ตลาดหุ้นไทยใช้มาตรการ Circuit Breaker ครั้งแรกในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่วิกฤต Subprime 2008 มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นจนทำให้ ตลาดหุ้นไทย Circuit Breaker ทำงาน
หุ้นไทย Circuit Breaker ครั้งแรกในรอบ 12 ปี
ตลาดหุ้นไทย Circuit Breaker ทำงานครั้งแรกในรอบ 11 ปี 4 เดือน เมื่อเวลา 14.40 น. วันที่ 12 มีนาคม 2563 หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยเปิดตลาดภาคบ่ายด้วยดัชนี -125.05 จุด ซึ่งคิดเป็น 10% ซึ่งทำให้มาตรการ Circuit Breaker ครั้งที่ 1 ของตลาดหุ้นทำงานทันที ทำให้ดัชนีหุ้นไทยลดลงไปอยู่ที่ 1,124.84 จุด
โดยการทำงานของมาตรการ Circuit Breaker คือ การทำให้ตลาดหยุดการซื้อขายชั่วคราวเป็นระยะเวลา 30 นาที ตั้งแต่เวลา 14.38 น. และกลับมาเปิดทำการอีกครั้งเวลา 15.08 น.
ซึ่งเป็นการ Circuit Breaker ครั้งแรกของไทยในรอบ 11 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่วิกฤต Subprime ปี 2008 และเป็น Circuit Breaker ครั้งที่ 4 ของประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย
เกิดอะไรขึ้นทำไมหุ้น Circuit Breaker
ก่อนหน้านี้ในวันนี้ตลาดหุ้นไทย (SET) วันนี้เปิดตลาดในช่วงเช้าด้วยการหลุดจาก 1200 จุดทันที ซึ่งเป็นการหลุดจาก 1,200 จุดครั้งแรกในรอบ 7 ปีของตลาดหุ้นไทย ทำให้ในภาคเช้าของวันนี้เกิดการเทขายอย่างหนักถึง -117.84 (-9.38%) ทำให้จุดต่ำสุดของดัชนี SET Index วันนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าคือ 1,132.79 จุด
แต่หลังจากนั้นก็เกิดแรงซื้อกลับมาทำให้ตลาดหุ้นไทยในช่วงเช้าพักการซื้อขายด้วยดัชนี 1,140.05 จุด เปลี่ยนแปลง -109.84 จุด (-8.79%) หรือก็คืออีก 1.21% จึงจะสามารถทำให้ Circuit Breaker หุ้นทำงานได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดการซื้อขายในภาคบ่ายก็เกิดการขายอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเพียง 9 นาทีหลังจากเปิดการซื้อขายภาคบ่ายจนดัชนี SET Index ลดลง -125.05 จุด ซึ่งคิดเป็น 10%
ส่งผลให้มาตรการ Circuit Breaker ของตลาดหุ้น ครั้งที่ 1 ของวันทำงาน ซึ่งเป็นการหยุดการซื้อขายชั่วคราวเป็นระยะเวลา 30 นาที ตั้งแต่เวลา 14.38 น. ถึง 15.08 น.
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากตลาดเปิดกลับมาซื้อขายแล้ว SET Index ลงไปต่อถึง -20% ก็จะทำให้ Circuit Breaker ครั้งที่ 2 ทำงาน โดยครั้งนี้จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว 1 ชั่วโมง
สาเหตุที่ SET ร่วงหนักจน Circuit Breaker
สำหรับสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเทขายอย่างหนักจนทำให้ มาตรการ Circuit Breaker ทำงานในครั้งนี้เกิดจากข่าวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งหลายคนน่าจะเห็นกันได้ทุกวัน
ไม่ว่าจะเป็น ปัญหา COVID-19 ที่เรื้อรังและรุนแรงมากขึ้น จนล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศให้ COVID-19 เป็น Global Pandemic หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกสูงกว่า 118,000 คน
การที่ Donald Trump ประกาศระงับการเดินทางจากยุโรปสู่สหรัฐฯ 30 วัน ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างกังวลถึงโอกาสที่สูงขึ้นของการถดถอยอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ปัญหาสงครามราคาน้ำมันของ OPEC กับประเทศรัสเซียที่ยังเกิดขึ้นก็ยังไม่ได้คลี่คลายแต่อย่างใด ซึ่งล่าสุดทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงอีก 5%