ดุลบริการ คือ ดุลบัญชีรายการหนึ่งที่อยู่ใน ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ที่ทำหน้าที่แสดงเงินที่ไหลเข้าออกแต่ละประเทศ (ทำหน้าที่เหมือน งบกำไรขาดทุน ของประเทศ) ซึ่งในส่วนของ ดุลบัญชีเดินสะพัด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของ ดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) อีกที
สำหรับในส่วนของ ดุลบริการ (Service Account) คือ ดุลบัญชีที่จะบอกว่าประเทศนั้น ๆ มีรายได้และรายจ่ายเท่าไหร่จากภาคบริการระหว่างประเทศ โดยดุลบริการก็จะมีการขาดดุลและเกินดุลเช่นเดียวกันกับ ดุลการค้า (Trade Account)
ตัวอย่างเช่น ค่าขนส่งระหว่างประเทศ รายได้จากนักท่องเที่ยวจีน รายจ่ายของคนไทยเที่ยวญี่ปุ่น รายได้จากแรงงานของคนไทยในต่างประเทศ เป็นต้น
ซึ่งถ้าหากใครรู้จัก ดุลการค้า (Trade Account) อยู่แล้ว ก็จะเห็นว่า ดุลบริการ (Service Account) เป็นสิ่งที่มีหน้าที่คล้ายกันกับ ดุลการค้า (Trade Account) เพียงแต่ดุลการบริการจะบันทึกรายได้และรายจ่ายเกี่ยวกับการบริการระหว่างประเทศ (แทนที่จะบันทึกรายได้และรายจ่ายจากการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ)
ดุลบริการ (Service Account) เกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายจากการบริการระหว่างประเทศ
ดุลการค้า (Trade Account) เกี่ยวกับตัวเลขการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
เกินดุล ขาดดุล ดุลบริการ
สำหรับการ ขาดดุลและเกินดุล ของ ดุลบริการ (Service Account) ก็ทำงานไม่ต่างจาก ดุลการค้า (Trade Account)
โดยการเกินดุลบริการก็คือการที่มีรายได้จากการบริการระหว่างประเทศมากกว่ารายจ่าย ในขณะที่การขาดดุลบริการคือการที่มีรายจ่ายจากการบริการระหว่างประเทศมากกว่ารายได้จากการบริการระหว่างประเทศ
ขาดดุลบริการ คือ รายได้จากบริการ < รายจ่ายจากการบริการ (บริการระหว่างประเทศ)
เกินดุลบริการ คือ รายได้จากบริการ > รายจ่ายจากการบริการ (บริการระหว่างประเทศ)
ดุลบริการของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย รายได้จากทั้ง ดุลบริการ (Service Account) และ ดุลการค้า (Trade Account) ในบางเดือนจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากไทยมีรายได้จากทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว
สามารถดูตัวเลข ดุลบริการของไทยได้ที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจะถูกรวมอยู่ใน ดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) ในส่วนของ ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account)