ภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม
ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม คือ การจำแนกประเภทภาษีที่รัฐจัดเก็บจากประชาชน ที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะในการรับภาระการจ่ายภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีเงินได้ ว่าสามารถผลักภาระในการจ่ายภาษีได้หรือผลักภาระในการจ่ายภาษีไม่ได้
Direct Tax หรือ ภาษีทางตรง คือ ภาษีประเภทที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่สามารถผลักภาระให้ผู้อื่นได้
Indirect Tax หรืออ ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีประเภทที่สามารถผลักภาระให้ผู้อื่นได้ อย่างเช่นการผลักภาระภาษีให้ผู้ซื้อสินค้า
ภาษีทางอ้อม คืออะไร?
ภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) คือ ภาษีที่สามารถผลักภาระให้คนอื่นได้ โดยคำว่าผลักภาระให้คนอื่นได้หมายความว่า ผู้ขายซึ่งเป็นผู้ที่มีรายได้จากการขายของชิ้นนั้น สามารถผลักภาระในการจ่ายภาษีในกลุ่มภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ให้กับผู้ซื้อได้
โดยภาษีทางอ้อมหรือ (Indirect Tax) ที่กรมสรรพากรจัดเก็บจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT)
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specification Business Tax)
- อากรแสตมป์ (Stamp Duty)
ตัวอย่างของคำว่า “ผลักภาระภาษีได้” ของภาษีทางอ้อมที่ทุกคนน่าจะเห็นภาพได้ง่ายที่สุดคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่จะเก็บเพิ่ม 7% จากมูลค่าสินค้าหรือบริการอย่างที่ทุกคนรู้
สมมติว่า ร้านค้า A อยากขายสินค้าด้วยราคา 100 บาท ผู้ขายก็จะขายสินค้าให้คุณ 107 บาท แล้วบอกว่าราคา 107 บาทนี้รวม VAT ซึ่งร้านค้าก็จะเก็บเงินไปแค่ 100 บาทจริงๆ โดยอีก 7 บาทก็จะนำไปจ่าย VAT
ในทางกลับกันถ้าหากร้านค้า A ไม่ผลักภาระภาษีหัก ณ ที่จ่ายหรือ VAT ให้กับผู้ซื้อ ร้านค้า A โดยขายสินค้าด้วยราคาเพียง 100 บาท ร้านค้า A ก็จะต้องหักส่วนหนึ่งจาก 100 บาทที่ขายได้เพื่อจ่าย VAT ทำให้รายได้จริงๆ ของร้านค้า A จะได้ไม่ถึง 100 เหมือนกับกรณีที่ผลักภาระภาษีให้ผู้ซื้อตามตัวอย่างด้านบน
ภาษีทางตรง คืออะไร?
ภาษีทางตรง (Direct Tax) คือ ด้านตรงข้ามของภาษีทางอ้อมคือการที่ ผู้เสียภาษีจะไม่สามารถผลักภาระการเสียภาษีไปให้คนอื่นได้เหมือนกับ VAT ในตัวอย่างด้านบน
โดยภาษีทางตรง (Direct Tax) จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax)
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax)
และสำหรับใครที่กำลังคิดในลักษณะที่ คุณเป็นพนักงานแล้วเสนอเงื่อนไขให้บริษัทจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้คุณ เพียงเท่านี้คุณก็ไม่ต้องจ่ายภาษีเองแล้ว ก็ต้องบอกว่า “ถ้าบริษัทจ่ายภาษีให้คุณ เงินจำนวนนั้นก็ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี” เพราะถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมิน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิธีคำนวณภาษีด้วยตัวเองได้ที่บทความ: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax)