GreedisGoods » Economics » การกีดกันทางการค้า คืออะไร? เข้าใจมาตรการกีดกันทางการค้า

การกีดกันทางการค้า คืออะไร? เข้าใจมาตรการกีดกันทางการค้า

by Kris Piroj
การกีดกันทางการค้า คือ มาตรการกีดกันทางการค้า International Trade Barrier คือ Trade Restriction

การกีดกันทางการค้า คืออะไร?

การกีดกันทางการค้า คือ มาตรการในการค้าระหว่างประเทศที่แต่ละประเทศใช้เพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งเรียกว่า มาตรการกีดกันทางการค้า (Trade Barriers) โดยอาจเป็นได้ทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าทางภาษี และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

มาตรการกีดกันทางการค้า (Trade Barriers) เป็นมาตรการทางการค้าที่มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าดังกล่าวภายในประเทศ จากการเข้ามาของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงปกป้องการขาดดุลการค้าจากการนำเข้าสินค้ามามากกว่าการส่งออก

ตัวอย่างเช่น การห้ามนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วจากต่างประเทศของประเทศหนึ่งด้วยเหตุผลบางอย่าง แต่เหตุผลที่แท้จริงก็คือการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศให้สามารถแข่งขันในประเทศได้ง่ายขึ้น

การกีดกันทางการค้า (Trade Barriers) สามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ มาตรการกีดกันทางการค้าทางภาษี (Tariff Barriers) และ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers)

มาตรการกีดกันทางการค้าทางภาษี

มาตรการกีดกันทางการค้าทางภาษี คือ มาตรการกีดกันทางการค้าที่รัฐบาลจะใช้การจัดเก็บ ภาษีศุลกากรขาเข้า หรือ ภาษีนำเข้า ในอัตราที่สูง (หรือสูงขึ้น) เพื่อทำให้ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าสินค้าได้ยากขึ้นตามราคาสินค้าที่สูงขึ้นตามภาษีนำเข้าที่รัฐจัดเก็บ

การกีดกันทางการค้าด้วยภาษีที่สูงตามมาตรการกีดกันทางการค้าทางภาษี (Tariff Barriers) จะส่งผลให้สินค้าประเภทเดียวกันที่ต้องนำเข้า มีราคาแพงกว่าสินค้าภายในประเทศ

ทั้งหมดจะส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการนำเข้าสินค้าดังกล่าวน้อยลง และหันไปใช้สินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตขึ้นภายในประเทศแทน

ตัวอย่างเช่น ประเทศ T เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ 300% เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่อยู่ภายในประเทศ T ให้ไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากรถยนต์ที่ผลิตจากต่างประเทศ

กล่าวคือ มาตรการกีดกันทางการค้าทางภาษี (Tariff Barriers) คือการกีดกันทางการค้าที่จะทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้นจนผู้ซื้อไม่อยากนำเข้าสินค้าดังกล่าว เพื่อทำให้สินค้าจากต่างประเทศไม่ถูกนำเข้ามาแข่งขันภายในประเทศได้ง่าย

แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากว่ารัฐบาลต้องการส่งเสริมการส่งออกสินค้า รัฐบาลก็จะจัดเก็บภาษีการส่งออกในระดับที่ต่ำหรือไม่เก็บภาษีขาออกเลย

มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี คือ มาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าด้วยวิธีใดก็ตามที่ไม่ใช่การใช้ภาษีนำเข้า แต่จะใช้ประเด็นละเอียดอ่อนบางอย่างเป็นข้ออ้างและเงื่อนไขในการห้ามนำเข้าสินค้า หรือจำกัดการนำเข้าสินค้าบางอย่าง

การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี สามารถทำได้หลากหลายวิธี ได้แก่ การห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด การที่สามารถนำเข้าแต่ต้องใช้ใบอนุญาตินำเข้า การจำกัดการนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ตลอดจนการให้เงินทุนสนับสนุน (หรือมาตรการอำนวยความสะดวก) สินค้าภายในประเทศเพื่อแข่งกับสินค้านำเข้าดังกล่าวได้ง่ายขึ้น

สำหรับประเด็นที่นำมาใช้เป็นเหตุผลของ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ได้แก่

  • มาตรฐานของสินค้า
  • สวัสดิภาพสัตว์
  • ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
  • กฎหมายแรงงาน
  • มาตรฐานด้านแรงงาน

ตัวอย่างเช่น ประเทศ U ห้ามนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับมะพร้าวจากประเทศ T ด้วยประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ โดยให้เหตุผลว่า ประเทศ T ใช้ลิงเก็บมะพร้าวจากสวน ซึ่งเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นการทรมาณสัตว์

นอกจากนี้ การกีดกันทางการค้าด้วยวิธีที่ไม่ใช่ภาษียังสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการนำเข้าสินค้า ตัวอย่างเช่น การกำหนดคุณภาพสินค้าเอาไว้มากเกินปกติ และ การยืดเวลาตรวจสอบสินค้านำเข้าให้นานกว่าปกติ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด