ดุลบัญชีเดินสะพัด คืออะไร?
ดุลบัญชีเดินสะพัด คือ ดุลบัญชีที่แสดงเงินที่ไหลเข้าออกประเทศ ที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศนั้นกับประเทศคู่ค้าอื่น โดยดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ดุลการค้า (Trade Balance) และดุลบริการ (Service Account)
Current Account หรือ ดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นบัญชีการค้าระหว่างประเทศที่จะแสดงอยู่ในดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) ที่แสดงกิจกรรมทางการเงินของประเทศหนึ่งกับต่างประเทศทั้งหมด โดยหน้าที่ของดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) จะใช้เป็นส่วนที่แสดงรายได้ของประเทศแต่ละส่วนแยกกันระหว่างสินค้าและบริการ
ดุลการค้า (Trade Balance) คือบัญชีดุลบัญชีเดินสะพัดส่วนที่แสดงรายรับรายจ่ายที่เกี่ยวกับสินค้าที่เกิดการซื้อขายระหว่างประเทศ หรือก็คือบัญชีที่แสดงการส่งออกและการนำเข้าของประเทศ
ดุลบริการ (Service Account) คือบัญชีดุลบัญชีเดินสะพัดส่วนที่แสดงรายรับรายจ่ายที่เกี่ยวกับบริการที่เกิดการซื้อขายระหว่างประเทศ
กล่าวคือ ถ้าหากเทียบประเทศหนึ่งเป็นบริษัท ดุลบัญชีเดินสะพัดคือรายการบัญชี (ของประเทศ) ที่ทำให้เห็นว่าบริษัทมีกำไรหรือขาดทุนจากอะไรบ้างนั่นเอง
ดุลการค้า (Trade Balance)
ดุลการค้า (Trade Balance) คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ส่วนที่แสดงเงินที่เข้าและออกจากประเทศจากการส่งออก (Export) และการนำเข้า (Import)
ในส่วนของดุลการค้า (Trade Balance) ถือเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของหลายประเทศที่เน้นการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศ ทำให้ประเทศเหล่านี้ที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกหรือเกินดุล อย่างเช่น ประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน
นอกจากนี้ หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า เกินดุล กับ ขาดดุล ซึ่งทั้ง 2 คำก็จะเกิดขึ้นใน ดุลการค้า (Trade Balance) นั่นเอง
- เกินดุล (Surplus) คือการที่ประเทศนั้นมีการส่งออกสินค้ามากกว่านำเข้าสินค้า
- ขาดดุล (Deficit) คือการที่ประเทศนั้นมีการนำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกสินค้า
ดุลบริการ (Service Account)
ดุลบริการ (Service Account) คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด Current Account) ส่วนที่แสดงเงินที่ไหลเข้าและออกนอกประเทศจากด้านบริการ ตัวอย่างเช่น รายได้รายจ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และการให้บริการระหว่างประเทศ
ในกรณีที่เป็นเรื่องที่ประเทศได้เงิน อย่างเช่น การที่ต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย และการที่คนไทยไปทำงานในต่างประเทศ จะทำให้รายได้ในส่วนของดุลบริการเพิ่มขึ้น (เงินไหลเข้าสู่ประเทศ)
ในกรณีที่เป็นเรื่องที่ทำให้ต้องนำเงินออกนอกประเทศ อย่างเช่น การที่คนไทยไปเทียวต่างประเทศ และการที่ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยแล้วส่งเงินกลับบ้านเกิด จะทำให้รายได้ในส่วนของดุลบริการลดลง (เงินไหลออกจากประเทศ)
โดยดุลบริการ (Service Account) เองก็สามารถเกินดุลและขาดดุลได้เช่นเดียวกันกับดุลการค้า ด้วยเงื่อนไขที่คล้ายกัน คือ ถ้าหากมีการส่งออกบริการมากกว่านำเข้าการบริการ (เงินไหลเข้าประเทศจากบริการมากกว่าเงินไหลออก) ก็จะทำให้ประเทศเกินดุลบริการ
แต่ในทางกลับกันถ้าหากมีการนำเข้าบริการมากกว่าการส่งออกการบริการ (เงินไหลออกจากประเทศเพราะการบริการมากกว่าไหลเข้า) ก็จะทำให้ประเทศขาดดุลบริการ