ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินที่ให้สิทธิในการเป็นเจ้าหนี้แก่นักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ (Bond) โดยผลตอบแทนของตราสารหนี้ คือ ดอกเบี้ย (Interest) และเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ออกตราสารหนี้จะคืนเงินต้นให้กับนักลงทุนตามที่ระบุในตราสารหนี้
พูดให้ง่ายกว่านั้น ตราสารหนี้ คือ สัญญากู้เงินระหว่างผู้ออกตราสารหนี้กับนักลงทุน โดยที่ผู้ออกตราสารหนี้อย่างเช่น รัฐบาล บริษัท หรือรัฐวิสาหกิจมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” ส่วนนักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้มีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” และได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย
ผลตอบแทนของ ตราสารหนี้ คือ ดอกเบี้ย (Interest) ซึ่งถ้าหากระยะเวลาของตราสารหนี้ยิ่งยาวผลตอบแทนตราสารหนี้จะยิ่งสูงตาม ในทางกลับกันตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาสั้นก็จะให้ผลตอบแทนที่ต่ำ โดยดอกเบี้ยที่นักลงทุนจะได้รับจากตราสารหนี้จะมีอยู่ 2 แบบคือ
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ที่จะให้ดอกเบี้ยเท่าเดิมตลอดระยะเวลาของตราสารหนี้
- อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) อัตราดอกเบี้ยในกรณีนี้จะเพิ่มหรือลดลงตามเงินเฟ้อในแต่ละช่วงเวลา ทำให้ดอกเบี้ยของตราสารนี้ในลักษณะนี้อาจเพิ่มหรือลดลงได้
นอกจากนี้ ช่วงเวลาในการจ่ายดอกเบี้ยของ ตราสารหนี้ จะมีอยู่หลายแบบ เช่น จ่ายทุก 6 เดือน และจ่ายทุก 12 เดือน เป็นต้น นักลงทุนควรศึกษาในส่วนนี้ให้ดี เพราะแค่ระยะเวลาในการจ่ายดอกเบี้ยต่างกันก็อาจทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของตราสารหนี้ต่างกัน
ข้ามไปที่หัวข้อที่ต้องการ
ประเภทของตราสารหนี้
อย่างที่อธิบายในตอนต้นว่า ตราสารหนี้ คือ การกู้เงินจากนักลงทุน ทำให้โดยทั่วไปสามารถแบ่ง ประเภทของตราสารหนี้ (Bond) ได้เป็น 2 ประเภทตามผู้ที่ออกตราสารหนี้ คือ
ตราสารหนี้ภาครัฐ ซื้อได้จากธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (เงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท)
ตราสารหนี้เอกชน ซื้อได้จากธนาคารพาณิชย์ 14 แห่งและบริษัทหลักทรัพย์ (เงินลงทุนขั้นต่ำ 50,000 – 100,000 บาท)
ตราสารหนี้ภาครัฐ
ตราสารหนี้ภาครัฐ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหน่วยงานที่ออกตราสารหนี้ก็จะเป็นหน่วยงานตามชื่อของตราสารหนี้เหล่านั้น
ข้อดีของตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ คือ โอกาสที่ภาครัฐจะผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก เพราะการผิดนัดของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลจะเกิดจากการที่รัฐไม่มีเงินหรือรัฐล้มละลายเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ยากมาก
หมายเหตุ: ตั๋วเงินคลัง คือ ตราสารหนี้ประเภทเดียวที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย แต่จะให้ผลตอบแทนเป็นส่วนต่างที่เรียกว่า Discount แทน
ตราสารหนี้ภาคเอกชน
ตราสารหนี้เอกชน คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน เรียกอีกอย่างว่า หุ้นกู้ (Corporate Bond) เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่ต้องการนำเงินไปลงทุน เป็นตราสารหนี้ที่มีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะโดนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้ของเอกชนหรือหุ้นกู้ จะมีการจัดอันดับความเสี่ยงเรียกว่า Credit Rating ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำสุด AAA AA A BBB BB B C และ D ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สูงที่สุด (ยิ่งความเสี่ยงสูงผลตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยยิ่งสูงตาม)
ความเสี่ยงของ ตราสารหนี้
ความเสี่ยงหลักของ ตราสารหนี้ คือ การผิดนัดชำระหนี้ เหมือนกับหนี้ทั่วไป โดยความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) คือ ความเสี่ยงจากการที่ลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้นั่นเอง แต่นอกจากนี้ ตราสารหนี้ (Bond) ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ อยู่อีกด้วย ได้แก่:
ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) เพราะตราสารหนี้ส่วนมากจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ให้กับผู้ลงทุน ซึ่งถ้าหากว่าอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) เกิดเปลี่ยนแปลงไป ราคาของตราสารหนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ย
ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นราคาของตราสารหนี้ก็จะลดลง ถ้าหากนักลงทุน ขายตราสารหนี้ ก็จะต้องลดราคาของตราสารหนี้ลงเพื่อชดเชยกับการที่ตราสารหนี้นั้นไม่สามารถให้ดอกเบี้ยที่สูงเท่าดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่ออกมาใหม่
ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) คือ ความเสี่ยงจากการที่ผู้ลงทุนอาจจะเสียโอกาสในการใช้เงินทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ไปลงทุนกับสินทรัพย์อื่น เนื่องจากการลงทุนใน ตราสารหนี้ คือ การลงทุนที่มีระยะเวลาค่อนข้างนาน
วิธีซื้อตราสารหนี้
ตราสารหนี้ คือ หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายบน 2 ตลาดเช่นเดียวกับสินทรัพย์ทางการเงินประเภทอื่นๆ โดยการลงทุนในตราสารหนี้ในแต่ละตลาดทำได้ดังนี้
ตราสารหนี้ตลาดแรก คือ การซื้อตราสารหนี้ที่ออกครั้งแรก โดยจะสามารถติดต่อซื้อตราสารหนี้ตลาดแรกได้จาก ผู้ค้าตราสารหนี้ (Dealers) ซึ่งก็คือธนาคารพานิชย์และบริษัทหลักทรัพย์
ตราสารหนี้ในตลาดรอง เรียกว่า Thai Bond Exchange (TBX) คือ ตลาดสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารหนี้ระหว่างนักลงทุน (คล้ายตลาดหุ้น) โดยนักลงทุนจะต้องเปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัทหลักทรัพย์ ดูรายชื่อบริษัทหลักทรัพย์ได้ที่ เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์