ความยืดหยุ่นของอุปทาน คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการขายสินค้า (Supply) เมื่อเทียบกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า (Price) โดย Elasticity of Supply หรือ ความยืดหยุ่นของอุปทาน จะแสดงให้เห็นว่า ถ้าหากราคาสินค้าเปลี่ยนไป 1% ระดับปริมาณความต้องการขายสินค้านั้นจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่
ถ้าหากใครเข้าใจเรื่องความยืดหยุ่นของอุปสงค์อยู่แล้ว สำหรับความยืดหยุ่นของอุปทาน (Elasticity of Supply) ก็จะคล้ายกัน เพียงแต่เป็นเรื่องของ อุปทาน หรือ Supply แทน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะบอกว่า ความยืดหยุ่นของอุปทาน (Elasticity of Supply) จะหลักการคล้ายกับ ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ (Elasticity of Demand) แต่ความยืดหยุ่นของอุปทานจะมีเพียงรูปแบบเดียว ไม่ได้มีหลายปัจจัยเหมือนกับกรณีของความยืดหยุ่นของอุปสงค์
ความยืดหยุ่นของอุปทาน (Elasticity of Supply) แบบเดียวที่ว่าก็คือ ความยืดหยุ่นของอุปทานต่อราคา หรือ Price Elasticity of Supply
โดยทั่วไปแล้ว ความยืดหยุ่นของอุปทาน จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับราคา เมื่อราคาเพิ่มขึ้น (Price เพิ่ม) ความต้องการขายสินค้า (Supply) ก็จะเพิ่มตาม ในทางกลับกันเมื่อราคาลดลงความต้องการขายก็จะลดลงเช่นกัน ตามกราฟด้านล่าง

คำนวณความยืดหยุ่นของอุปทาน
สามารถคำนวณ ความยืดหยุ่นของอุปทานต่อราคา (Price Elasticity of Supply : PES) ได้จาก:
ความยืดหยุ่นของอุปทานต่อราคา หรือ Es = เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของความต้องการขาย ÷ เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า
การเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการขาย = ความต้องการขายเก่า – ความต้องการขายเก่า
การเปลี่ยนแปลงของราคา = ราคาใหม่ – ราคาเก่า
ตัวอย่างเช่น สินค้า B ราคา 5 บาท มีปริมาณความต้องการขาย 100 หน่วย เมื่อราคาสูงขึ้นเป็น 7 บาท ปริมาณความต้องการขายเพิ่มขึ้นเป็น 130 หน่วย
จากตัวอย่างด้านบนจะเห็นว่า:
- เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการขาย เปลี่ยนไป 30 หน่วย คือ 30% (30 ÷ 100 x 100)
- เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของราคา เปลี่ยนไป 2 บาท คือ 40% (2 ÷ 5 x 100)
ถ้าหากงงเกี่ยวกับเปอร์เซ็นต์หรือร้อยละ แวะไปอ่านวิธีหาเปอร์เซ็นต์ได้ที่บทความ วิธีคิดเปอร์เซ็นต์ ง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้
ดังนั้น ความยืดหยุ่นของอุปทานต่อราคา หรือ Es = 30 ÷ 40
ความยืดหยุ่นของอุปทานต่อราคา หรือ Es = 0.75%
สรุป ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา คือ 0.75% อธิบายได้ว่า ถ้าหากราคาของสินค้า B (Price) เพิ่มขึ้น 1% ความต้องการขายสินค้า B จะเพิ่มขึ้น 0.75%
ประเภทของความยืดหยุ่นต่ออุปทาน
เมื่อคำนวณความยืดหยุ่นของอุปทาน ด้วยวิธีด้านบนสามารถแปลผลค่าที่ได้ออกมาเป็น 4 กรณี
- อุปทานที่ไม่มีความยืดหยุ่น (Perfectly Inelastic Supply) Es = 0
- อุปทานที่มีความยืดหยุ่นน้อย (Inelastic Elastic Supply) 0 < Es < 1
- อุปทานที่มีความยืดหยุ่นมาก (Elastic Supply) 1 < Es < ∞
- อุปทานที่มีความยืดหยุ่นคงที่ (Unitary Elastic Supply) Es = 1
อุปทานที่ไม่มีความยืดหยุ่น (Perfectly Inelastic Supply)
ค่า Es = 0 จะเรียกว่า Perfectly Inelastic Supply หรือ อุปทานที่ไม่มีความยืดหยุ่น คือ การที่ระดับความต้องการขาย (Supply) ไม่เปลี่ยนตามราคา
ไม่ว่าราคาจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง ปริมาณความต้องการขายก็จะไม่เปลี่ยนไป
ในกรณีนี้มักจะเป็นสินค้าที่มีอยู่อย่างจำกัดหรือไม่สามารถหาเพิ่มได้แล้ว เช่น วัตถุโบราณ จำนวนห้องโรงแรม จำนวนที่นั่งของแต่ละเที่ยวบิน เป็นต้น
อุปทานที่มีความยืดหยุ่นน้อย (Inelastic Elastic Supply)
คำตอบที่ได้คือ 0 < Es < 1 หรือค่า Es อยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 จะเรียกว่า Inelastic Elastic Supply หรือ อุปทานที่มีความยืดหยุ่นน้อย คือ การที่เมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนไป 1% แต่ความต้องการขายสินค้าเปลี่ยนไปไม่ถึง 1%
เป็นสินค้าที่เกือบจะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของสินค้า โดยส่วนมากจะเป็นสินค้าที่ผลิตได้ครั้งละน้อย ๆ หรือผลิตได้ยาก
อุปทานที่มีความยืดหยุ่นมาก (Elastic Supply)
ค่า Es ที่ได้มากกว่า 1 เรียกว่า Elastic Supply หรือ อุปทานที่มีความยืดหยุ่นมาก คือ สินค้าประเภทที่ถ้าหากราคาเปลี่ยนแปลงเพียงแค่เล็กน้อย ก็จะส่งผลอย่างมากต่อความต้องการขายสินค้า (Supply)
โดยส่วนใหญ่สินค้าประเภทนี้มักจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ใคร ๆ ก็ผลิตได้ สามารถผลิตได้
อุปทานที่มีความยืดหยุ่นคงที่ (Unitary Elastic Supply)
ค่า Es = 1 เรียกว่า Unitary Elastic Supply หรือ อุปทานที่มีความยืดหยุ่นคงที่ คือ การที่เมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไป 1% ความต้องการขายก็จะเปลี่ยนแปลง 1% เช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงของความต้องการขายและราคาจะเปลี่ยนแปลงเท่ากันเสมอ