GreedisGoods » Finance » ภาษีครึ่งปี คืออะไร? ใครต้องยื่นภาษีครึ่งปี

ภาษีครึ่งปี คืออะไร? ใครต้องยื่นภาษีครึ่งปี

by Kris Piroj
ภาษีครึ่งปี คือ ยื่น ภาษีเงินได้ ครึ่งปี

ภาษีครึ่งปี คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด 94) เป็นภาษีเงินได้ที่จะเรียกเก็บจากบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 ในเดือนมกราคม – มิถุนายนของปีภาษีนั้น มากกว่า 60,000 บาทขึ้นไป (120,000 บาทสำหรับผู้ที่มีคู้สมรส)

โดยการ ยื่นภาษีครึ่งปี ผู้มีเงินได้ที่มีหน้าที่ เสียภาษีครึ่งปี จะต้องนำรายได้ในส่วนที่ต้องจ่ายภาษีครึ่งปี (รายได้จากเงินได้ประเภทที่ 5 ถึง 8) มาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อยื่นภาษีครึ่งปี (ยื่น ภ.ง.ด. 94) ภายในเดือนกรกฎาคม – กันยายนของปีภาษีเดียวกัน และชำระภาษีในกรณีที่มียอดที่ต้องจ่าย

อธิบายให้ง่ายกว่านั้น ภาษีครึ่งปี คือ ภาษีที่คนทั่วไปที่มีรายได้จากเงินได้ประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 ภายในครึ่งปีแรกรวมกันมากกว่า 60,000 บาท (120,000 บาทในกรณีคู่สมรส) โดยผู้ที่เข้าเงื่อนไข “ทุกคน” จะต้อง ยื่นภาษีครึ่งปี แม้ว่าคำนวณภาษีออกมาแล้วไม่มียอดที่ต้องจ่ายก็ตาม

นอกจากนี้ เมื่อถึงสิ้นปีผู้ที่ ยื่นภาษีครึ่งปี ก็จะต้องนำรายได้ทั้งปีมาคำนวณภาษีอีกครั้งสำหรับยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ (ภ.ง.ด. 90) เพื่อชำระส่วนที่เหลือ หรือขอคืนภาษีในกรณีที่ภาษีที่คำนวณทั้งปีออกมาน้อยกว่าที่จ่ายไปเมื่อตอนครึ่งปีแรก

ข้ามไปที่หัวข้อที่ต้องการอ่าน

ใครต้องยื่นภาษีครึ่งปี

ผู้ที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี คือ คนทั่วไปที่มีรายได้เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน ของปีภาษีนั้น โดยมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าเกณฑ์ที่กรมสรรพากรได้กำหนดเอาไว้

  • กรณีโสด ต้องมีรายได้ตั้งแต่ 60,000 บาท
  • กรณีแต่งงาน ต้องมีรายได้รวมกันตั้งแต่ 120,000 บาท

และเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 มาตรา 40(5) ถึงประเภทที่ 8 มาตรา 40(8) ตามประมวลรัษฎากร โดยเงินได้พึงประเมินทั้ง 4 ประเภทที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นภาษีครึ่งปี มีรายละเอียดในเบื้องต้น ดังนี้

เงินได้ประเภทที่ 5 คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อ/ขาย/เช่าซื้อ เช่น เงินจากให้เช่าบ้าน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รถยนต์ และทรัพย์สินอื่นๆ

เงินได้ประเภทที่ 6 คือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ (ไม่ใช่ฟรีแลนซ์) ประกอบด้วย การประกอบโรคศิลป์ (แพทย์/พยาบาล), นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลปกรรม

เงินได้ประเภทที่ 7 คือ รายได้จากค่าจ้างรับเหมา

เงินได้ประเภทที่ 8 คือ รายได้อื่นที่ไม่ได้จัดอยู่ในประเภท 1 – 7 ตัวอย่างเช่น รายได้จากการพาณิชย์, เกษตร, ค่าจ้างนักแสดง, ขายของออนไลน์, เปิดร้านเสริมสวย, รับจ้างทั่วไป, นักกีฬาอาชีพ (รวมถึงนักกีฬา eSport), กำไรจากการขายกองทุน, เงินรางวัลจากสลากกินแบ่งรัฐบาล, YouTuber (ที่ไม่ได้จดบริษัท), Blogger (เงินจากการจ้างรีวิวและจาก AdSense) และ Streamer เป็นต้น

สามารถอ่านรายละเอียดของเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท แต่ละประเภทแบบละเอียดได้ที่ – เงินได้พึงประเมิน คือ อะไร?

ภาษีครึ่งปี คือ อะไร ยื่นภาษีครึ่งปี ภายใน ภงด 94 คือ
รายได้ที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี (บุคคลธรรมดา)

ถ้ามีทั้งรายได้ที่ต้องเสียและไม่ต้องเสียภาษีครึ่งปี

ในกรณีที่คุณมีทั้งรายได้ที่ต้อองเสียภาษีครึ่งปี และ ไม่ต้องเสียภาษีครึ่งปี ให้คำนวณรายได้ที่มาจากเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ถึง 8 ที่ต้องเสียภาษีครึ่งปีเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น คุณทำงานเป็นพนักงานเงินเดือน (เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1) แต่คุณก็ขายของออนไลน์ด้วย (เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8) คุณก็จะต้องคำนวณภาษีครึ่งปี เฉพาะส่วนเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 เท่านั้น (เฉพาะเงินจากการขายของออนไลน์)

ใครไม่ต้องเสียภาษีครึ่งปี

สำหรับผู้ที่ไม่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี หรือ ภาษีครึ่งปี คือ บุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1,2,3 และ 4 เท่านั้น ได้แก่

  • พนักงานเงินเดือน
  • Freelance
  • เงินได้จากค่า Goodwill (เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา)
  • เงินได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล

ถ้าหากว่ารายได้พึงประเมินของคุณวนเวียนอยู่ใน 4 ประเภทนี้เท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับประเภทที่ 5 ถึง 8 เลย เท่ากับว่าคุณ ไม่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี และสามารถรอยื่นภาษีสิ้นปีทีเดียวได้เลย


วิธีคำนวณภาษีครึ่งปี

การคำนวณภาษีครึ่งปี สำหรับการยื่นภ.ง.ด. 94 จะใช้วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ (รวมถึงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ) เพียงแต่การหักค่าลดหย่อนภาษีในบางรายการจะแตกต่างไปจากกรณีปกติที่เป็นการคำนวณภาษีเต็มปี

ค่าลดหย่อนในบางรายการจะสามารถลดหย่อนภาษีได้ครึ่งหนึ่งจากเต็มปี ในบางรายการสามรถลดหย่อนได้เหมือนเต็มปี แต่ในบางรายการจะไม่สามารถลดหย่อนได้ในการยื่นภาษีครึ่งปี

ตัวอย่างเช่น จากปกติค่าลดหย่อนส่วนตัวจะลดหย่อนได้ 60,000 บาทในกรณีที่คุณคำนวณภาษีแบบเต็มปี แต่ในการคำนวณภาษีครึ่งปี คุณจะหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้เพียง 30,000 บาทเท่านั้น

ลดหย่อนภาษีได้ครึ่งเดียว

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)
  • คู่สมรสไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้เฉพาะประเภท 1 – 4 ลดหย่อนได้ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)
  • คู่สมรสมีเงินได้ประเภท 5 – 8 ถ้ายื่นภาษีรวมกัน ลดหย่อนส่วนตัวได้ 30,000 บาท และหักลดหย่อนคู่สมรสของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
  • คู่สมรสมีเงินได้ประเภท 5 – 8 ถ้าแยกยื่นภาษีครึ่งปี ลดหย่อนส่วนตัวได้คนละ 30,000 บาท แต่ลดหย่อนส่วนของคู่สมรสอีกไม่ได้
  • ค่าเลี้ยงดูบุตร คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)
  • ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)
  • ค่าเลี้ยงดูบิดามารดาคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)
  • ค่าเลี้ยงดูผู้พิการหรือทุพพลภาพ คนละ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

ลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริงในครึ่งปี (ลดหย่อนสูงสุดน้อยกว่าเต็มปี)

  • ลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 95,000 บาท
  • ลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท ลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 5,000 บาท
  • ลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนที่เกิน 10,000 บาท ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 90,000 บาท

ลดหย่อนได้เท่ากับเต็มปี

  • ซื้อกองทุน SSF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีครึ่งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • ซื้อกองทุน RMF, กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีครึ่งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีครึ่งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินลงทุนใน RMF, เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ, และกองทุนครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
  • บริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
  • บริจาคทั่วไป ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “รายการค่าลดหย่อนภาษี” แบบละเอียดได้ที่ – ค่าลดหย่อนภาษี คืออะไร? มีอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณไม่เข้าใจวิธีคำนวณก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด เพราะในการยื่นภาษีครึ่งปี หรือ การยื่น ภ.ง.ด. 94 คุณเพียงแค่ใส่ข้อมูลตามจริง จากนั้นระบบก็จะคำนวณให้คุณเรียบร้อย


ยื่นภาษีครึ่งปีภายในวันที่เท่าไหร่

ตามปกติระยะเวลาสำหรับ ยื่นภาษีครึ่งปี หรือ ภ.ง.ด. 94 คือ เดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน ในปีภาษีนั้น ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/ หรือที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม กำหนดเวลาอาจมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยในส่วนของวันที่ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ได้เป็นวันสุดท้าย โดยสามารถตรวจสอบระยะเวลายื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) อีกครั้งได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรในแต่ละปีภาษี

นอกจากนี้ เมื่อถึงสิ้นปีผู้ที่ ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ไปแล้วเมื่อกลางปี จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี (ทั้งปี) อีกครั้งตามปกติ เพื่อชำระภาษีในส่วนที่เหลือหรือครึ่งปีหลัง โดยจะต้องนำรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน มาคำนวณภาษีเต็มปีอีกครั้งเพื่อยื่นภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90 ซึ่งจะทำการหักลบภาษีที่จ่ายไปแล้วเมื่อครั้งที่ยื่นภ.ง.ด. 94 เมื่อตอนที่ยื่นภาษีครึ่งปี เพื่อชำระภาษีในส่วนที่เหลือ

ตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณยื่นภาษีครึ่งปีไปแล้ว 6,000 บาท แต่เมื่อถึงสิ้นปีคุณคำนวณภาษีทั้งปัต้องจ่ายทั้งหมด 9,500 บาท ดังนั้นภาษีที่คุณต้องจ่ายเพิ่มตอนสิ้นปี ในการยื่น ภ.ง.ด. 90 คือ 3,500 บาทที่เหลือ

ในทางกลับกัน ถ้าหากคำนวณภาษีทั้งปีออกมาได้ต่ำกว่าที่จ่ายไปเมื่อตอนยื่นภาษีครึ่งปี ก็จะสามารถขอคืนภาษีส่วนที่ชำระเกินไปได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณยื่นครึ่งปีไปแล้ว 6,000 บาท แต่เมื่อถึงสิ้นปีแล้วคำนวณได้ 2,000 บาท คุณก็จะสามารถขอคืนภาษีส่วนที่เกินไป 4,000 บาทได้นั่นเอง


คำถามเกี่ยวกับภาษีครึ่งปี

รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) และ การยื่นภาษีครึ่งปี พร้อมกับคำตอบของคำถาม

ใครต้องยื่นภาษีครึ่งปี?

ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5,6,7 และ 8 ถึงเกณฑ์ที่กำหนดในเดือนม.ค. – มิ.ย.

ต้องยื่นภาษีครึ่งปี ภายในวันไหน?

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีเปิดให้ยื่นในช่วง เดือนกรกฎาคม – กันยายน ของทุกปี

พนักงานเงินเดือนต้องยื่นภาษีครึ่งปีไหม?

พนักงานเงินเดือน ที่ได้เงินจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี

ยื่นภาษีครึ่งปี ได้ที่ไหน?

สามารถยื่นภาษีครึ่งปีได้ที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ หรือทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

สำหรับใครที่สงสัยว่า ถ้าหากยื่นภาษีครึ่งปีช้าหรือไม่ยื่นจะเป็นอะไรหรือไม่ คำตอบคือ “เป็น” ถ้าหากว่าต้องยื่นภาษีครึ่งปี แต่กลับไม่ได้ยื่นหรือยื่นช้าจะมีค่าปรับเป็นเงินเพิ่ม 1.5% ของภาษีที่ค้างจ่าย/เดือน + โทษปรับ 2,000 บาท

นอกจากนี้ แม้ว่าคุณคำนวณภาษีครึ่งปีออกมาแล้วพบว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษี (คำนวณแล้วได้ภาษีครึ่งปีเป็น 0) คุณก็ยังจำเป็นที่จะต้องยื่นภาษี แต่คุณจะไม่ต้องจ่ายภาษีแต่อย่างใด

อ้างอิงข้อมูลจาก:

ข้อมูลอัพเดทครั้งสุดท้าย (Last Modified) วันที่ 6 กันยายน 2563

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด