ทฤษฎี X และ ทฤษฎี Y
ทฤษฎี XY คือ แนวคิดของ Douglas McGregor ที่เผยแพร่ในหนังสือ The Human Side of Enterprise เมื่อปี 1960 โดยแนวคิดของทฤษฎีผู้นำ 2 ประเภทหรือที่รู้จักกันในชื่อ ทฤษฎี X และ ทฤษฎี Y คือแนวคิดที่เกี่ยวกับมุมมองในการบริหารของผู้นำ 2 รูปแบบที่แตกต่างกันตามมุมมองที่ผู้นำมีต่อพนักงาน
ทฤษฎีแรงจูงใจของ Douglas McGregor จะแบ่งพฤติกรรมของผู้นำออกเป็น 2 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎี X และ ทฤษฎี Y โดยทั้ง 2 ทฤษฎีจะต่างกันที่มุมมองของผู้นำต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน
ทฤษฎี X คือ มุมมองในเชิงลบแบบดั้งเดิม (Traditional View) ที่ผู้นำมองว่าโดยธรรมชาติแล้วพนักงานไม่ชอบทำงานและขาดแรงจูงใจในการทำงาน
ทฤษฎี Y คือ มุมมองในเชิงบวกต่อพนักงานที่เป็นแบบมนุษย์นิยม (Humanistic View) ซึ่งผู้นำมองว่าพนักงานทุกคนมีแรงจูงใจในการทำงานอยู่แล้ว และมีความต้องการทำงานเพื่อแลกกับผลตอบแทน
ซึ่งมุมมองที่แตกต่างกันของผู้นำทั้ง 2 ประเภทตาม ทฤษฎี X Y ของ McGregor จะส่งผลต่อวิธีการบริหารและการควบคุมพนักงานของผู้นำแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน
เลือกอ่านหัวข้อที่ต้องการ
ทฤษฎี X คืออะไร?
ทฤษฎี X คือ แนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์ไม่ชอบทำงาน ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง รักสบาย และเชื่อว่าพนักงานจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบถ้าหากสามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยพนักงานในแบบทฤษฎี X หรือ Theory X จะมีความทะเยอทะยานต่ำ แต่ต้องการเพียงความมั่นคงเท่านั้น
ลักษณะของแนวคิดแบบ ทฤษฎี X (Theory X):
- มุมมองแบบดังเดิม (Traditional View) เป็นมุมมองในเชิงลบ
- ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้ชอบการทำงาน
- พนักงานทำงานเพียงเพราะต้องการเงินและความมั่นคงเท่านั้น
- ไม่มีแรงจูงใจรวมถึงความทะเยอทะยานในการทำงาน รวมถึงความต้องการพัฒนาตนเอง
- มักเลี่ยงความรับผิดชอบถ้าหากสามารถทำได้
- ต้องใช้กฎ การบังคับ และการลงโทษเพื่อกระตุ้นให้ทำงาน
ส่งผลให้ผู้นำในทฤษฎี X เชื่อว่าพนักงานเหล่านี้ต้องถูกบังคับควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด และข่มขู่ด้วยการลงโทษจึงจะมีแรงจูงใจในการทำงานและสามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
โดย Douglas McGregor เชื่อว่าทฤษฎี X เป็นมุมมองพื้นฐานทั่วไปของผู้นำส่วนใหญ่ ทำให้หลังจากนั้น Douglas McGregor จึงได้มีการพัฒนาทฤษฎี Y หรือ Theory Y ขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองเชิงลบแบบเดิมของผู้นำ
ทฤษฎี Y คืออะไร?
ทฤษฎี Y คือ มุมมองที่เชื่อว่าพนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานและมองว่าการทำงานเป็นเหมือนการเล่นเกมรูปแบบหนึ่ง พนักงานมีความต้องการทำงานและแก้ปัญหาตามที่ได้รับมอบหมายเอาไว้ โดยมีแรงจูงใจคือผลตอบแทนจากการทำงาน
ลักษณะของแนวคิดแบบ ทฤษฎี Y (Theory Y):
- มุมมองแบบมนุษยนิยม (Humanistic View) เป็นมุมมองในเชิงบวก
- พนักงานต้องการทำงาน โดยมีเป้าหมายเป็นค่าจ้างและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
- พนักงานมีความรับผิดชอบและสามารถจัดการตนเองเพื่อทำให้งานเสร็จตามเป้าหมายได้
- พนักงานมีความทะเยอทะยานและต้องการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
- พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และต้องการแสดงความเห็น
- ไม่จำเป็นต้องใช้กฎเกณฑ์ที่รัดกุมและการบังคับเพื่อกระตุ้นให้พนักงานทำงาน
ผู้นำที่มีแนวคิดแบบทฤษฎี Y จึงไม่จำเป็นต้องบังคับหรือควบคุมอย่างจริงจังเพื่อให้คนเหล่านี้ทำงาน แต่ผู้นำที่มีแนวคิดแบบทฤษฎี Y มีหน้าที่เพียงมอบหมายงาน ให้คำแนะนำ และสร้างแรงจูงใจทางบวกให้พนักงานเหล่านี้เท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้นำที่มีมุมองต่อพนักงานในเชิงบวกแบบมนุษยนิยม (Humanistic View) ยังมักจะเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความเห็นและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน เนื่องจากผู้นำแบบทฤษฎี Y (Theory Y) เชื่อว่าพนักงานมีศักยภาพพอที่จะแก้ปัญหาได้
Source: Theory X and Theory Y Management Style