ตั๋วเงินคลัง คือ ตราสารหนี้รูปแบบหนึ่งที่ออกโดยรัฐบาล โดยตั๋วเงินคลังหรือ Treasury Bill จะเป็นการกู้เงินในระยะสั้นของรัฐบาล โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 เพื่อนำเงินมาบริหารนโยบายการคลังและเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นให้แก่ตลาดการเงินของประเทศ
พูดให้ง่ายกว่านั้น ตั๋วเงินคลัง หรือ Treasury Bill คือ การกู้เงินระยะสั้นของรัฐบาลจากประชาชน (ที่มาซื้อตั๋วเงินคลัง) โดยประชาชนที่ลงทุนในตั๋วเงินคลังก็คือเจ้าหนี้นั่นเอง
ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) จะเป็นการกู้เงินของรัฐบาลที่ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ด้วยการออกจำหน่ายตั๋วเงินคลัง โดยทั่วไปจะมีระยะเวลาไถ่ถอนอยู่ที่ 7 14 21 28 90 และ 180 วัน ซึ่งตามปกติมูลค่าที่ตราไว้ต่อหน่วยของ ตั๋วเงินคลัง คือ 1,000 บาท
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า ตั๋วเงินคลัง คือ ตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายให้กับประชาชนแบบหนึ่ง แต่ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) จะไม่ได้มีราคาเท่ากับราคาที่ถูกระบุเอาไว้หน้า ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) โดยราคาจะต่ำกว่าที่ระบุไว้ที่ตั๋วเงินคลัง
ผลตอบแทนของตั๋วเงินคลัง
ผลตอบแทนของตั๋วเงินคลัง คือ ส่วนต่างของราคาจากการที่ราคาที่ถูกระบุเอาไว้หน้าตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) จะมีราคาต่ำกว่าที่ระบุไว้ที่ตั๋วเงินคลัง โดยราคาที่ตราไว้หน้าตั๋วเงินคลังจะเป็นราคาสำหรับการไถ่ถอน (ขายคืน) ที่รัฐบาลที่เป็นผู้กู้จะต้องจ่ายคืนให้นักลงทุน
ตัวอย่างเช่น นาย A ลงทุนใน ตั๋วเงินคลัง อายุ 1 ปี ราคาหน้าตั๋วคือ 1,000 บาท โดยนาย A ซื้อมาด้วยราคา 900 บาท
หมายความว่าถ้านาย A ซื้อตั๋วเงินคลัง 1 หน่วยมาที่ 900 บาท เมื่อครบกำหนดนาย A จะได้เงินคืน 1,000 บาทตามที่ระบุเอาไว้หน้าตั๋วเงินคลัง ทำให้นาย A ได้กำไรจากการลงทุนดังกล่าว 100 บาท
พูดให้ง่ายกว่านั้น ผลตอบแทนจากการลงทุน ตั๋วเงินคลัง คือ ส่วนต่างราคาคล้ายกับการซื้อถูกขายแพง ในลักษณะของให้ยืมด้วยราคาที่ต่ำกว่าแต่คืนด้วยราคาที่สูงกว่า (ผู้ปล่อยกู้ได้ผลตอบแทนเป็นส่วนต่างราคา)
และจากการที่ให้ผลตอบแทนเป็นส่วนต่างของราคาที่นักลงทุนซื้อกับราคาหน้าตั๋ว (เรียกว่า Discount) ทำให้ตั๋วเงินคลังคือตราสารหนี้ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย (Zero Coupon Bond)
นอกจากนี้ อีกชื่อเรียกของตั๋วเงินคลังนอกจาก Treasury Bill คือ T-Bill
ข้อดีของ ตั๋วเงินคลัง
สภาพคล่องสูง เป็นการลงทุนระยะสั้นประมาณ 1-12 เดือน ทำให้โอกาสที่จะต้องเจอกับปัญหาต้นทุนจม (Sunk Cost) ต่ำกว่าตราสารหนี้รูปแบบอื่นๆ เนื่องจากได้เงินต้นคืนเร็วกว่ามาก
มีความมั่นคงสูง จากการที่ตั๋วเงินคลังเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังทำให้ความมั่นคงต่างกันไม่มาก ในขณะที่ ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าฝากเงินกับธนาคาร

ตัวอย่างหน้าตาของตั๋วเงินคลัง หรือ Treasury Bill (T-Bill) ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย bot.or.th
สำหรับต้นทุนของการลงทุนใน ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) จะมีอยู่ 2 ส่วนหลัก ๆ คือ
- ค่านายหน้า (Commission) ของผู้จำหน่ายตั๋วเงินคลังให้กับนักลงทุน
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% จากผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อลงทุนใน T-Bill
สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในตั๋วเงินคลัง (T-Bill) สามารถลงทุนได้ในกองทุนที่มีนโยบายในการลงทุนในตั๋วเงินคลัง อย่างเช่น กองทุนรวมระยะสั้น ที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากตั๋วเงินคลังมักจะไม่ค่อยได้เปิดขายให้กับรายย่อย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ตราสารหนี้ (Bond) แบบปกติที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยได้ที่บทความ ตราสารหนี้ คืออะไร? ตราสารหนี้มีกี่ประเภท