารที่ถูกส่งมาจากประเทศแม่
เพิ่มขวัญและกำลังใจให้พนักงานในบริษัทลูก เพราะพนักงานในบริษัทลูกมีโอกาสได้ก้าวขึ้นในตำแหน่งที่สูงเช่นเดียวกับผู้บริหารได้เช่นกัน
ค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการส่งผู้บริหารมาจากประเทศแม่ ทั้งค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมก่อนส่งไป และค่าใช้จ่ายชดเชยและค่าจ้างของผู้บริหารคนดังกล่าวที่ค่อนข้างสูง
แม้ว่าส่วนใหญ่จะใช้ผู้บริหารจากประเทศลูก แต่ในบางครั้งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงก็อาจส่ง Expatriate (Expat) จากประเทศแม่มาเป็นผู้บริหารได้เช่นกัน และใช้ผู้บริหารจากประเทศลูกเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางและระดับล่างเท่านั้น
นอกจากนี้ แม้ว่าวิธีนี้บริษัทลูกจะดูเหมือนมีอำนาจในการตัดสินใจมากพอสมควร แต่ในความเป็นจริงผู้บริหารของบริษัทลูกจะตัดสินใจได้เพียงเรื่องเล็กถึงปานกลางเท่านั้น ส่วนเรื่องใหญ่และเรื่องที่ใช้เงินมากจำเป็นจะต้องผ่านความเห็นชอบจากบริษัทแม่
นอกจากวิธีบริหารที่จะแตกต่างกันแต่ละวัฒนธรรมแล้ว รูปแบบของสินค้าบนแนวคิด Polycentric ก็จะแตกต่างออกไปตามแต่ละวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่เหมือนกันในแต่ละวัฒนธรรม
ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดีย McDonald ไม่สามารถขายเบอร์เกอร์เนื้อวัวได้เพราะชาวอินเดียเชื่อว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์จึงไม่ทายเนื้อวัว อีกทั้งเนื้อหมูก็ไม่สามารถขายได้เช่นกันเพราะประชากรอินเดียจำนวนมากนับถือศาสนาอิสลาม
จากเหตุการณ์ที่ McDonald เผชิญในอินเดีย ทำให้ McDonald จึงต้องคิดค้นเมนูขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเมนูไก่และมังสวิรัติ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวอินเดีย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลยุทธ์ข้ามชาติอื่นๆ