ธนาคารแห่งประเทศไทยออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เบี้ยปรับ) และ การตัดชำระหนี้แบบใหม่ มาดูกันว่าแนวปฏิบัติแบบใหม่มีอะไรบ้างและคำนวณ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ แบบใหม่อย่างไร
เลือกหัวข้อที่ต้องการข้ามไปอ่าน
- ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้คืออะไร
- วิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
- ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เบี้ยปรับ)
- การตัดชำระหนี้
ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ คือ ดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกเก็บเมื่อลูกผิดนัดชำระหนี้ (ไม่ว่าจะจ่ายไม่ครบหรือจ่ายล่าช้า) โดยดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้คือสิ่งที่ระบุเอาไว้ในสัญญาเงินกู้เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่จากการชำระหนี้ไม่ตรงเวลาของลูกนี้ซึ่งนำไปสู่การเสียโอกาสในการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปทำอย่างอื่น
อย่างไรก็ตาม หลายคนที่เคยอ่านสัญญาเงินกู้อาจเคยเห็นว่าสัญญาเหล่านั้นจะระบุในลักษณะที่ว่า การผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทุกงวด หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นคือเมื่อก่อนถ้าคุณผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เบี้ยปรับ) จะคำนวณจากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมด (อัตราดอกเบี้ย x เงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมด)
การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เบี้ยปรับ) จากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมดส่งผลให้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ หรือ เบี้ยปรับออกมาสูงลิ่วจากการที่คุณผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว ซึ่งหลายครั้งเพิ่มภาระให้ลูกหนี้อย่างมากจนทำให้ปัญหาเล็ก ๆ จากการผิดนัดชำระเพียงครั้งเดียวกลายเป็นเรื่องใหญ่
เดือนตุลาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ออกประกาศปรับปรุงแนวปฏิบัติเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ เพื่อช่วยให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้เกิดความเป็นธรรมและสมเหตุสมผลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดหนี้เสียในระบบการเงินและลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของลูกหนี้ โดยมีการเปลี่ยนแปลง คือ
- คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากเงินต้นของงวดที่ผิดนัดจริงเท่านั้น
- อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%
- การตัดชำระหนี้แบบใหม่กำหนดลำดับให้ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานสุดเป็นลำดับแรก (ตัดชำระแบบแนวนอน)
การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ส่วนการปรับลำดับการตัดชำระหนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป นอกจากนี้ การผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 (ก่อนวันที่มีผลบังคับใช้) ผู้ให้บริการทางการเงินหรือผู้ปล่อยกู้จะสามารถนำหลักการตามประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้ตามสมควร
ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ คืออะไร?
ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ คือ ดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ยเพิ่มเติม (เรียกว่า ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้) เมื่อลูกผิดนัดชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่างวดไม่ครบ หรือจ่ายล่าช้าก็ตาม เพื่อเป็นการชดเชยความเสี่ยงที่ผู้ปล่อยกู้ต้องเผชิญถ้าหากลูกหนี้ไม่จ่ายชำระหนี้และทำให้เสียโอกาสนำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนด้วยวิธีอื่น
โดยปกติในส่วนของ ดอกเบี้ยเงินกู้ปกติตามสัญญา คือ ดอกเบี้ยที่ผู้กู้จะต้องจ่ายให้กับผู้ปล่อยกู้เพื่อเป็นผลตอบแทนของการกู้ยืมเงินซึ่งตามปกติในทุกงวดลูกหนี้มีหน้าที่ในการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้ตรงตามงวด และถ้าหากลูกหนี้จ่ายตรงเวลาสิ่งที่ลูกหนี้จะต้องจ่ายก็จะมีเพียงแค่เงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้น
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกหนี้เกิดจ่ายค่างวดไม่ครบหรือจ่ายล่าช้าจะถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้เกิด ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
วิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
วิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไปการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคำนวณจาก “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น ไม่รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
เนื่องจาก วิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบเดิม ถ้าหากผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียวเจ้าหนี้สามารถ คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าของดอกเบี้ยผิดนัด (เบี้ยปรับ) มีจำนวนที่สูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่จะช่วยให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นธรรมมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ในกรณีเดิมถ้าหากคุณกู้เงินซื้อบ้าน 5 ล้านบาท โดยผ่อน 20 ปี งวดละ 42,000 บาท แล้วคุณเกิดผิดนัดชำระหนี้ในงวดที่ 25 ในการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เบี้ยปรับ) คำนวณจากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมด หรือก็คือ 4.77 ล้านบาท x อัตราดอกเบี้ยผิดนัดสมมติว่า 15% นั่นหมายความดอกเบี้ยผิดนัดจะสูงถึง 715,500 บาท
แต่สำหรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จากตัวอย่างเดิม ถ้าคุณผิดนัดชำระหนี้ในงวดที่ 25 การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคำนวณจากเงินต้นของงวดที่ผิดนัดซึ่งก็คือเงินต้นของงวดที่ 25 เท่านั้น หรือก็คือ 10,000 บาท x อัตราดอกเบี้ยผิดนัดสมมติว่า 15% ดอกเบี้ยผิดนัดจะมียอดเพียง 1,500 บาทเท่านั้น
ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เบี้ยปรับ)
อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3% โดยคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา
ตัวอย่างเช่น ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงิน (ผู้ปล่อยกู้ก็จะสามารถกำหนด อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ได้สูงสุดไม่เกิน 11% (8% ตามสัญญา + สูงสุด 3%)
สำหรับอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เบี้ยปรับ) แบบเดิมที่ผู้ปล่อยกู้สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% และในบางกรณีสูงถึง 18% หรือ 22%

การตัดชำระหนี้
การตัดชำระหนี้แบบใหม่กำหนดลำดับให้ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานสุดเป็นลำดับแรก (ตัดชำระแบบแนวนอน) เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน
ในขณะที่การตัดชำระหนี้แบบเดิม (การตัดชำระแบบแนวตั้ง) เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนที่จะนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้นเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งการปรับเกณฑ์การตัดชำระหนี้แบบใหม่นี้จะช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าหากลูกหนี้ค้างชำระหนี้ 3 งวด 30,900 บาท แล้วนำเงินมาชำระหนี้ 10,300 บาท ในการตัดชำระหนี้แบบเดิม (การตัดชำระแบบแนวตั้ง) เงิน 10,300 บาท ที่ลูกหนี้ชำระมาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียม 900 บาท + ดอกเบี้ย 9,400 บาท ซึ่งจะเห็นว่าการจ่ายหนี้ของลูกหนี้ไม่ทำให้เงินต้นลดลงเลย และยังเหลือดอกเบี้ยค้างอยู่อีก 2,600 บาท
ในขณะที่การตัดชำระหนี้แบบใหม่ (การตัดชำระแบบแนวนอน) จะตัดงวดที่ค้างชำระนานสุดเป็นลำดับแรก ซึ่งก็คือค่าธรรมเนียม 300 บาท + ดอกเบี้ย 4,000 บาท + เงินต้น 6,000 บาท ของงวดที่ 1 ก่อน ซึ่งส่งผลให้ส่วนของเงินต้นของลูกหนี้ลดลงไปแล้ว 6,000 บาท
ข้อมูลอ้างอิงจาก ธปท. ออกแนวปฏิบัติสำคัญเรื่องการชำระหนี้เพื่อลดหนี้เสียและลดภาระหนี้ของประชาชน – ธนาคารแห่งประเทศไทย, 28 ตุลาคม 2563