ต้นทุนแฝง คืออะไร?
ต้นทุนแฝง คือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัยการผลิตแต่ปัจจัยการผลิตที่ใช้ไปไม่ได้ทำให้เกิดผลตอบแทนกลับมาเป็นเงิน หรือได้ผลตอบแทนกลับมาน้อยกว่าที่ควรจะเป็นแก่เจ้าของปัจจัยนั้น โดยปกติต้นทุนแฝง (Implicit Cost) มักจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวเพราะถูกมองข้ามเป็นเรื่องเล็กน้อยจึงไม่นำมารวมเป็นต้นทุน
Implicit Cost หรือ ต้นทุนแฝง เป็นต้นทุนที่ถ้าหากไม่สังเกตก็มักจะถูกมองข้ามว่าเกิดขึ้นอยู่จากการที่ไม่สามารถจับต้องได้ชัดเจน เพราะโดยปกติแล้วผู้ประกอบการมักจะเข้าใจว่า กำไร = รายได้ – ค่าใช้จ่ายที่คุณควักออกจากกระเป๋าเมื่อต้องการซื้อปัจจัยการผลิต (โดยเฉพาะรายการที่เขียนลงในบัญชีเป็นประจำ)
เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่มีใครเอะใจหรือใส่ใจกับ ต้นทุนแฝง (Implicit Cost) ที่ซ่อนอยู่ ต้นทุนแฝงเหล่านี้ก็จะไม่ถูกรับรู้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสที่จะทำให้กำไรของธุรกิจลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้นกลายเป็นต้นทุนในส่วนที่ไร้การวางแผนควบคุมต้นทุน
ทั้งนี้ต้นทุนแฝง (Implicit Cost) คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวเรา เช่น การใช้แรงงานคนในครอบครัวโดยไม่จ่ายค่าแรง การไม่รวมค่าไฟฟ้าในต้นทุนของผู้ที่ทำงานฟรีแลนซ์ การ Work From Home ที่บริษัทไม่ได้จ่ายค่าไฟฟ้าค่าอินเตอร์เน็ตให้คุณ หรือแม้กระทั่งการที่ทำงานรับเงินเดือนระดับเด็กจบใหม่แต่ขับรถยนต์ไปทำงานในระยะยาวก็ตาม
กล่าวคือ การมองข้ามต้นทุนแฝงทำให้เกิดต้นทุนที่มองไม่เห็น (Hidden Cost) ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้เพราะไม่มีใครสนใจต้นทุนที่เกิดขึ้น ดังนั้นวิธีลดต้นทุนแฝงฉบับรวบรัดและง่ายที่สุดคือการทำบัญชีอย่างละเอียด เพื่อหาว่าต้นทุนแฝงมาจากค่าใช้จ่ายในจุดไหนมากที่สุด
ปัญหาของต้นทุนแฝง
ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับ ต้นทุนแฝง (Implicit Cost) คือสิ่งที่กลายเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นเท่าไหร่ก็ได้อย่างไร้การควบคุม เพราะไม่มีใครรู้ว่าเกิดขึ้นหรือไม่สนใจว่าต้นทุนแฝงนั้นกำลังเกิดขึ้นจากการที่ต้นทุนแฝง ถูกมองเป็นเรื่องเล็กน้อย
เมื่อมองเป็นเรื่องเล็กน้อยและไม่มีการควบคุมต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้น หากโชคดีต้นทุนแฝงที่ว่าอาจเป็นมูลค่าเพียงเล็กน้อยจนไม่รู้สึกเอะใจว่าเงินหายไปไหน อย่างไรก็ตามหลายครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือแม้ว่าจะขายดีรายได้สูง แต่กำไรกลับไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าจะควบคุมการผลิตเป็นอย่างดี
ซึ่งเป็นผลจากการที่ต้นทุนอีกส่วนหนึ่งหมดไปกับเรื่องเล็กน้อยหลายเรื่องรวมกัน แต่ไม่ถูกรับรู้เป็นตัวเลขในบัญชี เพราะไม่ได้สนใจต้นทุนดังกล่าว
หรือในอีกกรณีคือทุกอย่างเกิดขึ้นปกติโดยไม่มีใครรู้สึกเสียประโยชน์ แต่สิ่งที่เสียไปคือ “เวลา” ตัวอย่างเช่น ในกรณีของการใช้คนในครอบครัว (สมมติว่าชื่อ A) ช่วยธุรกิจของครอบครัวโดยไม่ได้ให้ผลตอบแทน แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้น (ถ้าไม่นับว่าต้องการเรียนรู้งานของที่บ้าน) ได้แก่
- เวลาพักผ่อนของ A ลดลง
- เวลาอ่านหนังสือของ A ลดลง
- เวลาเล่นในวัยเด็กของ A ที่ลดลงหรือหายไป
- เวลาศึกษาเรื่องบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับ A หายไป
ไม่ว่าในกรณีดังกล่าว A จะชอบหรือไม่ จำเป็นต่อครอบครัวหรือไม่ ได้ประโยชน์กับ A หรือเปล่า สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ A มีต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Costs) เกิดขึ้นจากการแลกกับไม่ไปทำสิ่งอื่น
ตัวอย่าง ต้นทุนแฝงมีอะไรบ้าง?
โดยพื้นฐานแล้ว ต้นทุนแฝง คือต้นทุนที่เรามองข้ามและหลงลืมที่จะนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ จากตัวอย่างเหล่านี้วิธีที่ง่ายที่สุดคือ “ลองจินตนาการดูว่า หากไม่ใช้ประโยชน์ฟรีจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกเท่าไหร่”
การที่ไม่ได้รวมค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือนและค่าไฟที่ใช้ทำธุรกิจลงไปในต้นทุน ในการขายของออนไลน์ หรือผู้ที่ทำงานฟรีแลนซ์
ต้นทุนเกี่ยวกับการเดินทาง และการติดต่อสื่อสาร อย่างเช่น ค่าเดินทางไปพบลูกค้า ค่าเดินทางไปซื้อสินค้าเข้าร้าน ค่าเดินในการหาแหล่งวัตถุดิบตามที่ต้องการ และค่าโทรศัพท์ติดต่อลูกค้า ไม่ว่าจากพนักงานหรือเจ้าของกิจการที่ต้องควักเงินออกเองโดยไม่เบิกจากบริษัท
การใช้แรงงานของคนในครอบครัวโดยไม่จ่ายค่าแรงทั้งที่มีกำลังพอจะจ่ายได้ ที่พบเห็นได้บ่อย ในธุรกิจครอบครัวที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (เพราะจะบอกว่าให้เงินไปโรงเรียนเป็นค่าแรงก็ไม่ถูกเสียทีเดียว)
การใช้พื้นที่ที่มีอยู่แล้วในการดำเนินงาน ทำให้ไม่ต้องเสียค่าเช่าอย่างที่ควรจะต้องเสีย อย่างเช่น ที่ดินที่มีอยู่แล้วของผู้ที่เป็นเกษตรกร
การเลือกรับงานหนึ่งและไม่รับงานอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ทำให้เสียโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากงานที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ในลักษณะของค่าเสียโอกาส
ต้นทุนแฝงจากสินค้าล้าสมัย ในกรณีที่เก็บสินค้าเอาไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะสั่งมาเป็นจำนวนมากเนื่องจากได้ราคาถูกหรือฟรีค่าส่งก็ตาม เมื่อถึงจุดหนึ่งสินค้าที่เก็บไว้ตกรุ่นหรือไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก ก็จะเป็นที่จะต้องกำจัดสินค้า/วัตถุดิบล้าสมัยเหล่านั้นทิ้งโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

ต้นทุนแฝงจากการสต๊อกสินค้าไม่พอเหมาะ (ทั้งในกรณีที่เหลือและขาด) ตัวอย่างเช่น การที่ร้านอาหารสั่งวัตถุดิบมาเก็บไว้ในปริมาณที่มากเกินไปจนวัตถุดิบเหลือและเน่าเสียก็จะทำให้เสียเงินฟรีไปกับวัตถุดิบเน่าเสียเหล่านั้น ในขณะที่การสั่งวัตถุดิบมาน้อยเกินไปต้นทุนแฝงของร้านอาหารก็คือการเสียโอกาสในการขาย
ต้นทุนแฝงจากวัตถุดิบที่ดีเกินความจำเป็น เป็นเรื่องดีที่ธุรกิจคัดสรรแต่สิ่งที่ดีให้กับลูกค้า แต่ก็ไม่จำเป็นที่ทุกวัตถุดิบจะต้องดีที่สุดในสินค้าบางประเภท การใช้วัตถุดิบที่คุณภาพดีเกินไปสิ่งที่ตามมาคือราคาวัตถุดิบที่สูง เมื่อต้นทุนสูงขึ้นทั้งที่เป็นสินค้าที่ลูกค้าไม่ได้มองหาสินค้าคุณภาพสูงสุด ในกรณีดังกล่าว ต้นทุนแฝง (Implicit Cost) คือการใช้เงินไปกับวัตถุดิบที่ดีเกินความจำเป็นจนทำให้กำไรลดลง
การเปลี่ยนพนักงานบ่อย ทำให้ต้องเริ่มสอนงานใหม่ทุกครั้งที่มีพนักงานใหม่เข้ามาแทน ต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้นคือค่าเสียโอกาสในการใช้เวลาสอนงานไปทำงานอย่างอื่นที่สร้างมูลค่าให้กับบริษัท และการที่พนักงานคนดังกล่าวไม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้จนกว่าจะทำงานเป็น (ปัญหาไม่ได้อยู่ที่พนักงานใหม่ แต่ปัญหาอยู่ที่การเปลี่ยนงานบ่อยในตำแหน่งดังกล่าว)
วิธีลดต้นทุนแฝง
วิธีลดต้นทุนแฝง (Implicit Cost) ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานที่ง่ายที่สุดคือการไม่มองข้ามต้นทุนเล็กน้อยที่เกิดขึ้น ซึ่งเครื่องมือที่ง่ายที่สุดคือการทำบัญชีที่ละเอียดยิ่งขึ้น โดยใส่ทุกรายการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รู้สึกว่า “เป็นเรื่องเล็กน้อย” มากแค่ไหน
เมื่อทำการบันทึกบัญชีอย่างละเอียด ในกรณีที่คุณมีปัญหาเกิดขึ้นจากต้นทุนแฝงจริงคุณจะพบว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย และเมื่อคุณพบว่าต้นทุนเกินจำเป็นเหล่านี้เกิดจากอะไรขึ้นต่อไปคือการวางแผนลดต้นทุนแฝงที่ไม่จำเป็นออกไปให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ในกรณีของต้นทุนแฝง (Implicit Cost) ที่เกิดขึ้นจากสินค้าคงคลัง อาจแก้ไขได้ด้วยการจัดระเบียบวัตถุดิบและสินค้าคงคลังให้เหมาะกับธุรกิจ
ตัวอย่างเช่น ในธุรกิจที่สินค้าอาจกลายเป็นสินค้าล้าสมัยเมื่อเวลาผ่านไป อาจใช้การบริหารสินค้าและวัตถุดิบคงคลังแบบ First In First Out (FIFO) ที่วัตถุดิบอะไรเข้ามาก่อนก็จะต้องใช้ก่อน เพื่อป้องกันปัญหาต้นทุนแฝงจากการที่วัตถุดิบหมดอายุหรือกลายเป็นสินค้าล้าสมัยเนื่องจากไม่ถูกหยิบมาใช้