ทุนสำรองระหว่างประเทศ คืออะไร?
ทุนสำรองระหว่างประเทศ คือ สินทรัพย์ต่างประเทศที่ธนาคารกลาง (Central Bank) ของแต่ละประเทศถือครองและเป็นผู้จัดการ และสำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการ ทุนสำรองระหว่างประเทศ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) เพื่อนำเงินทุนเหล่านั้นมาใช้ตาม หน้าที่ของทุนสำรองระหว่างประเทศ
โดยทั่วไปหน้าที่ของทุนสำรองระหว่างประเทศ คือการนำมาใช้ชดเชยการขาดดุลการชำระเงิน และใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น การนำมาใช้ตรึงค่าเงินแบบปี 2540 และการนำมาใช้ค้ำประกันเวลาพิมพ์พันธบัตรรัฐบาล
นอกจากนี้ อีกหน้าที่ของทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการนำเงินมาใช้โดยตรงแต่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ มีไว้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศและสกุลเงินของประเทศนั้นว่ามีความมั่นคงจากการเกินดุล
สรุปแบบรวบรัด ทุนสำรองระหวางประเทศ เป็นทุนสำรองที่มีมากกว่าเงินที่ธนาคารกลาง (Central Bank) สำรองไว้ใช้เมื่อต้องการจะใช้จัดการเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน เหมือนกับการที่เราเก็บเงินจำนวนหนึ่งไว้สำหรับเรื่องฉุกเฉินหรือทำอะไรก็ตามเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน และใช้ในสร้างความน่าเชื่อถือ (แสดงออกว่ามั่นคง)
ทุนสำรองระหว่างประเทศ ประกอบด้วย อะไรบ้าง
ทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) คือสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางถือครอง แต่อย่างไรก็ตามเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ได้มีแค่เงินเท่านั้น โดยทั่วไปทุนสำรองจะประกอบด้วยสินทรัพย์ 4 ประเภท คือ
- ทองคำ (Gold)
- เงินสกุลต่างประเทศ (Foreign Exchange)
- สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights – SDR)
- สินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
สำหรับสกุลเงินต่างประเทศที่ใช้เป็น ทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) คือ เงินสกุลของประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและได้รับการยอมรับ ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ (USD), ยูโร (EUR), ปอนด์สเตอร์ลิง (GBP) และ เยน (JPY)
นอกจากนี้ ธนาคารกลาง (Central Bank) ยังมีการนำเงิน ทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) ส่วนหนึ่งไปซื้อสินทรัพย์บางอย่างเพื่อลงทุนให้เงินที่ถือไว้งอกเงย (แต่เป็นเงินแค่บางส่วน) แทนที่จะถือเงินไว้เฉยๆ อีกด้วย
ตัวอย่างเช่น การที่ธนาคารกลางนำเงินบางส่วนไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลของต่างประเทศ และการนำไปลงทุนซื้อหุ้น
ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย
สำหรับข้อมูล ทุนสำรองระหว่างประเทศไทย ในปัจจุบันสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT.or.th) ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) ของประเทศไทย
โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 ประเทศไทยมีสัดส่วนการถือครอองสินทรัพย์ที่อยู่ใน ทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) รวมทั้งสิ้น 205.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสัดส่วนในแต่ละสินทรัพย์ มีดังนี้
- เงินตราต่างประเทศและสินทรัพย์ (เงินฝาก ตราสารหนี้ และพันธบัตร) – 197 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 95.8%)
- ทองคำ (Gold) – 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 3.1%)
- เงินสำรองระหว่างประเทศ ที่ IMF – 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 1.1%)
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับธนาคารกลาง (Central Bank) และหน้าที่ของธนาคารกลางแบบละเอียดได้ที่บทความ ธนาคารกลาง คืออะไร? และหน้าที่ของธนาคารกลาง
ทุนสำรองระหว่างประเทศ มาจากไหน
International Reserve หรือ ทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นเงินทุนที่จะมาจากเงินที่ต่างชาตินำเข้ามาลงทุนในประเทศไทย (Fund Flow จากต่างชาติ) หรือจากการที่ต่างชาติซื้อสินค้าของไทย
พูดให้ง่ายกว่านั้น ทุนสำรองระหว่างประเทศ คือเงินได้มาจากการที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน การที่ไทยการส่งออกสินค้า และการที่มีต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย
จากทั้ง 3 กรณีชาวต่างชาติจำเป็นที่จะต้องแลกเงินจากเงินต่างชาติเป็นเงินบาทก่อนเพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าหรือลงทุนต่อไป ทำให้ไทยได้เงินสกุลต่างชาติมาเก็บไว้ ส่วนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนหรือมาเที่ยวก็จะได้เงินบาทที่แลกไปใช้
กรณีที่ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนก็จะแสดงอยู่ในส่วนของ ดุลบัญชีทุน (Capital Account)
ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการส่งออกจะแสดงอยู่ในส่วนของ ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account)
นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งที่เป็นที่มาของทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) คือผลตอบแทนจากการที่ธนาคารกลางได้นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามที่ได้อธิบายเอาไว้เมื่อตอนต้น
ทำไมไม่ใช้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
ทุกครั้งที่ไทยเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเงินไม่ว่าปัญหาเล็กหรือปัญหาใหญ่ เราจะได้เห็นความเห็นในลักษณะที่ว่า “ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเยอะแยะ ทำไมไม่เอาเงินมาช่วยประชาชน ทำไมไม่เอาเงินมาลงทุน” จากทั้งคนทั่วไปและคนที่เรียกตัวเองว่านักวิชาการ คำตอบคือ ทำไม่ได้
ถึงแม้ว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) คือการที่เงินออมของประเทศมีมากกว่าเงินลงทุน แต่ปัญหาอยู่ที่ เงินสํารองระหว่างประเทศ ที่มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่เงินออมที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้โดยไม่สร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจเศรษฐกิจของประเทศ
มาดูกันว่าทำไม? สมมติว่าประเทศไทยไม่มีการนำเข้า และมีการส่งออกมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หมายความประเทศไทยเกินดุล 100 ล้านดอลลาร์ แต่ผู้ส่งออกต้องการเงินบาทเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจการต่อไป ดังนั้นผู้ส่งออกก็จะนำเงินที่ได้มาแลกเป็นเงินบาทได้ไป 3 พันล้านบาทกับธนาคารพาณิชย์ (สมมติว่าอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท ต่อดอลลาร์)
เมื่อแบงก์ชาติซื้อเงินดอลลาร์ก้อนนี้จากธนาคารพาณิชย์ ทุนสํารองระหว่างประเทศ ก็จะเพิ่มขึ้น 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้แปลว่าธนาคารกลางมีเงินมากขึ้นหรือมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น เพราะธนาคารกลางเองก็ต้องนําเงิน 3 พันล้านบาทไปแลก
มาถึงตรงนี้ยังจำกันได้ใช่ไหมครับว่า ตอนแรกประเทศไทยเกินดุล 100 ล้านดอลลาร์จากการส่งออก
แต่เงิน 100 ล้านดอลลาร์ที่เกินมาก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะตอนนี้เงิน 100 ล้านดอลลาร์ไปอยู่ในมือผู้ส่งออก แต่อยู่ในรูปของเงินบาท 3 พันล้านบาท เมื่อผู้ส่งออกได้เงินมาแน่นอนว่าต้องนำไปใช้ ซึ่งตรงนี้เองคือจุดที่เงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ถูกแลกเป็นเงิน 3 พันล้านบาทได้เข้ามาหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยเรียบร้อยแล้ว
จากที่อธิบายมาทั้งหมด จะเห็นว่าถ้าหากเราดึงเงินสำรอง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐก้อนนั้นมาใช้ โดยไม่หาเงินมาแลก ก็จะเท่ากับว่ามีเงินงอกเข้ามาในระบบแบบงง ๆ อีก 100 ล้านดอลลาร์ฯ
การที่มีเงินเพิ่มเข้ามาในระบบขึ้นมาเฉยๆ ก็จะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) จากจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล อีกทั้งยังทำให้ความน่าเชื่อถือในสกุลเงินบาทจากมุมมองของต่างชาติลดลง โดยจะถูกมองว่าเป็นเงินที่พิมพ์ขึ้นมาตามใจ
อธิบายแบบคนที่รู้จักมาตรการ QE อยู่แล้วก็คือถ้าหากเราดึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ในการลงทุนของรัฐบาล ก็ไม่ต่างอะไรจากการที่ประเทศไทยทำ QE ซึ่งผลที่ตามมาก็อย่างที่ทุกคนเข้าใจเนื่องจากไทยไม่ใช่อเมริกา