GreedisGoods » Economics » ตราสารหนี้เอกชน คืออะไร? ทำไมสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ

ตราสารหนี้เอกชน คืออะไร? ทำไมสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ

by Kris Piroj
ตราสารหนี้เอกชน คือ Corporate Bond คือ หุ้นกู้ ตราสารหนี้ เอกชน บริษัท

ตราสารหนี้เอกชน คืออะไร?

ตราสารหนี้เอกชน คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการเงินลงทุนจากนักลงทุนเพื่อกู้เงินจากนักลงทุน โดยแลกกับดอกเบี้ย (และสิทธิประโยชน์อื่น) เป็นผลตอบแทนให้กับนักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้เอกชน

พื้นฐานการทำงานของ ตราสารหนี้เอกชน (Corporate Bond) เป็นการที่บริษัทออกตราสารขึ้นมาโดยแบ่งเป็นมูลค่าเท่า ๆ กัน (ตามปกติคือหน่วยละ 1,000 บาท) และเสนอขายให้กับนักลงทุน ซึ่งผู้ที่ลงทุน (ซื้อ) ตราสารหนี้เอกชนดังกล่าวจะได้สิทธิในการรับดอกเบี้ยตามที่ระบุ (Coupon Rate) ตามช่วงเวลาที่กำหนด และเมื่อครบกำหนดหนดไถ่ถอนนักลงทุนจะได้รับคืนเงินต้น (Principal) ตามที่ระบุเอาไว้ในตราสารหนี้เอกชนดังกล่าว

กล่าวคือ ตราสารหนี้เอกชน หรือ Corporate Bond คือ ตราสารที่บริษัทที่ต้องการเงินทุนออกขายให้นักลงทุน เพื่อกู้ยืมเงินจากนักลงทุนแลกกับดอกเบี้ยนั่นเอง ในทางกลับกันนักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้เอกชนดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทที่ออกตราสารหนี้

ทั้งนี้ ด้วยการที่ตราสารหนี้เอกชน (Corporate Bond) เป็นสิ่งที่แท้จริงแล้วคือหนี้ ความเสี่ยงในการลงทุนของนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้เอกชนจึงเป็นความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอกชนที่ออกตราสารหนี้

ด้วยเหตุผลด้านความเสี่ยงดังกล่าว ตราสารหนี้ภาคเอกชนจึงมีการจัดอันดับความเสี่ยงที่เรียกว่า Credit Rating ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำสุด AAA AA A BBB BB B ไปจนถึง C ที่เป็นความเสี่ยงสูงสุด และ D ที่เป็นการผิดนัดชำระหนี้ โดยยิ่งเป็นบริษัทที่ความเสี่ยงสูง (Credit Rating ต่ำ) จะยิ่งให้ดอกเบี้ยสูงแลกกับการที่โอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงสุด ในขณะที่บริษัทที่ยิ่ง Credit Rating สูงจะยิ่งให้ผลตอบแทนต่ำตามความเสี่ยงที่ต่ำ

วิธีลงทุนในตราสารหนี้เอกชน (Corporate Bond)

ตราสารหนี้เอกชน (Corporate Bond) เป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายบน 2 ตลาดเช่นเดียวกับตราสารหนี้และตราสารทุนอื่น ๆ โดยแบ่งเป็น ตลาดแรก (Primary Market) และตลาดรอง (Secondary Market) โดยการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนในแต่ละตลาดจะแตกต่างกันดังนี้

ตราสารหนี้ตลาดแรก (Primary Market) คือ การซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ออกครั้งแรกทั้งในกรณีของรายใหญ่และรายย่อย ด้วยการติดต่อซื้อจากผู้ค้าตราสารหนี้ (Dealers) ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นกู้ (โดยปกติจะเป็นธนาคารพานิชย์และบริษัทหลักทรัพย์)

ตราสารหนี้ตลาดรอง (Secondary Market) คือ ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารหนี้ระหว่างนักลงทุน ตั้งแต่มือที่ 2 เป็นต้นไป คล้ายกับกรณีหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดหุ้น

ตราสารหนี้เอกชนสำคัญอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ?

ตราสารหนี้เอกชน เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญสำหรับธุรกิจนอกเหนือจากการออกหุ้นสามัญ (Common Stock) หรือหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) ที่เงินลงทุนที่บริษัทได้รับจากตราสารหนี้เอกชนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ (ไม่ได้เป็นเจ้าของเหมือนกับหุ้น) ดังนั้น การได้เงินมาจากการออกตราสารหนี้เอกชนจะไม่ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเปลี่ยนแปลงและทำให้อำนาจในการบริหารยังคงเท่าเดิม (ไม่มี Dilute Effect หรือทยอยรับรู้ Dilution Effect ในกรณีหุ้นกู้แปลงสภาพ) ตลอดจนภาระในการจ่ายปันผลที่ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง

ในด้านมุมมองของดอกเบี้ย ตราสารหนี้เอกชนมีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่ำกว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงินในหลาย ๆ กรณี อีกทั้งยังจัดเป็นค่าใช้จ่ายซึ่งนำไปใช้ลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทได้

ด้วยข้อได้เปรียบใดก็ตาม ทำให้ตราสารหนี้เอกชน (Corporate Bond) เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญสำหรับธุรกิจในการดำเนินงาน ขยายธุรกิจ และการสร้างงาน อีกทั้งยังเป็นแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอในฝั่งนักลงทุน

ความบอบบางของตลาดตราสารหนี้เอกชน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ากลไกของ ตลาดตราสารหนี้เอกชน คือ กลไกราคาที่ไม่ต่างจากกลไกของการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ที่นักลงทุนจะเลือกลงทุนในสิ่งที่คาดว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และไม่ต้องการลงทุนในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหรือไม่เป็นที่ต้อองการ

ในกรณีที่ผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้อื่นสูงขึ้น (อย่างเช่น ดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่ออกใหม่ สูงขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น) ราคาของตราสารหนี้เก่าจะลดลงเพราะไม่มีใครอยากลงทุนในสิ่งที่ลงทุนเท่ากันแต่ผลตอบแทนน้อยกว่า ซึ่งในกรณีนี้คือตราสารหนี้เก่าที่ให้ผลตอบแทนสู้ตราสารหนี้ที่ออกใหม่ไม่ได้ทั้งที่ราคาเท่ากัน

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในช่วง COVID-19 คือความไม่มั่นใจของนักลงทุนที่กลัวว่าบริษัทจะล้มจากการที่เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง ทำให้นักลงทุนเทขายตราสารหนี้และไม่อยากลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน การเทขายส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนผันผวนอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้ความไม่เชื่อมั่นมีมากขึ้น

เมื่อความเชื่อมั่นน้อยลงจนทำให้คนไม่อยากลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้การ Rollover (ต่ออายุหนี้) เกิดปัญหา 2 กรณี คือ

  1. ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีใครอยากซื้อ เนื่องจากกลัวว่าธุรกิจจะล้ม
  2. ทำได้ยากขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้น ถ้าไม่ให้ดอกเบี้ยสูงก็จะไม่มีคนซื้อ (นักลงทุนต้องการผลตอบแทนมากขึ้นเพราะความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเวลาปกติ

สิ่งที่ตามมาจากปัญหาการ Rollover หรือ การต่ออายุหนี้ ทั้ง 2 กรณี คือ การทำให้บริษัทฯ ที่ออกตราสารหนี้ขาดสภาพคล่องยิ่งกว่าเดิม จากที่เดิมทีก็มีปัญหาขายไม่ออกอยู่แล้ว และเคสแย่ที่สุดในระยะยาวบริษัทที่ขาดสภาพคล่องก็จะทนไม่ไหวและล้มละลายในที่สุด เมื่อบริษัทเหล่านี้ล้มละลายหมายความว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ (Default) ซึ่งหมายถึงการที่เงินลงทุนของผู้ที่ลงทุนในหุ้นกู้ที่บริษัทออกจะกลายเป็น 0

ตรงส่วนนี้เองที่เป็นปัญหา เพราะนอกจากนักลงทุนทั่วไปจะขาดทุนโดยตรง ยังมีผู้ลงทุนอีกประเภทที่ขาดทุนด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม

ตราสารหนี้เอกชน คือ Corporate Bond คือ หุ้นกู้ กองทุน BSF สัดส่วนการถือตราสารหนี้เอกชน
สัดส่วนการถือครองตราสารหนี้เอกชนในประเทศไทยจากธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand)

กองทุนเหล่านี้คือกองทุนที่หลายคนในช่วงวัยทำงานน่าจะคุ้นเคยกันดีเพราะเป็นกองทุนที่เป็นเงินออมของคุณนั่นเอง เมื่อกองทุนเหล่านี้ได้กำไรลดลงหรือขาดทุน หมายความว่าเงินออมของคุณจะหายไปนั่นเอง ทำให้ในขณะนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยต้องให้ความช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนด้วยการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน  (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ขึ้นมารักษาสภาพคล่อง จากความผันผวนที่ทำให้เกิดปัญหาการ Rollover ตราสารหนี้เอกชน

บทความที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด