GreedisGoods » Finance » การหักค่าใช้จ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2562

การหักค่าใช้จ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2562

by Kris Piroj
การหักค่าใช้จ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2562 2563 2564 การ หักค่าใช้จ่าย คือ

การหักค่าใช้จ่าย คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้มีรายได้จะสามารถตัดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพออกจากรายได้ (ในทางภาษีเรียกว่าเงินได้) โดยเงื่อนไขของ การหักค่าใช้จ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะถูกกำหนดเอาไว้แตกต่างกันไปตาม ประเภทเงินได้ ที่แบ่งเป็น 8 ประเภท

โดยวิธี การหักค่าใช้จ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง และการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ซึ่งวิธีหักค่าใช้จ่ายทั้ง 2 รูปแบบสามารถถอธิบายแบบคร่าวๆ ได้ดังนี้:

  1. การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ การหักค่าใช้จ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ แบบไม่สนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง (โดยไม่ต้องมีหลักฐาน)
  2. การหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง คือ การหักค่าใช้จ่ายตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง (ต้องมีหลักฐานว่าค่าใช้จ่ายที่นำมาหักเกิดขึ้นจริง)

นอกจากวิธีหักค่าใช้จ่ายทั้ง 2 วิธีข้างต้น ยังมีเงินได้พึงประเมินอีกประเภทที่ต่างออกไปตรงที่จะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งก็คือเงินได้ประเภทที่ 4

อย่างไรก็ตาม หลายคนมักสับสนและเข้าใจผิดระหว่าง การหักค่าใช้จ่าย กับ ค่าลดหย่อน ซึ่งก็ต้องบอกว่า การหักค่าใช้จ่าย คือ คนละส่วนกับค่าลดหย่อน ถ้าหากใครสับสนแนะนำให้อ่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าลดหย่อนได้ที่บทความ – ค่าลดหย่อนภาษี (Allowance)

เงินได้ประเภทที่ 1 กับ 2 

เงินได้ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 จะหักค่าใช้จ่ายร่วมกันถ้าหและจะใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้เท่านั้น โดยจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้ ถ้าหากคุณมีเงินได้ทั้งประเภท 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน แต่หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท

เงินได้ประเภทที่ 1 คือ เงินได้จากการจ้างงานในลักษณะของงานประจำ ตัวอย่างเช่น เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เบี้ยเลี้ยง และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เป็นเงินได้จากการจ้างงาน

เงินได้ประเภทที่ 2 คือ เงินได้จากค่าจ้างทั่วไป เป็นเงินได้จากการจ้างงานเป็นครั้งคราว อย่างเช่น ค่านายหน้า ค่าคอมมิชชั่น ค่าจ้างฟรีแลนซ์ พริตตี้ และพิธีกร

เงินได้ประเภทที่ 3 ม.40(3)

การหักค่าใช้จ่าย เงินได้ประเภทที่ 3 จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบตามจริงและแบบเหมา โดยแบบเหมาจะหักได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

เงินได้ประเภทที่ 3 คือ เงินได้จากค่าความนิยม (Goodwill) และทรัพย์สินทางปัญญา อย่างเช่น ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เฟรนไชน์ และเครื่องหมายการค้า เป็นต้น

เงินได้ประเภทที่ 4 ม.40(4)

เงินได้ประเภทที่ 4 คือ ที่เป็นผลตอบแทนจากการลงทุนทางการเงิน ได้แก่ เงินปันผล ดอกเบี้ย และเงินส่วนแบ่งของกำไรอื่นๆ เป็นเงินได้ประเภทเดียวที่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ไม่ว่าจะหักแบบตามจริงหรือหักแบบเหมา

เงินได้ประเภทที่ 5 ม.40(5)

เงินได้ประเภทที่ 5 คือ รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบตามจริงและหักแบบอัตราเหมา โดยการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจะมีอัตราดังนี้

  1. บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ หักได้ 30%
  2. ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร หักได้ 20%
  3. ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร หักได้ 15%
  4. ยานพาหนะ หักได้ 30%
  5. ทรัพย์สินอื่น หักได้ 10%

เงินได้ประเภทที่ 6 ม.40(6)

เงินได้ประเภทที่ 6 คือ เงินได้ที่ได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ วิชาชีพเกี่ยวกับกฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม และการประกอบโรคศิลปะ การหักค่าใช้จ่าย ของเงินได้ประเภทที่ 6 สามารถหักได้ทั้งตามจริงและแบบเหมา

ในกรณีที่หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา จะมีอัตราเหมา ดังนี้

  1. ประกอบโรคศิลปะ 60%
  2. กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม 30%

เงินได้ประเภทที่ 7 ม.40(7)

เงินได้ประเภทที่ 7 คือ เงินได้จากงานรับเหมา ที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระนอกจากเครื่องมือ เช่น งานรับเหมาก่อสร้าง โดยจะสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบตามจริงและอัตราเหมา 60%

เงินได้ประเภทที่ 8 ม.40(8)

เงินได้ที่ไม่เข้าข่ายเงินได้ประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 จะถูกจัดไว้ในเงินได้ประเภทที่ 8 อย่างเช่น เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

เงินได้ประเภทที่ 8 จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันตามประเภทเงินได้ มีทั้งการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา (40% และ 60%) และหักค่าใช้จ่ายตามจริง

โดยสามารถอ่านอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาของเงินได้ 43 รายการได้จาก พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกําหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ๖๒๙) พ.ศ. ๒๕๖๐

อ่านเพิ่มเติมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินแบบละเอียดได้ที่บทความ – เงินได้พึงประเมิน คืออะไร? เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภทมีอะไรบ้าง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด