GreedisGoods » Economics » พันธบัตรผลตอบแทนติดลบ คืออะไร? ทำไมนักลงทุนยังซื้อทั้งที่ติดลบ

พันธบัตรผลตอบแทนติดลบ คืออะไร? ทำไมนักลงทุนยังซื้อทั้งที่ติดลบ

by Kris Piroj
พันธบัตรผลตอบแทนติดลบ คือ Negative Bond Yield คือ พันธบัตรดอกเบี้ยติดลบ

พันธบัตรผลตอบแทนติดลบ คือ พันธบัตรที่ไม่ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยกับนักลงทุนที่ซื้อพันธบัตร ในทางกลับกันเมื่อถึงเวลาไถ่ถอนที่นักลงทุนควรจะได้เงินต้นคืนเต็มจำนวน นักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ (Negative Bond Yield) จะได้เงินคืนลดลง

โดยเงินต้น (เงินจำนวนที่นักลงทุนซื้อพันธบัตร) ที่นักลงทุนจะได้รับคืน จะลดลงเท่ากับอัตตราติดลบของพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ

ตัวอย่างเช่น รัฐบาลอังกฤษออกพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ ระยะเวลา 1 ปี อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย -0.003% ต่อปี ถ้าหากคุณซื้อพันธบัตรดังกล่าว 100 บาท เมื่อถึงเวลาไถ่ถอน (ครบ 1 ปี) คุณจะได้เงินคืนแค่ 99.007 บาทเท่านั้น

อธิบายให้ง่ายกว่านั้น พันธบัตรผลตอบแทนติดลบ คือ การนำเงินไปฝากไว้กับรัฐบาล (จริง ๆ คือให้รัฐบาลยืม) และเงินที่ฝากไว้ก็จะลดลงเรื่อยๆ ตามอัตราติดลบ

เหตุผลที่ทำให้นักลงทุนยังคงลงทุนในพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ (Negative Bond Yield) ทั้งที่การลงทุนพันธบัตรผลตอบแทนติดลบทำให้เงินต้นลดลงเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน มีอยู่ 4 เหตุผลในเบื้องต้น ได้แก่

  1. ซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ เพื่อนำไปเก็งกำไรในตลาดรอง
  2. คาดว่ารัฐบาลจะซื้อพันธบัตรคืน ในการทำ QE หรือ YCC ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
  3. ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
  4. ใช้พันธบัตรผลตอบแทนติดลบพักเงินสดแทนการฝากธนาคาร

กลไกของตลาดตราสารหนี้

พันธบัตรรัฐบาล คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง โดยการซื้อขายตราสารหนี้อย่างพันธบัตรรัฐบาลจะแบ่งออกเป็น 2 ตลาดคือ ตลาดแรก (Primary Market) และ ตลาดรอง (Secondary Market)

ตลาดแรก (Primary Market) คือ การขายตราสารหนี้ออกใหม่ให้กับนักลงทุนเป็นครั้งแรก

ตลาดรอง (Secondary Market) คือ ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารหนี้ ที่นักลงทุนจะนำตราสารหนี้มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน (แน่นอนว่าตราสารหนี้เคยเป็นตราสารหนี้ตลาดแรกมาก่อน)

กลไกราคาในตลาดตราสารหนี้ก็ไม่ได้ต่างจากตลาดหุ้นที่นักลงทุนจะมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ถ้าหากดอกเบี้ยที่เป็นผลตอบแทนของพันธบัตรออกใหม่สูงกว่าพันธบัตรที่มีอยู่ในตลาด ราคาของพันธบัตรเก่าก็จะลดลง ในทางกลับกันถ้าหากดอกเบี้ยของพันธบัตรออกใหม่ต่ำกว่าพันธบัตรที่มีอยู่ในตลาด ราคาของพันธบัตรเก่าก็จะเพิ่มสูงขึ้น


ซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบทำไม

เหตุผลที่ทำให้นักลงทุนยังคงซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ (Negative Bond Yield) ทั้งที่การลงทุนพันธบัตรผลตอบแทนติดลบทำให้เงินลดลงเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน (กำหนดคืนเงินให้กับนักลงทุน) ในเบื้องต้นแบ่งเป็น 4 กรณี คือ

  1. ซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ เพื่อนะไปใช้เก็งกำไรในตลาดรอง
  2. คาดว่ารัฐบาลจะซื้อพันธบัตรกลับไป ในการทำ QE ที่เกิดขึ้นในอนาคต
  3. ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด
  4. ใช้พักเงินสดแทนการฝากธนาคาร

กรณีที่ 1 นักลงทุนซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบเพื่อใช้เก็งกำไรในตลาดรอง เพราะมองว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในอนาคตจะติดลบมากกว่านี้ ทำให้พันธบัตรผลตอบแทนติดลบในปัจจุบันจะกลายเป็นผลตอบแทนที่มีค่ามากกว่าในอนาคต

ตามที่ได้อธิบายในหัวข้อกลไกของตลาดตราสารหนี้ การที่พันธบัตรออกใหม่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าจะทำให้ราคาพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบน้อยกว่าในตลาดรองมีราคาสูงขึ้น ตามความต้องการที่มากขึ้นของนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจะสามารถทำกำไรจากกรณีนี้ได้ก็ต่อเมื่อขายพันธบัตรได้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน หรือในอีกกรณีคือรัฐบาลประเทศนั้นทำประกาศทำ Quantitative Easing (QE) หรือ Yield Curve Control (YCC) แล้วซื้อพันธบัตรกลับไปในราคาที่สูงกว่า

กรณีที่ 2 คล้ายกับกรณีแรก แต่กรณีนี้คือกรณีที่นักลงทุนคาดว่ารัฐบาลจะซื้อพันธบัตรกลับไปในการทำ QE ในอนาคต และคาดว่ารัฐบาลจะซื้อพันธบัตรกลับไปในราคาที่สูงกว่า

เงื่อนไขของกรณีนี้จะคล้ายกับในกรณีแรก นักลงทุนจะทำกำได้ได้ก็ต่อเมื่อขายพันธบัตรให้กับนักลงทุนที่ต้องการได้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน และรัฐบาลประเทศนั้น QE แล้วซื้อพันธบัตรกลับไปในราคาที่สูงกว่า

กรณีที่ 3 ใช้พันธบัตรผลตอบแทนติดลบป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อติดลบหรือเงินฝืด ที่อาจเกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการที่เงินฝืด (Deflation) ที่จะส่งผลให้มูลค่าของเงินในอนาคตเพิ่มขึ้น (เงินเท่าเดิม ซื้อได้มากขึ้น) ซึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาสินค้าที่ลดลงเพราะไม่มีใครต้องการซื้อสินค้า เพราะไม่มีเงินซื้อและไม่ต้องการใช้เงิน

ในกรณีนี้ แม้ว่านักลงทุนจะได้เงินกลับมาน้อยกว่าเงินต้นที่ซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบเมื่อถึงเวลาไถ่ถอน (ตามผลตอบแทนที่ติดลบ) แต่มูลค่าของเงินที่ได้กลับมา ณ เวลานั้นก็จะมีค่ามากกว่าเดิม (ซื้อของได้มากกว่าเดิม ด้วยเงินเท่ากัน) จากผลของภาวะเงินฝืด

กรณีที่ 4 ใช้พักเงินสดแทนการฝากธนาคาร เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง ส่งผลให้การลงทุนอื่น อย่างเช่น ตราสารหนี้ภาคเอกชน มีโอกาสทำให้เงินลงทุนกลายเป็น 0 ในกรณีที่บริษัทล้มละลายจากผลกระทบของเศรษฐกิจ

การถือเงินสดหรือการนำเงินไปฝากธนาคารเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงมากสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ที่มีเงินมากกว่าหลักร้อยล้านพันล้าน

เพราะในภาวะเศรษฐกิจถดถอยธนาคารเองก็มีโอกาสที่จะล้มละลาย การที่ธนาคารล้มหมายความว่าเงินจำนวนดังกล่าวอาจกลายเป็น 0 หรือเหลือเท่ากับที่กฎหมายคุ้มครองเพียงไม่กี่ล้าน (ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ)

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก: Investopedia, WallStreet Journal, Forbes

บทความที่เกี่ยวข้อง