IFAS คืออะไร?
IFAS คือ ตารางสรุปการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน (Internal Factors Analysis Summary) โดยตาราง IFAS จะเกิดจากการนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ปัจจัยภายในที่ได้มาจากการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมืออะไรก็ตามมาสรุปลงในตาราง IFAS Matrix เพื่อเปรียบเทียบว่าปัจจัยภายในแต่ละด้านที่สำคัญไม่เท่ากันว่ามีผลกระทบและสำคัญมากน้อยแค่ไหนต่อธุรกิจ
โดยข้อมูลปัจจัยภายใน (Internal Factors) อาจได้มาจากเครื่องมือทางกลยุทธ์ อย่างเช่น VRIO, 7S Framework, และ SWOT Analysis
ซึ่งการวิเคราะห์ปัจจัยภายในอาจพบว่ามีปัจจัยภายในทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนที่ส่งผลต่อธุรกิจได้มากถึง 20 ปัจจัย (หรือมากกว่า) ทั้งปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจมากและน้อย
การใช้ IFAS Matrix คือสิ่งที่ช่วยจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยภายในที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจเหล่านั้นว่าปัจจัยใดส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่ธุรกิจจะหาทางใช้ประโยชน์ปัจจัยที่เป็นจุดแข็ง และปรับปรุงแก้ไขปัจจัยที่เป็นจุดอ่อน
ตาราง IFAS
ตาราง IFAS (Internal Factors Analysis Summary) คือ ตารางที่ประกอบได้ด้วย 5 คอลัมน์ (Column) ดังนี้:
คอลัมน์ที่ 1 – รายการปัจจัยภายใน (Internal Factors) ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน
คอลัมน์ที่ 2 – น้ำหนัก (Weight) ที่แสดงว่ารายการแต่ละรายการมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน โดยใส่เป็นเลขตั้งแต่ 0.00 (ไม่สำคัญ) ไปจนถึง 1.00 (สำคัญที่สุด) แต่ผลรวมของคอลัมน์ “น้ำหนัก” จะต้องเท่ากับ 1.00
คอลัมน์ที่ 3 – ระดับคะแนน (Rating) เป็นการให้คะแนน 1 ถึง 5 ตามดุลยพินิจของผู้วิเคราะห์ IFAS กรณีจุดอ่อนให้คิดว่าจาก 1-5 จุดอ่อนนี้มีผลต่อบริษัทมากแค่ไหนและรับมือได้ดีแค่ไหน ส่วนจุดแข็งจากคะแนน 1-5 จุดแข็งนี้มีผลมากแค่ไหน อยู่ในระดับไหนเมื่อเที่ยบกับคู่แข่งและบริษัทใช้ประโยชน์จากจุดแข็งได้มากแค่ไหน
คอลัมน์ที่ 4 – คะแนนรวม (Score) มาจากการนำเลขจาก “คอลัมน์น้ำหนัก x ระดับ”
คอลัมน์ที่ 5 – ข้อเสนอแนะ หากต้องการให้เหตุผลปัจจัยนั้น ๆ (อาจจะไม่ใส่ก็ได้)
จะเห็นว่ารูปแบบตาราง IFAS จะเหมือนกับตาราง EFAS โดยต่างกันเพียงแค่ข้อมูลที่อยู่ในตาราง
ตัวอย่าง IFAS Matrix
ตัวอย่าง ตาราง IFAS (Internal Factors Analysis Summary) ที่ได้จากวิเคราะห์ปัจจัยภายในของบริษัท Goods โดยสรุปข้อมูลปัจจัยภายในที่สำคัญต่อธุรกิจได้ดังนี้:

จากตาราง IFAS จะทำให้เห็นว่าบริษัทมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่สำคัญในเรื่องใดบ้าง และทำให้เห็นชัดเจนว่าตัวไหนเป็นเรื่องที่จะต้องปรับปรุงก่อนหลัง โดยบริษัทควรทำจุดอ่อนให้ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อทำให้เข้มแข็งขึ้น ในขณะที่ต้องรักษาจุดแข็งเอาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
จากตัวอย่างจะเห็นว่าจุดแข็งด้านการเป็นสินค้าธรรมชาติซึ่งตอบสนองเทรนด์ในปัจจุบันเป็นจุดแข็งที่สำคัญที่สุดของแบรนด์ ในขณะที่จุดอ่อนที่ต้องรีบแก้ไขที่สุดคือการจับตลาดหลายกลุ่มและการที่มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่หลากหลายเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น