GreedisGoods » Investment » พันธบัตร คืออะไร? พื้นฐานการลงทุนในพันธบัตร

พันธบัตร คืออะไร? พื้นฐานการลงทุนในพันธบัตร

by Kris Piroj
พันธบัตร คือ Bond คือ การลงทุน พันธบัตร ความเสี่ยง

การลงทุนในพันธบัตรเป็นหนึ่งที่นักลงทุนได้ยินบ่อย ๆ โดยเฉพาะในข่าวเศรษฐกิจและการลงทุน แต่พันธบัตร (Bond) กลับเป็นการลงทุนที่ดูเหมือนจะไกลตัวนักลงทุนทั่วไป ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกันว่า พันธบัตร คืออะไร? ให้ผลตอบแทนอย่างไร และมีอะไรน่าสนใจ

เลือกอ่านหัวข้อที่ต้องการ

พันธบัตร คืออะไร?

พันธบัตร คือ ตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่ออกโดยรัฐบาล เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นตราสารที่แสดงความเป็นเจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนสัญญาระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยผู้ที่ออกขายพันธบัตรมีฐานะเป็นลูกหนี้ และนักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้

โดยพันธบัตรจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

  • พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล เรียกว่า พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond)
  • พันธบัตรที่ออกโดยภาคเอกชน เรียกว่า หุ้นกู้ (Corporate Bond) หรือ ตราสารหนี้ภาคเอกชน

การลงทุนในพันธบัตร (Bond) คือ การที่ผู้ลงทุนนำเงินไปให้บริษัทหรือรัฐบาลกู้ยืม (ซื้อพันธบัตร) โดยผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในพันธบัตร (เรียกว่า Coupon Rate)

ความเสี่ยงของการลงทุนในพันธบัตร คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ เหมือนกับการให้กู้ยืมเงินทั่วไป โดยพันธบัตรรัฐบาลถือเป็นพันธบัตรประเภทที่มีโอกาสนัดชำระหนี้น้อยที่สุด เนื่องจากโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลคือการที่ประเทศล่มสลายหรือใช้เงินจนหมดคลังจนไม่สามารถจ่ายหนี้ ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก

แต่สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond) หรือพันธบัตรที่ออกโดยภาคเอกชนจะมีความเสี่ยงที่สูงกว่า เนื่องจากสามารถผิดนัดชำระหนี้ได้ง่ายกว่า โดยความเสี่ยงของตราสารหนี้หรือพันธบัตรเหล่านี้จะถูกจัดอันดับความเสี่ยงด้วย Credit Rating ที่จะแบ่งความเสี่ยงของ Corporate Bond ตามโอกาสผิดนัดชำระหนี้ (ยิ่งเสี่ยงยิ่งให้ผลตอบแทนสูง)

หมายเหตุ: คำว่า “พันธบัตร” เฉย ๆ มักจะเป็นคำที่ใช้เรียกพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) เป็นหลัก


ซื้อพันธบัตรจากไหน?

พันธบัตรรัฐบาล มี 2 ตลาดคล้าย ๆ กับตลาดของหุ้นคือ ตลาดแรก (Primary Market) และ ตลาดรอง (Secondary Market)

ตลาดแรก (Primary Market) คือ ตลาดที่เป็นตลาดสำหรับซื้อขายพันธบัตรออกใหม่ แต่พันธบัตรที่ขายในตลาดแรกจะเสนอขายให้แต่กับนักลงทุนบางประเภทเท่านั้น ซึ่งโดยมากเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีพอร์ตการลงทุนระดับหลายล้าน

ตลาดรอง (Secondary Market) คือ ตลาดกลางสำหรับการซื้อและขายพันธบัตรที่ก่อนหน้านี้ได้ถูกซื้อขายในตลาดแรกมาแล้ว โดยตลาดรองจะมี สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ และนายหน้าค้าหลักทรัพย์ เป็นตัวกลางการซื้อขายพันธบัตร

ซื้อพันธบัตร ได้จากไหน? คำตอบก็จะขึ้นอยู่กับว่าพอร์ตของคุณใหญ่ขนาดไหน

ถ้าพอร์ตคุณใหญ่คุณต้องการซื้อเป็นมูลค่าที่สูงและตรงตามเงื่อนไขคุณก็จะสามารถซื้อที่ตลาดแรกได้ แต่ถ้าคุณเป็นรายย่อยก็จะต้องซื้อจากตลาดรองนั่นเอง หรือในอีกกรณีคือซื้อกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้หรือพันธบัตรที่คุณต้องการ (ซึ่งวิธีนี้ใช้เงินน้อยกว่ามาก)


ซื้อพันธบัตรต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

การลงทุนในพันธบัตร โดยทั่วไปสิ่งที่ต้องพิจารณาในการซื้อพันธบัตร ก็จะเหมือนกับการเลือกซื้อตราสารหนี้ทั่วไป ได้แก่เงื่อนไขดังนี้

  1. ระยะเวลาของพันธบัตร (ให้กู้นานแค่ไหน)
  2. อัตราดอกเบี้ย (ผลตอบแทนเท่าไหร่)
  3. ช่วงเวลาในการจ่ายดอกเบี้ย (จ่ายดอกเบี้ยทุกกี่เดือน)
  4. ระดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating (โอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงหรือไม่)

หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือพิจารณาว่า ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ และ โอกาสโดนเบี้ยวหนี้มากพอหรือไม่ (และสมเหตุสมผลกับผลตอบแทนไหม)

นอกจากนี้ การลงทุนในพันธบัตรยังมีอีกสิ่งที่ควรระวังคือสภาพคล่องผู้ลงทุนเอง เนื่องจากระยะเวลาไถ่ถอนของพันธบัตรค่อนข้างที่จะนาน (ปกติจะอยู่ที่ประมาณ 3 5 หรือ 10 ปี) ทำให้นักลงทุนเสียโอกาสในการนำเงินไปใช้จ่ายหรือลงทุนกับสินทรัพย์อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง