Goodwill คืออะไร?
Goodwill คือ ค่าความนิยม เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนรูปแบบหนึ่งที่ทำให้กิจการโดดเด่นและสามารถความได้เปรียบในการแข่งขันหรือจุดขายที่แบรนด์อื่นในธุรกิจเดียวกันไม่มี โดยค่า Goodwill หรือ ค่าความนิยม คือสิ่งที่ช่วยให้ธุรกิจที่ขายสินทรัพย์ที่จับต้องได้เหมือนกันมีมูลค่าต่างกัน
โดยทั่วไป Goodwill (ค่าความนิยม) จะพบได้บ่อยในรูปแบบของชื่อเสียงของแบรนด์ ความนิยมของแบรนด์ ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ มูลค่าตราสินค้า และความสัมพันธ์กับลูกค้า กล่าวคือ Goodwill เป็นสิ่งที่เกิดจากชื่อเสียงที่สะสมมานานของกิจการนั่นเอง
นอกจากนี้ ค่า Goodwill ในกรณีของตัวบุคคลจะเป็นเรื่องของชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และความนิยมในตัวบุคคล ซึ่งในกรณีที่บริษัทมีบุคคลในลักษณะดังกล่าวอยู่และสูญเสียไปก็ทำให้ค่า Goodwill ลดลงได้เช่นกัน อย่างเช่น Steve Jobs ของ Apple
ทั้งนี้ ด้วยความที่ค่า Goodwill คือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) ทำให้ Goodwill เป็นสินทรัพย์ที่จะไม่ได้บันทึกเอาไว้ในบัญชีตามปกติ แต่จะแสดงขึ้นมาเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดการรวมกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการ Merger หรือ Acquisition ก็ตาม
โดยบริษัทที่ทำการรวมกิจการหรือซื้อกิจการจะบันทึกบัญชีค่าความนิยม (Goodwill) ของบริษัทที่ซื้อมาในลักษณะของค่าตัดจำหน่าย (Amortization) ในแต่ละงวดไปเป็นค่าใช้จ่ายจนกว่าจะครบจำนวน
ค่าความนิยม (Goodwill) คำนวณจากอะไร?
มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 3 เรื่องการรวมธุรกิจของสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมป์ ได้ให้ความหมายของ Goodwill หรือ ค่าความนิยม เอาไว้ว่า “สินทรัพย์ที่แสดงถึงผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่จะได้รับจากสินทรัพย์อื่นที่ได้มาจากการรวมธุรกิจ ซึ่งไม่สามารถระบุและรับรู้เป็นรายได้ แยกออกมาให้ชัดเจนได้”
กล่าวคือ ค่าความนิยม หรือ Goodwill คือ สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) ที่ไม่มีการบันทึกบัญชีเอาไว้ตามปกติ แต่เมื่อเกิดการรวมกิจการหรือซื้อกิจการค่า Goodwill จะปรากฎขึ้นมา เพราะแม้ว่ากิจการ A กับ B จะมีทรัพย์สินอยู่เท่ากัน แต่ในความเป็นจริงแล้วทั้ง 2 กิจการมีค่าความนิยมที่แตกต่างกันได้
โดยวิธีคำนวณหาค่า Goodwill สามารถทำได้ด้วยการนำราคาที่จ่ายซื้อกิจการ (Purchase Price) ลบออกด้วยราคาปกติ (Fair Price) หรือราคาตลาด (Market Price) ของกิจการที่ได้เข้าซื้อ
Goodwill = Purchase Price – Fair Price
หรือ
ค่าความนิยม = ราคาที่ซื้อ – ราคาปกติ
ทั้งนี้ เมื่อคำนวณออกมายังสามารถพบว่า ค่าความนิยมติดลบ (Negative Goodwill) ได้ด้วย ในกรณีที่ราคาที่จ่ายซื้อไปต่ำกว่าราคา Fair Price ที่เป็นราคาตลาด
ตัวอย่างค่า Goodwill ของบริษัท
สมมติว่า บริษัท GIGS ซื้อบริษัทน้ำอัดลมชื่อบริษัท AAA ซึ่งเป็นบริษัทน้ำอัดลมเจ้าแรกที่คนคุ้นเคยในระดับที่เรียกน้ำอัดลมยี่ห้ออื่นว่า AAA เสียด้วยซ้ำ โดยซื้อมาในมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ถ้าเลือกที่จะซื้อบริษัทน้ำอัดลมบริษัทอื่น บริษัท GIGS จะใช้เงินซื้อบริษัทเหล่านั้นที่ราคาประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่ง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี้เอง คือ ราคาตลาด (Fair Price) ของบริษัทน้ำอัดลมที่ไม่มีความโดดเด่นโดยทั่วไป
ดังนั้น เมื่อแทนตัวเลขลงไปในสมการจะได้เป็น Goodwill = 9,000 – 1,000 = 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จะเห็นว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คือค่า Goodwill หรือ ค่าความนิยม ในแบรนด์ AAA นั่นเอง หรือในอีกความหมายหนึ่ง คือ ค่าความโดนเด่นของบริษัท AAA เมื่อเทียบกับบริษัทน้ำอัดลมทั่วไปที่ควรจะมีค่าแค่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ หลายคนอาจเคยเห็นคำว่า ค่าแห่งกู๊ดวิล ซึ่งคำว่า ค่าแห่งกู๊ดวิล ก็คือค่า Goodwill หรือ ค่าความนิยม ที่เราพูดถึงในบทความนี้