กำไรสะสม คืออะไร?
กำไรสะสม คือ ผลรวมของกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของธุรกิจในแต่ละปีนับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งหลังจากหักเงินปันผลหรือผลตอบแทนอื่นที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้น โดยกำไรสะสม (Retained Earnings) เก็บเอาไว้เป็นทุนสำรองของบริษัทตามที่กฎหมายและใช้เป็นเงินลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต
กำไรสะสมของบริษัทอาจมาจากการเก็บกำไรจากการดำเนินธุรกิจทั้งหมดหรือบางส่วน (หลังจากจ่ายเงินปันผล) เอาไว้ก็ได้ ทำให้กำไรสะสม (Retained Earnings) ในอีกความหมายถึงหนึ่ง คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นที่เกินมาจากส่วนของเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของผู้ถือหุ้น) ที่ได้ลงทุนในกิจการ และในทางกลับกันขาดทุนสะสม (Retained Losses) คือส่วนของผู้ถือหุ้นที่ขาดไป (ติดลบ) จากส่วนของเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นได้ลงทุน
ตัวอย่างเช่น ในปีแรกที่บริษัทก่อตั้งมีกำไร 1 ล้านบาท ปีที่ 2 ขาดทุน 6 ล้านบาท และปีที่ 3 กำไร 8 ล้านบาท กำไรสะสมของบริษัทดังกล่าว ณ วันสิ้นงวดในปีที่ 3 จะเท่ากับ 1 – 6 + 8 = 3 ล้านบาท
รายการบัญชีกำไรสะสม จะแสดงอยู่ในงบแสดงฐานะการเงิน (Financial Statement) ในส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้น (Owner’s Equity) ซึ่งจะพบได้ในรายการกำไรสะสม (หรือขาดทุนสะสม) ที่จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทมี กำไรสะสม หรือ ขาดทุนสะสม อยู่เท่าไหร่ในขณะนั้น
กล่าวคือ กำไรสะสม (Retained Earnings) เป็นกำไร/ขาดทุนของกิจการที่สะสมทบมาเรื่อย ๆ จากผลการดำเนินงานในแต่ละปีตามผลกำไรหรือขาดทุนในแต่ละปีและออกมาเป็นบวก ในทางกลับกันหากผลรวมดังกล่าวติดลบจะเรียกว่า ขาดทุนสะสม (Retained Earnings) ในขณะที่กำไรสะสมจะต่างจากกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิที่เป็นกำไร/ขาดทุนในปีนั้นเพียงปีเดียว
กำไรสะสมและการจ่ายเงินปันผล
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีแม้ว่าบริษัทมีกำไรก็อาจจะยังไม่สามารถจ่ายเงินผล (Dividend) ได้ในทันที เนื่องจากมีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทต้องตั้งสำรองไว้ 5% ของกำไรสุทธิ จนกว่าบริษัทจะมีกำไรสะสมเท่ากับ 10% ของทุนจดทะเบียนจึงจะสามารถเริ่มจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ ทำให้ในการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นยังเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกำไรสะสมอย่างเลี่ยงไม่ได้
โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกับการจ่ายปันผลที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินปันผล ได้แก่
มาตรา 1201 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนหนึ่งระบุว่า ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ถ้าหากบริษัทขาดทุนห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจนกว่าจะได้แก้ไขให้หายขาดทุนเช่นนั้น
มาตรา 1202 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนหนึ่งระบุว่า ทุกคราวที่แจกเงินปันผล บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุนสำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบส่วนของจำนวนผลกำไรซึ่งบริษัททำมาหาได้จากกิจการของบริษัท จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสิบของจำนวนทุนของบริษัทหรือมากกว่านั้น แล้วแต่จะได้ตกลงกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท
พระราชบัญญัติมหาชน มาตรา 115 ส่วนหนึ่งระบุว่า การจ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไรจะกระทำมิได้ ในกรณีที่บริษัทยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผล
พระราชบัญญัติมหาชน มาตรา 116 ระบุว่า บริษัทต้องจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิประจำปี หักด้วยยอดเงินขาดทุนสะสมยกมา (ถ้ามี) จนกว่าทุนสำรองนี้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของทุนจดทะเบียน เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้ต้องมีทุนสำรองมากกว่านั้น
กำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรร คืออะไร?
กำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรร คือ ส่วนที่เหลือมาจากการที่กฎหมายที่กำหนดให้บริษัทต้องตั้งสำรองไว้ 5% ของกำไรสุทธิ จนกว่าบริษัทจะมีกำไรสะสมเท่ากับ 10% ของทุนจดทะเบียนจึงจะสามารถเริ่มจ่ายเงินปันผล (Dividend) ให้ผู้ถือหุ้นได้ กำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรรจึงเป็นกำไรสะสมในส่วนที่บริษัทสามารถนำไปลงทุนได้ตามต้องการ
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่กำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรร สามารถทำได้นอกจากการนำเงินไปลงทุนก็คือสามารถนำมาใช้จ่ายเงินปันผล (Dividend) ได้ในอนาคต (ถ้าหากว่าบริษัทต้องการจ่าย)
ในทางกลับกัน กำไรสะสมที่จัดสรรแล้ว คือ กำไรสะสมที่กันเอาไว้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ อย่างเช่น การกันสำรองเอาไว้ตามที่กฎหมายกำหนด (ที่ได้อธิบายอยู่ในหัวข้อก่อนหน้า) และการจัดสรรกำไรสะสมตามข้อผูกพันธ์ที่ได้ให้ไว้ อย่างเช่น การจัดสรรไว้เพื่อการไถ่ถอนหุ้นกู้ หรือการใช้เป็นหลักประกันในการกู้ เป็นต้น

กำไรสะสมอาจไม่อยู่ในรูปของเงินสด
กำไรสะสม (Retained Earnings) เป็นการกันกำไรเอาไว ทำให้เป็นสิ่งที่ดูเหมือนการที่ธุรกิจถือเงินสดสะสมเอาไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้วกำไรสะสมอาจจะอยู่ในรูปของเงินสดหรือไม่ก็ได้ เพราะกำไรสะสมคือกำไรส่วนที่กันเอาไว้สำหรับลงทุนในอนาคต ทำให้ระหว่างปีกำไรสะสมอาจแปลงสภาพจากเงินไปอยู่ในรูปของสินทรัพย์อะไรก็ได้ที่บริษัทได้นำเงินไปลงทุนไปแล้ว
ตัวอย่างเช่น การนำกำไรสะสมไปลงทุนซื้อที่ดิน เครื่องจักร อาคารสำนักงาน โรงงาน เครื่องใช้สำนักงาน การจ้างงานเพิ่ม และการลงทุนขยับขยายกิจการอื่น ๆ
นอกจากนี้ ในกรณีของบริษัทจดทะเบียนมีกำไรสะสมแต่ไม่นำไปจ่ายเงินปันผล บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นก็อาจจะนำกำไรสะสมไปใช้ในการซื้อหุ้นคืน (Stock Repurchase) และได้หุ้นซื้อคืน (Treasury Stock) กลับมา
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่กำไรสะสมของธุรกิจจะไม่อยู่ในรูปของเงินสด (Cash) เนื่องจากธุรกิจนำกำไรสะสมดังกล่าวไปใช้ในการทำธุรกรรมอะไรก็ตาม
ขาดทุนสะสม คืออะไร?
ขาดทุนสะสม (Retained Loss) คือ กรณีที่บริษัทขาดทุนหรือขาดทุนต่อเนื่องจนทำให้ผลรวมของกำไรสะสมติดลบ ดังนั้นแล้วตัวเลขของผลขาดทุนสะสมของบริษัทก็จะมาจากผลขาดทุนของธุรกิจที่ทบกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะลงบัญชีไว้ในส่วนเดียวกับเมื่อตอนที่เป็นกำไรสะสม
ตัวอย่างเช่น บริษัท Good Property ขาดทุน 200,000 บาทในปี 2560 และขาดทุน 100,000 บาทในปี 2561 ดังนั้นบริษัทจะมีผลขาดทุนสะสมทั้งสิ้น 300,000 บาท
และสมมติต่อว่า บริษัท Good Property กลับมามีกำไรใรปี 2562 โดยมีกำไร 250,000 บาท กำไรที่ บริษัท Good Property ได้ก็จะต้องนำไปหักผลขาดทุนสะสมที่มีอยู่ออกก่อน เพื่อชดเชยผลขาดทุนในช่วงที่ผ่านมา (หักผลขาดทุนให้หมดก่อนจึงจะเริ่มจ่ายเงินปันผลได้)
ดังนั้น ในปี 2562 บริษัท Good Property จะมีผลขาดทุนสะสมทั้งสิ้น 50,000 บาท แม้ว่าในปีงบประมาณดังกล่าวจะกลับมามีกำไรแล้วก็ตาม