GreedisGoods » Business » นวัตกรรม คืออะไร? Innovation หรือนวัตกรรม หมายถึงอะไรบ้าง

นวัตกรรม คืออะไร? Innovation หรือนวัตกรรม หมายถึงอะไรบ้าง

by Kris Piroj
นวัตกรรม คือ Innovation คือ ความหมายของ นวัตกรรม หมายถึง ตัวอย่าง นวัตกรรม ธุรกิจ

นวัตกรรม คืออะไร?

นวัตกรรม คือ สิ่งที่คิดค้นหรือประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่หรือทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ได้แก่ เทคโนโลยี ความคิด สิ่งประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ โดยสิ่งที่นับว่านวัตกรรมตามความหมายของนวัตกรรมหรือ Innovation เป็นได้ทั้งสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่หรือความคิดที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ถูกนำไปต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ นวัตกรรม (Innovation) คือสิ่งที่จะเป็นที่ยอมรับก็ต่อเมื่อมีผลในทางธุรกิจหรือเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือการเป็นที่ต้องการของตลาด ถ้าหากสิ่งนั้นไม่มีผลในทางธุรกิจหรือเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการใช้ก็จะถือว่าเป็นเพียงแค่ Prototype หรือสินค้าต้นแบบ เพราะความต้องการจะเกิดขึ้นเมื่อนวัตกรรม (Innovation) ใช้แก้ปัญหาได้จริง

สรุปให้ง่ายกว่านั้น นวัตกรรม คืออะไรก็ตามที่คิดค้นขึ้นมาใหม่หรือเกิดการต่อยอดประสิทธิภาพ (ทั้งความคิดและสิ่งของ) ซึ่งจะต้องมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาหรือ Pain Point บางอย่างที่มีอยู่แล้ว หรือตอบโจทย์ความต้องการบางอย่างที่เกิดขึ้นได้จริง

จะเห็นว่าการคิดค้นนวัตกรรมคือเรื่องที่มีรากฐานมาจากการคิดค้นทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ด้วยการสร้างอะไรบางอย่างหรือต่อยอดอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหานั่นเอง ซึ่งสามารถแบ่งองค์ประกอบของนวัตกรรมเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ความใหม่ (Newness) ที่เกิดจากการพัฒนาและองค์ความรู้
  2. ประโยชน์ในทางธุรกิจหรือประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ (Economic Benefit)

นวัตกรรม หมายถึงอะไร

นวัตกรรม หมายถึง ความคิดหรือสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่หรือเปลี่ยนแปลงปรับปรุงจากเดิมเพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่าง ถ้าหากเริ่มจากรากศัพท์ของคำว่านวัตกรรม และ Innovation

Innovation คือ คำภาษาอังกฤษที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า Innovare ในภาษาละติน แปลว่า การดัดแปลงหรือการทำสิ่งใหม่

และสำหรับภาษาไทยคำว่า นวัตกรรม คือ คำที่มาจากภาษาบาลี 3 คำ ได้แก่ นว (ใหม่) + อตต (ตนเองหรือตัวเอง) + กรรม (การกระทำ) ซึ่งเมื่อนำมาสมาสเป็นจะได้เป็นคำว่า นวัตกรรม หมายถึง การกระทำของตนเองใหม่ หรือ การทำบางอย่างให้เกิดสิ่งใหม่

โดยราชบัณฑิตยสภาได้ให้ความหมายของ นวัตกรรม หมายถึง การกระทำหรือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น (อ้างอิงจากราชบัณฑิตยสภา) ตัวอย่างเช่น การใช้อินเทอร์เน็ตประกอบการเรียนการสอน ถือว่าเป็น นวัตกรรมทางการศึกษา

นอกจากนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ยังได้ให้ความหมายของคำว่า Innovation หรือ นวัตกรรม คือ สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

ประเภทของนวัตกรรม

ประเภทของนวัตกรรมสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation), นวัตกรรมการผลิตหรือการดำเนินงาน (Process Innovation), และนวัตกรรมธุรกิจ (Business Innovation)

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) คือ การสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ หรือการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปรับเปลี่ยนดีไซน์ของสินค้า การปรับปรุงวัตถุดิบที่ใช้ผลิต และการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของสินค้า เป็นต้น

นวัตกรรมการผลิต หรือการดำเนินงาน (Process Innovation) คือ นวัตกรรมเกี่ยวกับการปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน การดำเนินงานรูปแบบใหม่ หรือวิธีการผลิตสินค้าที่มีวิธีการต่างออกไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น ระบบ Just In Time ของ Toyota ที่เปลี่ยนจากผลิตสินค้าจำนวนมาก มาเป็นผลิตสินค้าเท่ากับจำนวนการสั่งซื้อเท่านั้น

นวัตกรรมธุรกิจ (Business Innovation) คือ นวัตกรรมที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับองค์กร ได้แก่ การปรับวิธีการดำเนินงานขององค์กร รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ ซึ่งนวัตกรรมทางธุรกิจ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ภายในองค์กรนั่นเอง

โดยประโยชน์และเป้าหมายในทางธุรกิจของนวัตกรรม (Innovation) มีประเด็นอยู่บนพื้นฐานต่อไปนี้:

  1. การพัฒนาคุณภาพของสินค้าหรือบริการ
  2. การลดต้นทุนการผลิต
  3. พัฒนาขั้นตอนการผลิตและการดำเนินงาน
  4. การขยายขอบเขตทางธุรกิจ ด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อขยายตลาด

นวัตกรรมตัวอย่าง

มีความเข้าใจผิดที่ว่า Innovation หรือ นวัตกรรม หมายถึง เรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว นวัตกรรม (Innovation) เป็นสิ่งที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีระดับสูงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อาจเป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างการคิดค้นกระดาษโน๊ต Post It ของบริษัท 3M ก็ได้

แต่ก็ต้องยอมรับว่านวัตกรรมส่วนใหญ่ ที่เห็นและจับต้องได้คือเทคโนโลยี จึงเลี่ยงไม่ได้ที่คนส่วนใหญ่จะคิดว่านวัตกรรมเป็นเรื่องของเทคโนโลยี

ไม่ว่าคอมพิวเตอร์ Notebook ที่ลดขนาดลงจนพกพาได้ หรือ Smartphone ในปัจจุบันที่เป็นโทรศัพท์ที่พกพาง่ายขึ้นอีกทั้งยังทำอะไรได้หลากหลายมากกว่าการโทรเข้ารับสาย

กระดาษ Post-It

นวัตกรรมตัวอย่างที่พบได้บ่อย ๆ เมื่ออธิบายเรื่องของ นวัตกรรม คือ กระดาษ Post-It ที่เป็นนวัตกรรมจากบริษัท 3M ซึ่งเป็นเพียงกระดาษสีที่มีแถบกาวสำหรับจดโน๊ตด้วยจุดประสงค์อะไรก็ตาม ซึ่งประโยชน์หลักคือความสะดวก อีกทั้งยังสามารถแยกสีได้อย่างชัดเจนในประเด็นที่ต่างกัน

จะเห็นว่ารูปแบบการทำงานหรือวิธีการผลิตกระดาษโน๊ต Post It ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร แต่กลับทำให้หลายอย่างง่ายขึ้นอย่างมาก จากสิ่งที่กระดาษ Post-It สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

นวัตกรรม หมายถึง Innovation คือ นวัตกรรม ตัวอย่าง ความหมาย แปลว่า
Post It

AI และ Machine Learning

ตัวอย่างนวัตกรรม ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในปัจจุบัน คือ AI หรือ Machine Learning เพราะในปัจจุบันนวัตกรรม (Innovation) ประเภทหนึ่งที่อยู่ในแทบจะทุกวงการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเงิน การธนาคาร การลงทุน การแพทย์ ที่นำ AI มาใช้ประมวลผลเพื่อหาคำตอบในการแก้ปัญหาบางอย่าง

ตัวอย่างเช่น การใช้ AI เทรดหุ้น ค่าเงิน หรือตราสารทางการเงิน ที่นิยมใช้ในกองทุนต่างประเทศ ด้วยการใช้ AI ประมวลหาทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งทำให้สามารถเทรดด้วยทางเลือกที่ดีที่สุด แม่นยำที่สุด และไม่มีอารมณ์ร่วม (กรณีนี้หมายถึง AI ที่เป็น Machine Learning จริง ๆ ที่ใช้จริงในต่างประเทศ ไม่ใช่การแอบอ้างนำ Bot หรือ EA Trading มาโม้ว่าเป็น AI นะครับ)

กล้วยของ E-Mart ในประเทศเกาหลี

อีกนวัตกรรมง่าย ๆ ที่น่าสนใจ คือ นวัตกรรมของ E-Mart ซุปเปอร์มาร์เก็ตในประเทศเกาหลีใต้ได้ออกแบบแพคเกจของกล้วยหอมเพื่อแก้ปัญหากล้วยสุกเร็วเกินไปจนกินไม่ทัน โดยการขายกล้วยหอม 6 ลูก ซึ่งจะเรียงลำดับจากสุกไปหาดิบ (แทนที่จะมีแต่กล้วยสุกทั้งแพคตามปกติ)

ทำให้ลูกค้าที่ซื้อกล้วยไปจาก E-Mart ไม่ต้องกังวลว่ากล้วยจะสุกเร็วเกินไปจนกินไม่ทัน เพราะกล้วยหอมจะถูกเรียงจากซ้ายไปขวา จากสุกพร้อมทานไปหาดิบที่สุด ดังนั้นถ้าหากทานวันละลูกก็จะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 3 วัน

Facebook จัด Hackathon เพื่อหาไอเดีย

ในบริษัท Facebook จะมีการจัด Hackathon ให้กับพนักงานในองค์กร เพื่อประกวดหาไอเดียที่น่าสนใจจากพนักงานและนำมาใช้จริง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ Developer ที่สามารถเข้าร่วมได้ แต่พนักงานที่ไม่สามารถเขียนโปรแกรมได้ก็สามารถเข้าร่วมได้ 

โดยจุดประสงค์ของบริษัท Facebook คือการกระตุ้นให้พนักงานทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ค่อยได้ทำในชีวิตประจำวันและการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานที่อยู่ต่างแผนก จากตัวอย่างของ Facebook จะเห็นว่าเป็น นวัตกรรมทางธุรกิจ หรือ Business Innovation ที่ได้ทั้งการเชื่อมความสัมพันธ์ของพนักงาน ในขณะที่ Facebook ก็มีโอกาสซื้อไอเดียที่น่าสนใจไปใช้จริง

ตัวอย่าง นวัตกรรม ทั้งหมดจะเห็นว่าถ้าหากคุณมีไอเดียที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ หรือทำให้อะไร ๆ ดีขึ้นได้ และมีคนต้องการ (หรือขายได้) คุณเองก็สร้างนวัตกรรมได้เช่นกัน!

บทความที่เกี่ยวข้อง