ดุลยภาพ คืออะไร?
ดุลยภาพ (Equilibrium) คือ จุดที่ระดับความต้องการซื้อของผู้ซื้อ (Demand) เท่ากับระดับความต้องการขายของผู้ขาย (Supply) พอดี ซึ่งเป็นจุดที่ใช้แสดงความต้องการซื้อในระดับราคาที่สมเหตุสมผลในระยะยาวในตลาด
เรียกได้ว่า Equilibrium หรือ จุดดุลยภาพ คือ จุดที่ตลาดอยู่ในจุดสมดุล เพราะกลไกของตลาด (Demand และ Supply) จะค่อย ๆ ปรับระดับราคาสินค้าและปริมาณสินค้าเข้าหาระดับที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตพอใจในจุดที่สมดุล ซึ่งเราเรียกจุดนี้ว่าจุดดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium)
ก่อนอื่นเริ่มจากการทำความเข้าใจกับกับ อุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการซื้อของผู้บริโภค และอุปทาน (Supply) หรือความต้องการขายของผู้ขายกันก่อน
อุปสงค์ (Demand) คือ ปริมาณความต้องการซื้อของผู้บริโภค ยิ่งความต้องการซื้อมากขึ้นราคาของสินค้านั้นก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตาม (เหมือนของหายากที่แพงเพราะมีอยู่น้อย) และในทางกลับกันยิ่งราคาของสินค้าลดลงความต้องการซื้อจะเพิ่มขึ้น
อุปทาน (Supply) คือ ความต้องการขายของผู้ขาย (ให้คิดภาพเป็นสินค้าบางอย่าง) ยิ่งราคาของสินค้าเพิ่มขึ้นความต้องการขายสินค้าก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตาม ในทางกลับกันเมื่อราคาสินค้าลดลงความต้องการขายก็จะลดลงตาม
กราฟแสดงจุดดุลยภาพ (Equilibrium)
เมื่อนำกราฟ Demand และ Supply มาซ้อนกัน จุดที่เส้น Demand ตัดกับเส้น Supply พอดีจะเรียกว่า จุดดุลยภาพ หรือ Equilibrium ซึ่งเป็นจุดที่ความต้องการซื้อ (Demand) เท่ากับความต้องการขาย (Supply) พอดีตามที่ได้อธิบายเอาไว้ในตอนต้น

จากกราฟด้านบนจะเห็นว่าเมื่อนำเส้น Demand และเส้น Supply มาซ้อนกัน จะพบว่าเส้น Demand จะเพิ่มสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับราคา หมายความว่า ยิ่งมีความต้องการซื้อที่สูงราคาก็จะยิ่งสูงขึ้น ในขณะที่เส้น Supply จะตรงข้ามกับราคาซึ่งหมายความว่ายิ่งระดับ Supply เพิ่มขึ้นราคาก็จะยิ่งลดต่ำลง
โดยจุดที่เส้น Demand และ Supply ตัดกันพอดีจะเรียกว่า “จุดดุลยภาพ” คือจุดที่ความต้องการซื้อเท่ากับความต้องการขายตามที่ได้อธิบายไว้ด้านบน
นอกจากนี้ พื้นที่ที่อยู่ด้านบนและด้านล่างของจุดดุลยภาพ ยังมีความหมายดังนี้:
- จุดที่อยู่สูงกว่าจุดดุลยภาพ (Equilibrium) เรียกว่า อุปทานส่วนเกิน หรือ Excess Supply คือ ความไม่สมดุลที่ Supply มีมากเกินไป
- จุดที่อยู่ต่ำกว่าจุดดุลยภาพ (Equilibrium) เรียกว่า อุปสงค์ส่วนเกิน หรือ Excess Demand คือ ความไม่สมดุลที่ Demand มีมากเกินไป
ในท้ายที่สุดอุปทานส่วนเกิน (Excess Supply) และอุปสงค์ส่วนเกิน (Excess Demand) จะปรับตัวเข้าสู่จุดดุลยภาพในท้ายที่สุด ซึ่งจะเห็นว่าจุดดุลยภาพ (Equilibrium) เปรียบเสมือนความสมดุลระหว่าง Demand และ Supply ดังนั้นอาจเรียกได้ว่าจุดดุลยภาพก็คือจุดสมดุลนั่นเอง
กลไกของดุลยภาพ
กลไกของดุลยภาพ (Equilibrium) คือสิ่งที่อาจฟังดูซับซ้อนแต่แท้จริงแล้วกลไกของดุลยภาพนั้นเรียบง่ายมาก เริ่มจากลองนึกถึงสินค้าใดก็ตามที่มีราคาแพงแบบไม่สมเหตุสมผลจนทำให้ไม่มีใครซื้อเพราะสินค้านั้นแพงทั้งที่ไม่ควรจะแพง ดังนั้นเมื่อสินค้าไม่เป็นที่ต้องการราคาของสินค้านั้นก็จะลดลงเรื่อย ๆ จนกว่าจะอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่ผู้ซื้อยอมซื้อ
ในทางกลับกันหากสินค้าบางชนิดมีราคาถูกเกินไปทั้งที่ควรมีราคาแพงกว่านั้น ผู้ซื้อก็จะซื้อสินค้าดังกล่าวมากขึ้นเพราะสินค้านั้นมีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อความต้องการสินค้านั้นมากขึ้นจากผู้ซื้อกลุ่มดังกล่าว ราคาสินค้าก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่เหมาะสมในท้ายที่สุด
ซึ่งจุดดุลยภาพ (Equilibrium) ของสินค้าหนึ่งอาจมีการเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาตามปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการซื้อและความต้องการขายของสินค้านั้น ๆ เรียกว่า กลไกของตลาด