GreedisGoods » International Business » มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede (Hofstede’s Cultural Dimensions)

มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede (Hofstede’s Cultural Dimensions)

by Kris Piroj
มิติทางวัฒนธรรม ของ Hofstede คือ ตัวอย่าง Geert Hofstede Cultural Dimensions

มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede หรือ Geert Hofstede’s Cultural Dimensions คือ งานวิจัยที่เป็นการเปรียบเทียบวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ เพื่อศึกษาว่าค่านิยมในที่ทำงานได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอย่างไร โดย Hofstede ได้แบ่งมิติทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการทำงานออกเป็น 6 มิติทางวัฒนธรรมและให้คะแนนในแต่ละมิติของแต่ละประเทศ

6 มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede ได้แก่ Power Distance (PDI) · Individualism (IDV) · Masculinity (MAS) · Uncertainty Avoidance (UAI) · Long Term Orientation (LTO) · Indulgence (IVR)

โดยทั้ง 6 มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede (Hofstede’s Cultural Dimensions) ในแต่ละมิติ มีความหมายดังนี้

  • Power Distance คือ ความแตกต่างทางอำนาจ
  • Uncertainty Avoidance คือ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
  • Individualism คือ สังคมนั้นอยู่คนเดียวหรืออยู่เป็นกลุ่ม
  • Masculinity คือ เรื่องเกี่ยวกับการให้ความสำคัญระหว่างชาย-หญิง รวมไปถึงสภาพการแข่งขันในสังคม
  • Long Term Orientation คือ ให้ความสำคัญในเรื่องระยะยาวมากแค่ไหน
  • Indulgence คือ การแสดงออกทางอารมณ์

โดยในแต่ละมิติทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ Hofstede จะให้คะแนนที่แตกต่างกัน ในแต่ละมิติ (Dimensions) คะแนนที่สูงหมายถึงประเทศนั้น “มีความเป็นด้านนั้นสูง” ในขณะที่คะแนนต่ำคือประเทศนั้น “มีความเป็นด้านนั้นต่ำ” หรือจะเรียกว่าเป็นด้านตรงข้ามก็ได้

แต่ในบางเล่มจะเห็นว่า มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede จะมีเพียง 5 มิติ โดยยังไม่มี Indulgence เพราะ Indulgence เป็นมิติทางวัฒนธรรม ที่เพิ่งจะเพิ่มเข้ามาภายหลังได้ไม่นาน


ตัวอย่าง การเปรียบเทียบคะแนนในแต่ละ มิติทางวัฒนธรรม ของ Geert Hofstede 
ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา กับ ประเทศญี่ปุ่น

มิติทางวัฒนธรรม Geert Hofstede สหรัฐ ญี่ปุ่น
กราฟคะแนนของวัฒนธรรมในแต่ละมิติของประเทศสหรัฐอเมริกาเทียบกับประเทศญี่ปุ่น

Power Distance (PDI)

Power Distance คือ เรื่องเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมในเรื่องของอำนาจ

ยิ่งค่า PDI สูงจะเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นชัดเจน รวมทั้งคนในสังคมยอมรับในเรื่องลำดับชั้น อำนาจในการตัดสินใจก็จะไปอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงอย่างเดียว และคนในสังคมก็จะพยายามที่จะผลักดันตัวเองขึ้นไปอยู่ในชั้นที่สูงกว่า

ค่า Power Distance (PDI) ที่ต่ำจะเป็นสังคมที่มองทุกคนเท่าเทียมกัน สนใจเรื่องลำดับชั้นน้อย และการตัดสินใจในการทำงานจะเป็นการรวบรวมความคิดของคนในทีมมากกว่าการใช้อำนาจสั่งการโดยไม่สนใจความเห็นของทีม

Individualism (IDV)

Individualism คือ คะแนนด้านความเป็นปัจเจกบุคคลในวัฒนธรรมนั้น ๆ

ค่า Individualism (IDV) ที่สูงหมายความว่าเป็นสังคมที่เน้นอยู่คนเดียว ทำงานคนเดียว ตัดสินใจคนเดียวเองได้โดยไม่ต้องรอความเห็นคนอื่น (ที่พบเห็นกันในสังคมตะวันตก)

ค่า Individualism (IDV) ที่ต่ำจะเป็นสังคมรวมกลุ่ม (Collective) คือ จะทำอะไรเป็นกลุ่ม รอการตัดสินใจเป็นกลุ่ม ต้องคอยอาศัยการสนับสนุนจากทีม นอกจากนี้จะยังเป็นสังคมที่เน้นความสัมพันธ์ระยะยาว

Masculinity (MAS)

Masculinity จะเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างชายหญิงในสังคมนั้น ๆ และการได้รับการยอมรับของสังคมนั้น

สังคมแบบ Masculinity (ค่า MAS สูง) เป็นสังคมที่ยอมรับคนจากความสำเร็จ ยังเป็นสังคมมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิง ยังไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ความยอมรับกับผู้หญิงเท่าไหร่ ผู้หญิงอาจทำได้เพียงแค่ตำแหน่งทั่วไป (หาได้ยากที่จะขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูง) หรือผู้หญิงอาจต้องอยู่บ้านทำงานบ้านอย่างเดียว ในด้านการแข่งขันสังคมแบบ Masculinity ค่อนข้างจะเป็นสังคมที่มีการแข่งขันที่สูง

สังคมแบบ Femininity หรือสังคมที่มีความเป็น Masculinity ต่ำ (ค่า MAS ต่ำ) คือ เป็นสังคมที่เน้นคนและการรักษาความสัมพันธ์มากกว่างาน เน้นคุณภาพชีวิตมากกว่าที่จะมุ่งแสวงหาความสำเร็จอย่างดุเดือด มีความเสมอภาคระหว่างชายหญิงตรงข้ามกับ Masculinity ส่งผลให้ในผู้หญิงสามารถอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าผู้ชายได้เป็นเรื่องปกติ

Uncertainty Avoidance (UAI)

Uncertainty Avoidance เป็นมิติที่พูดถึงการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของสังคมนั้น ๆ แสดงถึงมุมมองต่อการรับความเสี่ยงของแต่ละวัฒนธรรม

สังคมที่ค่า UAI สูงจะเป็นสังคมที่พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ความไม่แน่นอน เพราะคนในสังคมนั้นไม่ชอบความไม่แน่นอน ทำให้จะมีกฎมากมายมาป้องกันความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นมา อย่างในการทำสัญญาก็จะระบุเงื่อนไขมากมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

สังคมที่มีค่า UAI ต่ำจะเป็นสังคมที่รับความเสี่ยงได้ ไม่ค่อยจริงจังกับความเสี่ยง ทำให้คนในสังคมแบบนี้ค่อนข้างจะยืดหยุ่น สามารถรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติได้ดีกว่าสังคมที่พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (มีความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า)

Long Term Orientation (LTO)

Long Term Orientation คือ มุมมองด้านการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระยะยาวในแต่ละวัฒนธรรม

ค่า LTO ที่มากแสดงให้เห็นว่าเป็นวัฒนธรรมที่เน้นความสัมพันธ์ในระยะยาว ความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้จากการค่อย ๆ สร้างขึ้นมา ความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญกับวัฒนธรรมที่เน้นความสัมพันธ์ในระยะยาว เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีการเจรจาจะค่อนข้างราบรื่น

ค่า LTO ที่ต่ำแสดงถึงความเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เน้นสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว ทำงานด้วยกันจบเป็นครั้ง ๆ มักจะเป็นวัฒนธรรมที่มีความเป็น Individualism สูง ไม่สนใจเรื่องการช่วยเหลือจากผู้อื่นเท่าไหร่เพราะเชื่อในความสามารถมากกว่าความสัมพันธ์

Indulgence (IVR)

Indulgence เป็นมิติทางวัฒธรรมที่ 6 ที่ Hofstede ได้เพิ่มเข้ามาภายหลัก โดยคะแนน Indulgence เป็นระดับในการควบคุมความต้องการ

ค่า Indulgence ที่สูง หมายความว่า ผู้คนจะหาความสุขหรือตอบสนองความต้องการได้อย่างเปิดกว้าง เป็นสังคมที่ค่อนข้างอิสระ มีความเป็นปัจเจกสูง

ค่า Indulgence ต่ำหรือเรียกว่า Restraint คนในสังคมจะไม่แสดงออกความต้องการอย่างชัดเจน ค่อนข้างเป็นสังคมที่เคร่งครัดในการแสดงออกต่าง ๆ และเป็นสังคมที่มักจะเก็บอารมณ์ไว้ ไม่แสดงออกมาอย่างชัดเจน


สามารถดูมิติทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศได้ที่เว็บไซต์ Hofstede-Insights และสามารถเลือกคะแนนมิติทางวัฒนธรรมของ 2 ประเทศเพื่อเปรียบเทียบ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด