ดอกเบี้ย MRR คือ ชื่อย่อของ Minimum Retail Rate ซึ่งจะหมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์จะใช้กับลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือพูดในอีกมุมหนึ่งก็คือ อัตราดอกเบี้ย ที่ต่ำที่สุดของลูกค้ารายย่อย
ลูกค้ารายย่อยในที่นี้จะหมายถึงอัตราดอกเบี้ยของ สินเชื่อส่วนบุคคล ดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ ไปจนถึง ดอกเบี้ยบัตรเครดิต
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารพาณิชย์ แต่ละแห่งอาจจะแตกต่างกันก็ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่แต่ละธนาคารมีต้นทุนที่แตกต่างกัน
สามารถตรวจสอบ ดอกเบี้ย MRR ของทุกธนาคารได้ที่ เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคารแต่ละธนาคาร ในส่วนของ อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม (แนะนำวิธีที่ 2 หาง่ายกว่า)
อัตราดอกเบี้ย MRR
อัตราดอกเบี้ย MRR บางครั้งจะมีการบวกหรือลบด้วยตัวเลข เกิดจากการที่ ธนาคารพาณิชย์ อาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อ โดยบวกอัตราเพิ่มหรือลด
ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะเขียน ดอกเบี้ย MRR ในลักษณะของ MLR + หรือ – X%
ตัวอย่างเช่น ดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้าน MRR คือ 7% แต่ MRR ที่คุณเห็นเขียนว่า MRR+1% ต่อปี
หมายความว่า ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคือ 8% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ย MRR ของแต่ละคน
นอกจาก ดอกเบี้ย MRR ของแต่ละธนาคาร จะไม่เท่ากันแล้ว อัตราดอกเบี้ย MRR ของแต่ละคน ก็อาจจะไม่เท่ากันด้วย
บางคนอาจจะ MRR+1% แต่บางคนอาจจะ MRR+1.5%
เนื่องจาก เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ หากผู้กู้มีความเสี่ยงสูง เช่น ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือมีประวัติที่ไม่ค่อยดีในการกู้เงิน ธนาคารก็จะคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ (เพิ่มขึ้น X%) เพื่อชดเชยความเสี่ยงดังกล่าว
ซึ่งเหตุผลดังกล่าวเป็นเหตุผลหลักของการที่ X% ของ MRR ของแต่ละคนไม่เท่ากัน
นอกจากนี้ แต่ละธนาคารก็ยังมีหลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นวิธีพิจารณาที่แตกต่างกันไป ดังนั้น แนะนำให้สอบถามธนาคารเพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาหาเงื่อนไขที่เหมาะสม
อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงนอกจาก ดอกเบี้ย MRR
ดอกเบี้ยในลักษณะของ ดอกเบี้ย MRR นี้ จะเรียกว่า ดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งนอกจาก MRR ยังมีดอกเบี้ยอ้างอิงในรูปแบบอื่น (ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละธนาคารจะใช้ดอกเบี้ยอ้างอิงอะไรบ้าง) ตัวอย่างเช่น
- MLR (Minimum Loan Rate)
- MOR (Minimum Overdraft Rate)
- MHR (Minimum Housing Rate)
สำหรับดอกเบี้ยอ้างอิงที่พบได้บ่อยจะมี 3 ตัวคือ MRR MLR และ MOR