ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก แบบใหม่ 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2562 หรือก็คือตอนนี้ที่กำลังอ่านอยู่ มาดูกันว่า ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 2562 มีอะไรที่ต้องรู้ และอะไรที่หลายคนเข้าใจผิดบ้าง??
ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก จริง ๆ มีมานานแล้ว เพียงแต่มีการยกเว้น ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ในส่วนของ อัตราดอกเบี้ย 20,000 บาทแรกของทุกบัญชีของคุณรวมกัน ทำให้ในความเป็นจริงถ้าเงินฝากคุณไม่เยอะมากระดับ 4 หรือ 5 ล้านขึ้นไป คุณก็ไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากนี้อยู่แล้ว
และถ้าหากว่าคุณได้ ดอกเบี้ยเงินฝาก เกิน 20,000 บาท ส่วนที่เกินจะถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
ปัญหาของ ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ที่ทำให้ต้องมีการอัพเดทในต้นเดือนเมษายนปี 2562 คือมีการนำช่องว่างไปใช้ในการเลี่ยงภาษีของรายใหญ่ที่ทำให้ถึงแม้ว่าได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 ก็ไม่โดนภาษี หัก ณ ที่จ่าย (อ่านด้านล่างถ้าอยากรู้ว่าทำอย่างไร)
แต่สิ่งที่เป็นประเด็นของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ครั้งนี้จริง ๆ ควรอยู่ที่ คุณจะยังได้สิทธิการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ก็ต่อเมื่อ คุณเซ็นต์ยินยอมให้ทุกธนาคารที่จ่ายดอกเบี้ยให้คุณ นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กับกรมสรรพากร
ถ้าคุณไม่ยินยอมให้ทุกธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้สรรพากร ธนาคารจะนำส่ง ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% อัตโนมัติจากดอกเบี้ยที่คุณได้ให้กับสรรพากร โดยไม่สนว่าบัญชีนั้นได้ ดอกเบี้ยเงินฝาก ถึงจำนวน 20,000 บาทหรือไม่
ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ใครได้รับผลกระทบ?
- ผู้ที่มีบัญชีออมทรัพย์ที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากรวมกันมากกว่า 20,000 บาท ที่กำลังใช้ช่องโหว่ของกฎหมายอยู่ โดยที่อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
- ผู้ที่ไม่ยินยอมให้ทุกธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยของคุณให้สรรพากร ทำให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไม่ว่าจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากกี่บาท
สิ่งที่ต้องทำ
รายเล็กที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาท ต้องไปลงทะเบียนที่ธนาคาร เพื่อยินยอมให้ส่งข้อมูลการรับดอกเบี้ยให้สรรพากร เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทั้งที่ได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาท
ทำไมต้องแก้ การยกเว้น ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ได้รับการ ยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000 บาทมาตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านี้เงื่อนไขของ การยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก มีช่องโหว่อยู่
และจริง ๆ แล้วการ ยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000 บาท คือ ดอกเบี้ยจากทุกธนาคารของคุณรวมกันแล้วไม่เกิน 20,000
แต่ช่องโหว่ที่ว่าเกิดจาก
- สรรพากรไม่ได้มีข้อมูลของทุกธนาคาร
- จากข้อ 1 ทำให้ไม่รู้ว่าทั้งหมดแล้วแต่ละคนได้ ดอกเบี้ยเงินฝาก เท่าไหร่
สมมติว่า นายรวยมากมีเงินฝาก 20,000,000 บาท และสมมติว่าดอกเบี้ยเงินฝากของทุกธนาคารคือ 0.5%
จากข้อ 1) สรรพากร จะไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วนายรวยมาก มีเงินฝากทุกธนาคารเท่าไหร่หรือ เงินจากดอกเบี้ยเงินฝากทั้งหมดที่นายรายมากได้คือเท่าไหร่ แต่ปัญหาไม่ได้จบแค่ไม่รู้ เพราะมีการใช้ช่องว่างตรงนี้ในการเลี่ยงภาษี ซึ่งทำได้ง่าย ๆ ด้วย 2 ขั้นตอนคือ
- เริ่มจากปิดบัญชีที่ดอกเบี้ยจะถึง 20,000 บาท เพื่อไม่ให้เสียภาษีดอกเบี้ย ณ ที่จ่าย 15% เพราะดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท
- จากนั้นเปิดบัญชีใหม่ โดยแยกเงินออกให้แต่ละบัญชีได้รับ ดอกเบี้ยจากเงินไม่เกิน 20,000 บาท
ดังนั้น เพียงแค่นายรวยมากแยกเงินฝาก 20 ล้านบาท ออกเป็น 5 บัญชี 5 ธนาคาร บัญชีละ 4 ล้านบาท เท่านี้กรมสรรพากรก็จะไม่รู้ว่าเงินฝากของนายรวยมากจริง ๆ แล้วมีเท่าไหร่ และได้ดอกเบี้ยเงินฝากเท่าไหร่กันแน่ และทั้งหมดก็คือสิ่งที่ทำให้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับนี้ออกมานั่นเอง
ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 2562
มาดูกันว่าจริง ๆ แล้วเนื้อหาโดยละเอียดของ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ การยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ย มีที่มาที่ไปอย่างไร (สำหรับคนอยากอ่านแบบยาว)
ก่อนอื่น สิ่งที่ครอบคลุมหรือได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ คือ ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในประเทศ ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ และผลตอบแทนเงินฝากธนาคารในประเทศ ที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์
สำหรับบทความนี้ขอเรียก ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในประเทศ และผลตอบแทนเงินฝากธนาคารในประเทศ รวมกันว่า “ดอกเบี้ย” เพื่อความง่ายในการอ่าน
การยกเว้น ภาษีจากดอกเบี้ย 2562 (ปัจจุบัน)
ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ประกาศใช้ในครั้งนี้ ระบุไว้ในข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
โดยการที่จะทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากของคุณได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้
- ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกัน มีจำนวนไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น
- ชื่อบัญชีเงินฝากและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝาก ต้องเป็นของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากนั้น
- ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก ต้องยินยอมให้ทุกธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ย นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากของผู้มีเงินได้ต่อกรมสรรพากร
- ผู้มีเงินได้ต้องไม่นำดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
นอกจากนี้ ยังมีข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อ 3 โดยสรุปได้ดังนี้
กรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อ 3 ผู้มีเงินได้จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และให้ธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา ๕๐ (๒) และมาตรา ๕๒ แห่งประมวลรัษฎากร
สรุปแบบง่าย ๆ
มาดูสรุปแบบเข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่อ้อมค้อม คุณจะได้ยกเว้นก็ต่อเมื่อ
- ดอกเบี้ยจากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี
- ชื่อบัญชีเงินฝากและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้เปิดบัญชี ต้องเป็นชื่อเดียวกับชื่อที่ได้ดอกเบี้ยจากธนาคาร
- คุณต้องยอมให้ธนาคารทุกธนาคารที่จ่ายดอกเบี้ยให้คุณ ส่งข้อมูลดอกเบี้ยของคุณให้สรรพากร
- ต้องไม่นำดอกเบี้ยที่ได้ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แต่ในกรณีที่คุณไม่ยินยอม ธนาคารก็จะต้องนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแทน (หักภาษี ณ ที่จ่าย) หรือพูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้น ก็คือหักภาษี 15% จากดอกเบี้ยเงินฝากทันที (เหมือนกับที่ได้อธิบายไว้ตอนแรกสุด)
ในกรณีที่คุณไม่ยินยอมในข้อ 3 และไม่ทำตามทั้ง 4 ข้อด้านบน ไม่ว่าคุณจะมีดอกเบี้ยจากทุกบัญชีรวมกันเกินหรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ก็จะโดนหัก 15% ทันทีโดยอัตโนมัติ