GreedisGoods » Business » ทฤษฎีผู้นำ 3 ประเภทของ Rodrigues

ทฤษฎีผู้นำ 3 ประเภทของ Rodrigues

by Kris Piroj
ทฤษฎีผู้นำ 3 ประเภท rodrigues ทฤษฎีภาวะผู้นำ Innovator Implementer Pacifier

ทฤษฎีผู้นำ 3 ประเภท คืออะไร?

ทฤษฎีผู้นำ 3 ประเภท คือ การแบ่งประเภทของผู้นำออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ นักคิดค้น (Innovator), นักปฏิบัติ (Implementer), และนักมนุษย์สัมพันธ์ (Pacifier) ซึ่งเกิดจากแบบสอบถามของ Rodrigues ในปี 1988 ซึ่งผู้นำแต่ละประเภทของ Rodrigues จะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน และเหมาะกับสถานะการณ์ภายในของบริษัทที่แตกต่างกัน

Rodrigues มีความเห็นว่าองค์กรต้องการผู้นำประเภทต่าง ๆ ในระยะต่าง ๆ ของการพัฒนาองค์กรที่แตกต่างกันไป ซึ่งตามปกติองค์กรต้องผ่านสามขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ขั้นตอนการแก้ปัญหา (Problem-solving Stage), ขั้นตอนการดำเนินการแก้ปัญหา (Implementation-of-Solution Stage), และขั้นที่องค์กรมีความมั่นคงแล้ว (Stable Stage)

ดังนั้น Rodrigues จึงเสนอทฤษฎีผู้นำ 3 ประเภทในองค์กรใด ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันขององค์กร ได้แก่

  • นักคิดค้น (Innovator)
  • นักปฏิบัติ (Implementer)
  • นักมนุษย์สัมพันธ์ (Pacifier)

ซึ่งผู้นำแต่ละประเภทตามทฤษฎีผู้นำ 3 ประเภทของ Rodrigues มีรายละเอียดและเหมาะกับพัฒนาการขององค์กรในแต่ละขั้น ดังนี้

นักคิดค้น (Innovator)

นักคิดค้น (Innovator) คือ ผู้นำที่มีความสามารถในการแข่งขัน และเป็นผู้นำที่มีความต้องการจะประสบความสำเร็จอย่างแรงกล้า ส่งผลให้ผู้นำประเภทนี้มีความกล้าได้ล้าเสีย มองการณ์ไกล ชอบคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆเพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งใหม่ ๆ เหล่านั้น

นอกจากนี้ อีกจุดเด่นของผู้นำประเภทนักคิดค้นคือเป็นผู้นำที่กล้าเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยทำมาอย่างยาวนานอีกด้วย

Rodrigues ระบุว่าผู้นำประเภทนักคิดค้น (Innovator) เหมาะกับองค์กรที่กำลังขยายหรือเพิ่งเริ่มก่อตั้งที่ภายในกิจการยังอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน และองค์กรที่ต้องการการแก้ปัญหาด้วยการหาแนวคิดใหม่ ผู้นำประเภทนักคิดค้นจะช่วยสร้างความกระตือรือร้นให้กับพนักงาน ทำให้พนักงานสนใจที่จะทำงาน

นักปฏิบัติ (Implementer)

นักปฏิบัติ (Implementer) คือผู้นำที่พยายามโน้มน้าวและควบคุมสถานการณ์ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตามเป้าหมาย ผู้นำประเภทนักปฏิบัติหรือ Implementer จะจัดการงานต่าง ๆ ด้วยการมอบหมายงาน เป็นผู้นำที่แก้ปัญหาด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินสถานการณ์ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

จะเห็นว่าผู้นำในลักษณะนี้จะเป็นผู้นำที่มีประสบการณ์พอสมควร ทำให้ผู้นำแบบนักปฏิบัติ (Implementer) เหมาะกับการสร้างความมั่นคงให้องค์กรให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน นอกจากนี้ ผู้นำประเภทนี้ยังเหมาะกับการนำแนวคิดใหม่ ๆ ที่เสนอโดย Innovator ไปใช้จริง

นักมนุษย์สัมพันธ์ (Pacifier)

นักมนุษย์สัมพันธ์ (Pacifier) คือ ผู้นำที่เป็นมิตรและเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ผู้นำประเภทนี้จะกระจายอำนาจการตัดสินใจและตัดสินใจเพิ่มเติมตามข้อเสนอแนะของทีม นิยมตัดสินใจในแบบที่ทุกฝ่ายสบายใจเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในองค์กร

โดยทั่วไปรูปแบบของผู้นำแบบนักมนุษย์สัมพันธ์ (Pacifier) จะเหมาะกับองค์การที่มั่นคงอยู่แล้ว หรือผู้นำแบบนักปฏิบัติ (Implementer) นำองค์กรเข้าสู่การทำงานอย่างเป็นระบบเรียบร้อยแล้ว

บทความที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด