ค่าเสื่อมราคาสะสม คืออะไร?
ค่าเสื่อมราคาสะสม คือ รายการบัญชีที่อยู่ในหมวดสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน โดยค่าเสื่อมราคาสะสม (Accumulated Depreciation) จะแสดงตัวเลขสะสมของค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นจากสินทรัพย์ถาวรที่ไม่ใช่ที่ดิน เพื่อปรับมูลค่าสินทรัพย์ถาวรที่อยู่ในบัญชีให้ตรงกับความเป็นจริง
เนื่องจาก ค่าเสื่อมราคา (Depreciation Expense) เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีที่เกิดขึ้นจากการทยอยตัดค่าใช้จ่ายออกจากมูลค่าของสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets) แทนที่จะนำรายจ่ายในการซื้อสินทรัพย์ถาวรดังกล่าวทั้งจำนวนมาลงบัญชีครั้งเดียวในปีที่ซื้อ
ทำให้บริษัทที่ซื้อสินทรัพย์ถาวรจะต้องมีการลงบัญชีในส่วนของค่าเสื่อมราคาสะสม (Accumulated Depreciation) ทุกปีไปจนกว่าสินทรัพย์ถาวรจะเหลือเพียงมูลค่าซากในปีสุดท้ายของอายุการใช้งาน
สินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets) ที่ทำให้เกิดค่าเสื่อมราคาสะสมที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ค่าเสื่อมราคาอาคาร โรงงาน และสำนักงาน
- ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร
- ค่าเสื่อมราคาของยานพาหนะ
- ค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์สำนักงาน
ดังนั้น ค่าเสื่อมราคาสะสม จึงจะแสดงอยู่ในหมวดสินทรัพย์ (Assets) ในงบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Financial Position)
วิธีคิดค่าเสื่อมราคาสะสม
วิธีคิดค่าเสื่อมราคาสะสม คือ การนำค่าเสื่อมราคาปีปัจจุบันไปรวมกับค่าเสื่อมราคาสะสมของรอบปีบัญชีที่แล้ว หรือในอีกความหมายหนึ่งรายการบัญชีค่าเสื่อมราคาสะสมจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีค่าเสื่อมราคา (Depreciation Expense) เกิดขึ้น
กล่าวคือ ค่าเสื่อมราคาสะสมจะเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะค่าเสื่อมราคาจะคิดทุกปีไปเรื่อย ๆ จนกว่าสินทรัพย์ถาวรดังกล่าวจะเหลือเพียงมูลค่าซาก ในปีสุดท้ายของอายุการใช้งาน
ตัวอย่างเช่น เครื่องจักรมูลค่า 1 ล้านบาท อายุการใช้งาน 5 ปี และมีมูลค่าซาก 120,000 บาท ถ้าหากคิดค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรง (Straight-line Depreciation Method) จะมีค่าเสื่อมราคาปีละ 176,000 บาท
ดังนั้น ค่าเสื่อมราคาสะสมในแต่ละปีของเครื่องจักรในตัวอย่าง จะเป็นดังนี้:
- สิ้นปีที่ 1 ค่าเสื่อมราคา 176,000 บาท
- สิ้นปีที่ 2 ค่าเสื่อมราคาสะสม 352,000 บาท
- สิ้นปีที่ 3 ค่าเสื่อมราคาสะสม 528,000 บาท
- สิ้นปีที่ 4 ค่าเสื่อมราคาสะสม 704,000 บาท
- สิ้นปีที่ 5 ค่าเสื่อมราคาสะสม 880,000 บาท (อีก 120,000 บาทคือมูลค่าซาก)
ค่าเสื่อมราคาสะสม บันทึกบัญชี
ค่าเสื่อมราคาสะสม (Accumulated Depreciation) บันทึกบัญชี โดยแสดงยอดด้านเครดิต (Credit) และนำไปหักออกจากสินทรัพย์ประเภทนั้น เพื่อแสดงราคาตามบัญชี (Book Value) ที่ลดลงทุกปีจนกว่าจะเหลือเท่ามูลค่าซาก (ตามที่ได้อธิบายในหัวข้อก่อนหน้า)
ค่าเสื่อมราคาสะสม บันทึกบัญชี ได้ดังนี้
- Debit ค่าเสื่อมราคา (ชื่อสินทรัพย์ถาวร) xxxx
- Credit ค่าเสื่อมราคาสะสม (ชื่อสินทรัพย์ถาวร) xxxx
ตัวอย่าง การบันทึกบัญชีค่าเสื่อมราคาสะสม
- Debit ค่าเสื่อมราคา (อาคาร) 250,000
- Credit ค่าเสื่อมราคาสะสม (อาคาร) 250,000