GreedisGoods » Economics » ดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร? อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีไว้ทำไม

ดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร? อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีไว้ทำไม

by Kris Piroj
ดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย Policy Rate ธนาคารกลาง

ดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง (Central Bank) ในแต่ละประเทศที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือกำกับดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการกระตุ้นการลงทุนด้วยการอัตราลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

หน้าที่ของดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) คือ ใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารพานิชย์และธนาคารกลาง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายถูกใช้เป็นดอกเบี้ยอ้างอิงของดอกเบี้ยอื่นๆ เนื่องจาก ดอกเบี้ยนโยบาย คือ ต้นทุนทางการเงินของธนาคาร

พูดให้ง่ายกว่านั้น Policy Rate หรือ ดอกเบี้ยนโยบาย คือ ดอกเบี้ยที่เป็นดอกเบี้ยขั้นต่ำของประเทศนั้นๆ และจากการที่ดอกเบี้ยนโยบายเป็นดอกเบี้ยขั้นต่ำทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกนำไปใช้ในการอ้างอิงกับดอกเบี้ยอื่น

จะเห็นว่า ดอกเบี้ยนโยบาย คือ เรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เพราะต้นทุนของเงินที่ธนาคารให้กู้ยืม ไม่ว่าจะเป็น เงินกู้บ้าน เงินกู้รถยนต์ ทั้งหมดมีพื้นฐานมาจาก อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ทั้งสิ้น และถ้าสังเกตจะพบว่าดอกเบี้ยที่ได้เมื่อเรานำเงินไปฝากธนาคารพาณิชย์ และดอกเบี้ยเมื่อกู้เงินจากธนาคารจะสูงกว่าหรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ของแต่ละประเทศคือธนาคารกลาง (Central Bank) ของแต่ละประเทศ โดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นในการประชุมธนาคารกลางตามตารางที่กำหนดเอาไว้ในแต่ละปี


ดอกเบี้ยนโยบาย ใครกำหนด

ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ของแต่ละประเทศจะถูกกำหนดโดยธนาคารกลาง (Central Bank) ของแต่ละประเทศ โดยการปรับ เพิ่ม คงที่ หรือ ลด ดอกเบี้ยนโยบาย จะเกิดขึ้นในการประชุมของธนาคารกลางในแต่ละไตรมาส โดยการปรับ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของธนาคารกลาง (Central Bank) จะแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

  • การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สำหรับ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย จะมีผู้ดูแลคือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งอยู่ในสังกัด ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) หรือที่เรียกกันว่า แบงค์ชาติ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเกี่ยวกับหน้าที่ของธนาคารกลางหรือแบงค์ชาติที่เป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) แบบละเอียดได้ที่บทความ ธนาคารกลาง คืออะไร

เพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย มีผลอย่างไร

เพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น ที่เป็นผลมาจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องและการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภค (เนื่องจากมีงานและมีเงินที่จะจ่าย) ทำให้เศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาขึ้นเป็นช่วงที่เรียกได้ว่าทำอะไรก็ได้กำไร (โอกาสขาดทุนต่ำ)

ปัญหาของเศรษฐกิจขาขึ้นแบบนี้คือ การที่คนมองว่าทำอะไรก็รุ่งจนเกิดการลงทุนจนมีจำนวนมากเกินความต้องการซื้อ เหมือนเปิดร้าน 100 ร้านโดยมีลูกค้าแค่ 20 คน แน่นอนว่าจบที่ไม่มีใครซื้อและธุรกิจต้องปิดตัวลง

การเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย ของธนาคารกลางจะเป็นการทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น มีเป้าหมายในการทำให้บริษัทขยายกิจการได้ช้าลง จากการที่บริษัทกู้เงินมาลงทุนน้อยลง จากการที่ต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้นเพื่อชะลอการกู้เงินไปลงทุน (ในยุคที่คนมองว่าทำอะไรก็กำไร) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ได้ในที่สุด

ลดดอกเบี้ยนโยบาย มีผลอย่างไร

ลดดอกเบี้ยนโยบาย คือ นโยบายทางการเงินที่จะใช้เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงซบเซาที่คนไม่ค่อยใช้เงิน (เนื่องจากไม่มีเงิน) และธุรกิจไม่กล้าลงทุนจากการที่คนไม่ค่อยอยากจับจ่ายใช้สอย (ไม่มีคนซื้อ) ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังซบเซา

การลดดอกเบี้ยนโยบายยังทำให้หลักทรัพย์ที่ผลตอบแทนอ้างอิงกับดอกเบี้ยนโยบาย อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ เงินฝาก และตราสารหนี้ได้รับผลตอบแทนน้อยลง ทำให้นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนเท่าเดิมต้องย้ายไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นที่ความเสี่ยงสูงกว่าแทนที่จะเก็บเงินเอาไว้เฉยๆ อย่างการ ฝากธนาคาร หรือลงทุนในพันบัตรระยะยาว แล้วได้เงินน้อยลง

การลดดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ต้นทุนในการกู้เงินมาลงทุนและการกู้เงินมาจับจ่ายใช้สอยต่ำลง เรียกได้ว่าการ ลดดอกเบี้ยนโยบาย คือ การกระตุ้นให้คนกล้าลงทุนและกล้าใช้เงินมากขึ้น เมื่อเกิดการใช้เงินที่มากขึ้นก็จะทำให้เศรษฐกิจที่ซบเซามีเงินเข้ามาหมุนเวียนมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยนนโยบายที่ลดลงจะลดแรงจูงใจของคนทั่วไปในการออมเงิน และอาจทำให้นำเงินเหล่านั้นมาจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่การลดดอกเบี้ยนโยบายส่งผลคือ การกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และในทางตรงกันข้ามถ้าเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะมีแนวโน้มชะลอลงตามที่ได้อธิบายในหัวข้อก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายยังทำให้หลักทรัพย์ที่ผลตอบแทนอ้างอิงกับดอกเบี้ยนโยบาย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ เงินฝาก และตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนลดลงด้วย ส่งผลให้นักลงทุนเกิดพฤติกรรม Search for Yield ย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ความเสี่ยงสูงกว่าเพื่อหาผลตอบแทนชดเชยส่วนที่ลดลง

คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

การคงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ การไม่เพิ่มและไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) เป็นการจัดการ ดอกเบี้ยนโยบาย ที่พบได้บ่อยกว่าการ ลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือ เพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย

สำหรับการ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เอาไว้เท่าเดิมมาจากการที่สภาพเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่น่าพอใจ หรือไม่จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยนโยบายการเงินเหมือน 2 กรณีด้านบน หรืออยู่ในจุดที่ปรับอัตราดอกเบี้ยไปก็ไม่มีผลอะไรอีกต่อไป

สามารถติดตามการเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย BOT.or.th ซึ่งจะมีการประกาศออกมาเมื่อมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)


ดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลกับอะไรบ้าง

ก่อนจะตอบคำถามที่ว่า ดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลกับอะไรบ้าง ก่อนอื่นทำความเข้าใจกันอีกครั้งว่า ต้นทุนของเงินคือดอกเบี้ย (Interest) สมมติว่า ธนาคารยืมเงิน 100 บาทเพื่อนำไปลงทุนด้วยดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน ดังนั้น ในการลงทุนของธนาคารอย่างการปล่อยกู้ ไม่ว่าจะ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ธนาคารก็จะต้องได้ผลตอบแทนมากกว่า 1%

และเมื่อต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็จะทำให้ผลตอบที่ต้องการของธนาคารเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นคำตอบว่า ดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลกับอะไรบ้าง คือ ส่งผลกับทุกดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร (เพราะเงินที่ธนาคารหามาให้กู้มีต้นทุนเป็นดอกเบี้ย)

ดอกเบี้ยนโยบาย คือ ดอกเบี้ยขั้นต่ำของดอกเบี้ยในประเทศ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ดอกเบี้ยอื่นๆ เพิ่มหรือลดในทิศทางเดียวกัน ตัวอย่างของดอกเบี้ยที่จะเพิ่มและลดตาม ดอกเบี้ยนโยบาย คือ:

  1. ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร
  2. ดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคล เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน ดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์
  3. ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อธุรกิจ
  4. ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุน
  5. ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล
  6. ผลตอบแทนของตราสารหนี้อื่น ๆ อย่างเช่น หุ้นกู้

นอกจากนี้ การเพิ่มและลดดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลกระทบในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับดอกเบี้ยโดยตรงด้วย ได้แก่

การเปลี่ยนแปลงของระดับเงินเฟ้อ (Inflation) จากการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาของสินค้า จากต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มหรือลดลงจากดอกเบี้ยที่ทำให้สินค้าแพงขึ้นหรือถูกลง

ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน โดยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้เงินทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศนั้นมากขึ้น จากผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และในทางกลับกันการ ลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะทำให้เงินทุนของต่างชาติไหลออกไปหาประเทศที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า

ซึ่งการที่มีเงินทุนไหลเข้าหรือออกประเทศใดประเทศหนึ่ง จะทำให้ปริมาณความต้องการความต้องการซื้อและการขาย (แลกคืน) ของเงินสกุลนั้น ทำให้บางครั้งการเพิ่มหรือลดดอกเบี้ยสามารถส่งผลไปถึง เงินแข็งและเงินอ่อน

บทความที่เกี่ยวข้อง