GreedisGoods » International Business » มิติทางวัฒนธรรมของ Trompenaars คืออะไร?

มิติทางวัฒนธรรมของ Trompenaars คืออะไร?

by Kris Piroj
มิติทางวัฒนธรรม trompenaars cultural dimensions คือ

Trompenaars Cultural Dimensions คืออะไร?

มิติทางวัฒนธรรมของ Trompenaars คือ ผลจากงานวิจัยที่รวบรวมจากการสำรวจพนักงานและผู้นำจาก 8,841 คนจาก 43 ประเทศเพื่อศึกษาความแตกต่างทางวัฒนธรรม จากงานวิจัยของ Trompenaars สามารถแบ่งลักษณมิติทางวัฒนธรรมออกเป็น 7 ด้าน โดยแต่ละด้านหรือแต่ละมิติทางวัฒนธรรมจะเป็นคู่ที่แสดงด้านตรงข้ามกัน

โดยมิติทางวัฒนธรรมของ Trompenaars คืองานวิจัยของ Alfonsus (Fons) Trompenaars นักทฤษฎีองค์กร ที่ปรึกษาด้านการจัดการ และนักเขียนชาวดัตช์ในสาขาการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม และ Charles Hampden-Turner นักปรัชญาการจัดการชาวอังกฤษในปี 1997

Trompenaars Cultural Dimensions หรือมิติทางวัฒนธรรมของ Trompenaars ทั้ง 7 ด้านประกอบด้วย

  1. Universalism vs particularism
  2. Individualism vs collectivism
  3. Neutral vs emotional
  4. Specific vs diffuse
  5. Achievement vs ascription
  6. Sequential vs synchronic
  7. Internal vs external control

Universalism vs Particularism

Universalism และ Particularism คือ มิติทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับแนวคิดของคนในวัฒนธรรมนั้น ๆ ต่อแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นสากล

Universalism คือ แนวคิดทางวัฒนธรรมที่เชื่อว่ากฎหนึ่งสามารถใช้ได้ทั้งโลก โดยไม่ต้องปรับปรุงตามความแตกต่างทางวัฒนธรรมและปัจจัยอื่นๆ เน้นความเป็นสากล

Particularism คือ แนวคิดที่เชื่อว่าแนวคิดเดียวไม่สามารถใช้ได้กับทุกประเทศทั่วทั้งโลก แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

Individualism vs Collectivism

Individualism และ Collectivism คือ มิติทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับวิธีการดำเนินชีวิตระหว่างการใช้ชีวิตเป็นปัจเจกอยู่คนเดียว หรือใช้ชีวิตแบบอยู่เป็นกลุ่มก้อน

Individualism เป็นวัฒนธรรมที่มีความเป็นปัจเจกบุคคล (หรือประเภทที่อยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่เน้นกลุ่ม) เน้นทำอะไรคนเดียวไม่ยุ่งกับคนอื่น เช่น ทำงานคนเดียว ไม่เน้นความคิดเห็นของกลุ่ม และมีความเป็นตัวเองสูง

Collectivism คือ วัฒนธรรมที่เน้นอยู่เป็นกันกลุ่ม ชอบทำงานเป็นกลุ่ม ไม่ชอบทำอะไรลำพัง อย่างที่สามารถพบเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ได้จากประชากรโดยส่วนมากของประเทศในแถบเอเชีย อย่างเช่น ไทย จีน เกาหลี สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

Neutral vs Emotional

Neutral และ Emotional คือ มิติทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์ของคนในวัฒนธรรมนั้น ๆ

Neutral คือ เป็นพฤติกรรมประเภทวางเฉย เก็บอารมณ์ไว้ ไม่แสดงอารมณ์หรือสิ่งที่คิดออกมาชัดเจน

Emotional คือ สังคมที่นิยมแสดงอารมณ์และความคิดเห็นออกมาชัดเจน ไม่ว่าจะดีใจหรือเสียใจ พอใจหรือไม่พอใจ

Specific vs Diffuse

Specific และ Diffuse คือ มิติทางวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเส้นแบ่งระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานในสังคมนั้น ๆ

Specific เป็นวัฒนธรรมที่แยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวชัดเจน ตัวอย่างเช่น การไม่เอางานกลับไปทำที่บ้าน ไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับเรื่องงาน

Diffuse เป็นวัฒนธรรมที่ตรงข้ามกับ Specific คือจะเอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับเรื่องงาน เวลาทำงานอาจจะทำเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน และเวลาที่ไม่ใช่เวลาทำงานก็อาจจะทำงาน

Achievement vs Ascription

Achievement และ Ascription คือ มุมมองเกี่ยวกับความให้ความสำคัญกับคนคนหนึ่ง โดยมุมมองแบบ Achievement และ Ascription จะแสดงว่าวัฒนธรรมนั้นให้ความสำคัญคนจากอะไร

Achievement คือ วัฒนธรรมที่คนในสังคมให้ความสำคัญกับความสำเร็จของคน (ไม่สนอายุ หรือสถานภาพทางสังคม)

Ascription คือ วัฒนธรรมที่คนในสังคมให้ความสำคัญกับตัวคน เช่น จากอายุ และสถานภาพทางสังคมของคนนั้น

Sequential vs Synchronic

Sequential และ Synchronic เป็นมุมมองเกี่ยวกับเรื่องเวลาที่ต่างกัน

Sequential เป็นวัฒนธรรมที่มีนิสัยทำอะไรทีละอย่าง ซึ่งก็คือการทำให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไปก่อนที่จะไปทำอีกสิ่งหนึ่ง และมีการแบ่งเวลาสำหรับงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกัน

Synchronic คือ วัฒนธรรมที่ตรงข้ามกับ Sequential เป็นประเภทที่ทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน แทนที่จะทำให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ รวมทั้งในเวลาอาจจะเอาไปทำเรื่องส่วนตัว และในเวลาส่วนตัวก็อาจจะนำไปใช้ทำงาน

Internal vs External control

Internal และ External control เป็นมิติทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับความเชื่อของคนในวัฒนธรรมนั้น ว่าเชื่อว่าเราสามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้หรือไม่

Internal คือ วัฒนธรรมที่เชื่อว่าปัจจัยภายนอกเราสามารถควบคุมได้เองไม่มากก็น้อย ทำให้คนจากวัฒนธรรมแบบนี้จะพยายามหาทางควบคุมปัจจัยภายนอกหรือเรื่องที่ไม่คาดคิดให้ได้เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกให้มากที่สุด

External คือ วัฒนธรรมที่เชื่อว่าเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้ วัฒนธรรมนี้จะปรับตัวเข้าหาปัจจัยภายนอกแทน (ในลักษณะของอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด)

บทความที่เกี่ยวข้อง