ดุลการชำระเงิน คือ บัญชีผลสรุปของเงินที่ไหลเข้าและออกประเทศ ที่เกิดจากการการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศทั้งหมดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1 ไตรมาส และ 1 เดือน ดังนั้นดุลการชำระเงินหรือ Balance of Payment จึงเป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนบัญชีรายรับรายจ่ายของประเทศแต่ละประเทศที่จะแสดงกิจกรรมทางการเงินของประเทศหนึ่งกับต่างประเทศทั้งหมด
โดยที่ดุลการชำระเงิน (Balance of Payments) จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account)
- ดุลบัญชีทุน (Capital Account)
- บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve)
โดยทั้ง 3 ส่วนของดุลการชำระเงิน (Balance of Payments) ส่วนสำคัญที่เป็นแหล่งที่มาของเงินที่ไหลเวียนเข้าออกประเทศ คือ ส่วนที่ 1 กับ 2 ซึ่งก็คือ บัญชีเดินสะพัด (Current Account) และ บัญชีทุน (Capital Account)
ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account)
ดุลบัญชีเดินสะพัด คือ บัญชีที่แสดงการซื้อขายสินค้าและบริการของประเทศ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ที่ผู้อ่านน่าจะเดาได้แล้ว ซึ่งก็คือดุลการค้าและดุลบริการ
ดุลการค้า (Trade Account) คือ ส่วนที่แสดงรายได้จากการนำเข้าส่งออกสินค้า (ถ้าหากติดลบ หมายความว่า นำเข้ามากกว่าส่งออก)
ดุลบริการ (Service Account) คือ ส่วนที่แสดงรายได้รายจ่ายเกี่ยวกับการบริการต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว และการที่คนไทยไปทำงานในต่างประเทศ
ดุลบัญชีทุน (Capital Account)
ดุลบัญชีทุน คือ บัญชีที่แสดงการเคลื่อนย้ายเงินทุน ทั้งเงินทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศและเงินที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยดุลบัญชีทุนหรือ Capital Account จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ
การลงทุนโดยตรง (Direct Investment) ประกอบด้วย การลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุนในต่างประเทศ
การลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) เช่น หุ้น ตราสารทุน ตราสารหนี้ รวมไปถึง การลงทุนในตราสารอนุพันธ์
การลงทุนอื่นๆ เช่น สินเชื่อทางการค้า และ เงินให้กู้
บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve)
บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) คือ บัญชีที่แสดงทุนสำรองระหว่างประเทศว่ามีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไหร่
ซึ่งทุนสำรองระหว่างประเทศจะได้จากการที่ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุน หรือ ซื้อสินค้าไทย (ต้องแลกเงินสกุลเขาเป็นเงินบาท ตรงนี้เองที่เราจะได้เงินสกุลต่างประเทศเก็บไว้)
สำหรับสินทรัพย์ที่ใช้เป็น ทุนสำรองระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ทองคำ เงินตราต่างประเทศ สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights : SDR) และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
โดยหน้าที่หลักของ ทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็จะทำหน้าที่ตามชื่อคือใช้เป็นเงินทุนสำรองเพื่อชดเชยการขาดดุลการค้า และสำหรับการแลกเงินจำนวนมาก (เหมือนช่วงปี 40) นอกจากนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศยังสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศอีกด้วย
บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) ส่วนหนึ่งจะเป็นเหมือนผลที่ได้จาก ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) และ ดุลบัญชีทุน (Capital Account) ดังนั้น ถ้าทั้งสองส่วนเกินดุลก็จะทำให้ประเทศมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นนั่นเอง