GreedisGoods » Business » ทฤษฎี 2 ปัจจัยของ Herzberg (Two Factor Theory)

ทฤษฎี 2 ปัจจัยของ Herzberg (Two Factor Theory)

by Kris Piroj
ทฤษฎี 2 ปัจจัย Two Factor Theory คือ Herzberg

ทฤษฎี 2 ปัจจัย หรือ Two Factor Theory คืออะไร?

ทฤษฎี 2 ปัจจัย คือ ทฤษฎีแรงจูงใจในการทำงานที่พูดถึงสิ่งที่มีผลต่อแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานโดย Federick Herzberg ซึ่งแบ่งแรงจูงใจที่ทำให้พนักงานอยากและไม่อยากทำงานเป็น 2 หมวดหมู่ คือ ปัจจัยด้านแรงจูงใจ (Motivation Factors) และปัจจัยค้ำจุน (Maintenance Factors)

ทฤษฎี 2 ปัจจัย หรือ Two Factors Theory เป็นงานวิจัยของ Frederick Herzberg นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1959 โดยงานวิจัยของ Herzberg เป็นการกลุ่มตัวอย่างจากวิศวกรและนักบัญชี 200 คน

Federick Herzberg ได้สอบถามสิ่งที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างพอใจและไม่พอใจในการทำงาน ทำให้พบ 2 ปัจจัยที่เป็นจุดร่วมของแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานทั้งความพึงพอใจและไม่พึงพอใจในการทำงาน คือ ปัจจัยด้านแรงจูงใจ (Motivate Factors) และปัจจัยค้ำจุน (Maintenance Factors)

ปัจจัยด้านแรงจูงใจ  (Motivation Factors) คือ ปัจจัยที่เกี่ยวกับงานที่ทำโดยตรง

ปัจจัยค้ำจุน (Maintenance Factors) คือ ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงาน ซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวงานโดยตรง

อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มตัวอย่างมีเพียงนักบัญชีและวิศวกร ทำให้ทฤษฎี 2 ปัจจัย (Two Factors Theory) ถูกตั้งคำถามเรื่องกลุ่มตัวอย่างที่มีเพียง 2 อาชีพ ซึ่งอาจจะไม่ได้สะท้อนสภาพแวดล้อมการทำงานของอาชีพทั่ว ๆ ไป


ปัจจัยด้านแรงจูงใจ (Motivation Factors)

ปัจจัยด้านแรงจูงใจ (Motivation Factors) คือ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง ประกอบด้วย ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบ ความสำเร็จที่จะได้รับ และการมีส่วนร่วมกับงานที่ทำ โดย Herzberg ระบุว่างานที่ขาดปัจจัยด้านแรงจูงใจไม่ได้ทำให้พนักงานไม่แรงจูงใจในการทำงานแต่อย่างใด

เพียงแต่ว่างานที่มีปัจจัยด้านแรงจูงใจจะเป็นสิ่งที่จูงใจให้พนักงานทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อที่จะได้รับความสำเร็จและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพื่อตอบสนองความต้องการเป็นที่ยอมรับ ความสำเร็จ และความสำเร็จ ซึ่งตรงกับแนวคิดของทฤษฎีความต้องการทั้ง 5 ขั้นของ Maslow ในขั้นที่ 4 (และขั้นที่ 5)

ปัจจัยค้ำจุน (Maintenance Factors)

ปัจจัยค้ำจุน (Maintenance Factors) คือ ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับงานโดยตรง โดยในบางครั้งอาจเห็นปัจจัยค้ำจุน (Maintenance Factor) ถูกเรียกว่า ปัจจัยด้านสุขอนามัย (Hygiene Factors)

ตัวอย่างเช่น สิ่งแวดล้อมในการทำงาน ความสะดวกสบายในการทำงาน นโยบายการทำงานของบริษัท พฤติกรรมของหัวหน้างาน พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในที่ทำงาน ค่าตอบแทน ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกัน ระบบการให้ผลตอบแทน ฯลฯ

โดยทฤษฎี 2 ปัจจัยของ Herzberg ระบุว่า ปัจจัยค้ำจุน (Maintenance Factors) คือปัจจัยที่ทำให้พนักงานเกิดความพึงพอใจในการทำงานได้ แต่ไม่ได้มีผลมากพอที่จะจูงใจให้พนักงานต้องการทำงานได้ ไม่ได้ทำให้พนักงานอยากทำงานหนักขึ้น และไม่ได้จูงใจให้พนักงานทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ในทางกลับกันถ้าหากว่าในการทำงานขาดปัจจัยเหล่านี้ไป อาจทำให้พนักงานเกิดความไม่พอใจในการทำงานได้ อีกทั้งยังนำไปสู่การลาออกของพนักงาน ตัวอย่างเช่น การลาออกของพนักงานที่ไม่พอใจในลักษณะนิสัยของหัวหน้างาน

จากทฤษฎี 2 ปัจจัยจะเห็นว่าปัจจัยค้ำจุนเป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานไม่พอใจกับงานที่ทำได้นั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด