ทำความเข้าใจกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ภาษีที่เราทุกคนต้องจ่ายไม่ว่าคุณจะมีรายได้หรือไม่ก็ตาม มาดูกันว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครต้องจ่าย และใครต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร?
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่จัดเก็บจากการขายสินค้าหรือบริการทั้งสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศหรือสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) จะจัดเก็บในอัตราภาษีคงที่และคำนวนจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการนั้นๆ สำหรับ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย คือ 7% ของราคาสินค้าและบริการที่ซื้อขาย
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้ขายที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการเกิน 1.8 ล้านต่อปีไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งจะต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ยื่นจด VAT) และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน
อย่างไรก็ตาม ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีทางอ้อมรูปแบบหนึ่งซึ่งหมายความว่า แม้ว่าผู้ขายตามเงื่อนไขที่เราอธิบายด้านบนจะเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี (นำส่งภาษีให้สรรพากร) แต่ผู้ขายสามารถผลักภาระในการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ซื้อได้ด้วยการรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาในราคาสินค้าหรือบริการดังกล่าว ดังนั้นผู้ที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจริงคือผู้ที่ซื้อสินค้าหรือบริการขั้นสุดท้าย ในขณะที่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่เพียงแค่เก็บเงินส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายเอาไว้แล้วนำส่งให้สรรพากรในทุกเดือน
ถ้าหากอธิบายให้ง่ายขึ้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) คือ ภาษีที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่สินค้าหรือบริการเกิดการขายโดยผู้ขายที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ซื้อจะจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ไปพร้อมกับการซื้อสินค้าดังกล่าว
หมายเหตุ: อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย ที่แท้จริงคือ 10% แต่ในปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาทุก 2 ปีเพื่อลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยลงเหลือ 7% ชั่วคราว มาจนถึงปัจจุบันซึ่งทำให้หลายเข้าคนเข้าใจว่าภาษีมูลค่าเพิ่มไทยคือ 7%
เลือกอ่านหัวข้อที่ต้องการอ่าน
- ใครต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม
- จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ข้อดีของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ข้อเสียของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยจ่ายแล้วไปไหน
ใครต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้ขายที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการเกิน 1.8 ล้านต่อปี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งผู้ที่เข้าเงื่อนไขนี้จะต้อง ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ยื่นจด VAT และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน
แต่อย่างที่ได้อธิบายในตอนต้นว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีทางอ้อมที่ผู้ขายสามารถเลือกที่จะผลักภาระให้กับผู้ซื้อได้ด้วยการรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% เอาไว้ในราคาสินค้าหรือบริการ ส่งผลให้ผู้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงคือผู้ซื้อนั่นเอง
ในขณะที่ผู้ขาย (ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) คือ ผู้ที่มีหน้าที่รวบรวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับมาจากการขายสินค้าหรือบริการส่งให้สรรพากรทุกเดือน เรียกว่า นําส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องนำส่งสรรพากรในแต่ละเดือนจะคำนวณจาก ภาษีขาย – ภาษีซื้อ = ภาษีที่ต้องนำส่ง
- ภาษีซื้อ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้จ่ายไปในการซื้อสินค้า (VAT ซื้อ) ให้กับผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่เป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีขาย คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับมาจากการขายซื้อสินค้า (VAT ขาย)
ในแต่ละเดือนเมื่อผู้ประกอบการคำนวณ ภาษีขาย – ภาษีซื้อ ก็จะได้เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่กิจการต้องจ่ายให้กับสรรพากร โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
- ภาษีซื้อ > ภาษีขาย ผู้ประกอบการก็จะไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากร
- ภาษีซื้อ < ภาษีขาย ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากร
โดยจะต้องยื่น ภ.พ. 30 ที่เป็นเอกสารสรุปภาษีซื้อและภาษีขายของกิจการในแต่ละเดือน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องใช้ยื่นแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากรทุกเดือน (ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป)

ตัวอย่างเช่น ถ้าหากบริษัท GreedisGoods จำกัด ทำธุรกิจขายสินค้า A เพื่อที่จะผลิตสินค้าขายบริษัทจึงได้ซื้อวัตถุดิบชนิดหนึ่งมา การซื้อวัตถุดิบทั้งเดือนทำให้บริษัทได้จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ไปทั้งสิ้น 1 ล้านบาท ในขณะที่ทั้งเดือนบริษัทขายสินค้าและได้ภาษีมูลค่าเพิ่มมาทั้งหมด 2 ล้านบาท
ผลต่างระหว่างภาษีขายและภาษีซื้อที่ทำให้บริษัท GreedisGoods ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจะเท่ากับ 2 ล้าน – 1 ล้าน = นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ล้านบาท
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มได้จะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้ที่ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เท่านั้น (ไม่ใช่ทุกคนจะนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มได้) และไม่ใช่ทุกกิจการจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเสมอไป
ในเบื้องต้น ผู้ที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ให้บริการ ผู้ขายส่ง ผู้ขายปลีก ส่งออก ผู้นำเข้า รวมถึงผู้ผลิต ที่เป็นผู้ขายที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการเกิน 1.8 ล้านต่อปี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล
หมายเหตุ: แต่ถ้าหากเข้าเงื่อนไขแต่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านต่อปี ก็สามารถขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้เช่นกัน
ผู้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย แต่มีสิทธิแจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่จดก็ได้) ได้แก่
- ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
- ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายและมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
- การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยท่าอากาศยาน
- การส่งออกของผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร
ผู้ที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่
- ผู้ประกอบการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
- ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
- ผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
- ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 43)
- ผู้ประกอบการอื่นตามที่อธิบดีจะประกาศกำหนดเมื่อมีเหตุอันสมควร
วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
การจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้บริโภคจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในราคาสินค้า และ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไม่รวมอยู่ในราคาสินค้า (ซึ่งคุณจะต้องจ่ายเพิ่มอีก)
- ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในราคาสินค้า เรียกว่า VAT ใน คือ การรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เอาไว้ในราคาสินค้า อย่างเช่น การที่คุณซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้า
- ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไม่รวมอยู่ในราคาสินค้า เรียกว่า VAT นอก คือ การที่คุณจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากราคาของสินค้าหรือบริการ ตัวอย่างที่พบได้บ่อยคือ ร้านอาหารที่ราคาอาหารไม่รวม VAT เอาไว้ทำให้คุณต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% จากราคาอาหาร
VAT ใน คำนวณได้จาก ราคาสินค้า – (ราคาสินค้า x 100 ÷ 107) = VAT ใน ถ้าหากราคาสินค้าคือ 200 บาท VAT ใน หรือ VAT ที่รวมอยู่ในราคาสินค้าดังกล่าวจะเท่ากับ 200 – (200 x 100 ÷ 107) = 13.08 บาท

VAT นอก คำนวณได้จาก ราคาสินค้า x 7% ถ้าหากราคาอาหารตามใบเสร็จในภาพคือ 462.62 บาท VAT นอกหรือ VAT ที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 7% จากค่าอาหารคือ 462.62 x 7% = 32.38 บาท
ข้อดีของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
การจดทะเบียบภาษีมูลค่าเพิ่ม มีข้อได้เปรียบคือการสามารถใช้สิทธิในการหักภาษีซื้อออกจากภาษีขาย ส่งผลให้ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นเมื่อตอนคุณซื้อสินค้ามาขายไม่กลายเป็นต้นทุน เนื่องจากสามารถนำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นไปหักลบกับภาษีขายได้
อีกประเด็นคือการที่ลูกค้าของธุรกิจจะสามารถขอใบกำกับภาษีได้ ซึ่งลูกค้าที่เป็นบริษัทโดยปกติจะขอใบกำกับภาษีเพื่อนำไปใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่แล้ว อีกทั้งยังทำให้ธุรกิจดูมีความน่าเชื่อถือขึ้นอีกด้วย
ข้อเสียของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในทางกลับกันเมื่อธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ธุรกิจที่จดทะเบียบภาษีมูลค่าเพิ่มจะเสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคาเนื่องจากกำไรขั้นต้นที่ได้จะต่ำกว่าธุรกิจที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตัวอย่างเช่น ร้าน A และ B ขายรองเท้าเหมือนกัน และสมมติว่าต้องการกำไร 500 บาทเท่ากัน โดยมีต้นทุนเท่ากันจากการรับมาขายคู่ละ 500 บาท แต่ร้าน A จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนร้าน B ไม่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ
- ร้าน A จะได้กำไร 500 บาทก็ต่อเมื่อขายคู่ละ 535 บาท (ภาษีมูลค่าเพิ่ม 35 บาท)
- การจะได้กำไร 500 บาท ร้าน B ทำได้โดนการขายคู่ละ 500 บาท
อีกหนึ่งปัญหาของ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ การที่ผู้ประกอบการต้องยื่นรายงานภาษีซื้อและภาษีขาย (ภ.พ. 30) ทุกเดือน (รวมถึงเดือนที่ไม่มีการซื้อขาย) ในส่วนนี้สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กการยื่น ภ.พ. 30 จะกลายเป็นภาระที่เกิดขึ้นแบบไม่จำเป็น ไม่ว่าจะทำเองหรือจ้างนักบัญชีก็ตาม
ภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยจ่ายแล้วไปไหน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ทุกคนจ่ายไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือผู้ประกอบการ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ใน 9 ส่วนของภาษีที่เก็บได้จะถูกแบ่งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เหลืออีก 8 ส่วนจะนำส่งรัฐบาลกลาง
ถ้าหากว่าคุณจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวน 900 บาท นั่นหมายความว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 100 บาทจาก 900 บาทที่คุณจ่ายจะถูกโอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้ประกอบการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนอีก 800 บาทที่เหลือจะถูกโอนให้กับรัฐบาลกลาง
ข้อมูลอ้างอิง
- มารู้จักภาษีมูลค่าเพิ่ม – กรมสรรพากร
- ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย แต่มีสิทธิแจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม – เว็บไซต์กรมสรรพากร
- VAT คืออะไร? ใครต้องจด VAT – GreedisGoods
- ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม – เว็บไซต์กรมสรรพากร