Treasury Stock หรือ การซื้อหุ้นคืน คืออะไร? มาดูกันว่าทำไมบริษัทจึงต้อง ซื้อหุ้นคืน หลังจากที่บริษัทขายหุ้นให้กับ นักลงทุน
การซื้อหุ้นคืน คือ การที่บริษัทซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุน โดยจะมีเหตุผลมาจากหลายสาเหตุ แต่เหตุผลที่บริษัท ซื้อหุ้นคืน จากนักลงทุนโดยพื้นฐานจะมีอยู่เพียง 3 เหตุผล ได้แก่
- เพื่อการลดเงินสด
- เพื่อลดจำนวนหุ้นในตลาด
- เพื่อลดจำนวนผู้เกี่ยวข้องลง
อย่างไรก็ตาม แนะนำให้หาข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าจริง ๆ แล้วทำไมบริษัทนั้นถึงซื้อหุ้นคืน และการซื้อหุ้นคืนเกิดขึ้นจากเหตุผลที่ประกาศออกมาจริงๆ หรือไม่
ลดเงินสดในมือ
เป็นกรณีที่บริษัทมีเงินสดเหลือมากเกินไป เรียกได้ว่าทุนเหลือ ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร (หรือไม่สามารถทำได้)
ลดจำนวนหุ้นในตลาด
เป็นการซื้อหุ้นคืนเพื่อลดอุปทาน (Supply) ของหุ้นในตลาดลง ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นจากการที่ Supply ลดลงในขณะที่ Demand เท่าเดิม (หรืออาจจะมากกว่าเดิม)
โดยส่วนมากการซื้อหุ้นคืนในลักษณะนี้ บริษัทจะซื้อหุ้นคืนในช่วงที่รู้สึกว่าราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ลดจำนวนผู้เกี่ยวข้อง
คำว่าผู้เกี่ยวข้องในกรณีนี้ อาจเรียกได้ว่า คนนอก หรือ นักลงทุนทั่วไปนั่นเอง มีจุดประสงค์เพื่อทำให้เสียงของคนนอกเข้ามามีบทบาทกับบริษัทน้อยลง
หรืออย่างในกรณีของ Elon Musk ที่หลายๆคนมองว่าการซื้อหุ้นคืนทั้งหมดของ Elon Musk ทำไปเพื่อช่วยให้ Elon Musk มีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น (ไม่ต้องแคร์ผู้ถือหุ้นอีกต่อไป) ก่อนที่จะมาเฉลยว่าเป็นมุกตลกของ Elon Musk (ที่ SEC ไม่ขำด้วย)
ผลจากการซื้อหุ้นคืน
ผลที่ตามมาจากการซื้อหุ้นคืน นอกจากเหตุผลตามจุดประสงค์ของบริษัทในการซื้อหุ้นคืนแล้ว จะยังส่งผลกระทบไปถึง 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่
เงินปันผลเพิ่มขึ้น
เพราะจำนวนผู้ถือหุ้นที่เป็นตัวหารแบ่งกำไรลดลง
ตัวอย่างเช่น บริษัท Tesla กำไร 100 บาท เดิมมีหุ้น 100 หุ้น เงินปันผล (Dividend) จะเท่ากับหุ้นละ 1 บาท แต่เมื่อบริษัทซื้อหุ้นคืน 50 หุ้น ทำให้ตอนนี้เหลือเพียง 50 หุ้น
ดังนั้น เงินปันผลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาทต่อหุ้นแทน
ราคาหุ้น (อาจจะ) สูงขึ้น
ด้วยการที่ Supply หรือปริมาณหุ้นลดลง ในขณะที่ความต้องการเท่าเดิม อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ ขึ้นอยู่กับมุมมองจากนักลงทุนในตลาดล้วนๆ
ROE เพิ่ม
เนื่องจากตัวหารของ ROE ลดลง เพราะ ROE = กำไรสุทธิ ÷ ส่วนของผู้ถือหุ้น
ดังนั้น การที่ตัวหารน้อยลง ผลหารหรือค่า ROE ก็จะมากขึ้นตาม
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ROE ได้ที่ บทความ ROE คืออะไร? บอกอะไรบ้าง