Geert Hofstede Cultural Dimensions หรือ มิติทางวัฒนธรรม Hofstede คืองานวิจัยที่การแบ่งวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่ได้ทำการวิจัยออกเป็น 6 มิติทางวัฒนธรรม เพื่อศึกษาผลจากวัฒนธรรมที่กระทบต่อรูปแบบวิธีการทำงานของในแต่ละประเทศด้วยการให้คะแนนในแต่ละมิติ
สำหรับทั้ง 6 มิติทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย
- Power Distance คือ การยอมรับความแตกต่างทางอำนาจ
- Uncertainty Avoidance คือ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
- Individualism คือ สังคมนั้นมีความเป็นปัจเจกบุคคลมากแค่ไหน
- Masculinity คือ การให้ความสำคัญระหว่างชาย-หญิง รวมไปถึงการแข่งขันในสังคม
- Long Term Orientation คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องระยะยาว
- Indulgence คือ การแสดงออกทางอารมณ์ชัดเจนแค่ไหน (เก็บอารมณ์ หรือ แสดงออก)
โดยบทความนี้เราจะพาไปดูตัวอย่าง Hofstede Cultural Dimensions หรือ มิติทางวัฒนธรรม ทั้ง 6 ด้านของประเทศไทย ตามกราฟมิติทางวัฒนธรรมของไทยว่าแต่ด้านมีความหมายอย่างไรบ้าง และในความเป็นจริงประเทศไทยเป็นไปตามแนวคิดของ Geert Hofstede หรือไม่

ตัวเลขคะแนนที่มากหมายถึงวัฒนธรรม (Culture) ของประเทศไทยมีทิศทางเป็นไปในทางมิติ (Dimension) นั้นสูง และในทางตรงข้ามยิ่งคะแนนของประเทศไทยในมิติใดต่ำก็จะหมายความว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมในด้านนั้นต่ำ
Power Distance
Power Distance หรือ มิติด้านการยอมรับความแตกต่างทางอำนาจ สำหรับประเทศไทยคะแนน Power Distance คือ 64 คะแนน อยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ 71 คะแนน
ค่า Power Distance ที่สูงของประเทศไทย หมายถึง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยอมรับความแตกต่างทางอำนาจได้ในระดับสูง กล่าวคือ คนไทยส่วนมากสามารถยอมรับการแบ่งลำดับชั้นในการทำงาน (หรือสังคมทั่วไป) แต่ก็ไม่ใช่ยอมรับได้ทุกเรื่อง
ข้อคิดเห็น: เป็นมิติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับความเป็นจริงในประเทศไทย คือ คนส่วนมากรับได้กับความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ แต่อาจจะไม่ถึงกับก้มหน้ายอมทุกอย่างแบบพนักงานญี่ปุ่น
Uncertainty Avoidance
Uncertainty Avoidance คือ ความพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง โดยค่า Uncertainty Avoidance ของประเทศไทยอยู่ที่ 64 คะแนน ถือว่าอยู่ในระดับมาก
Uncertainty Avoidance ที่สูงแต่ไม่อยู่ในระดับที่สูงมาก หมายความว่า ทั่วไปคนไทยไม่ค่อยชอบความเสี่ยง โดยคนไทยจะพยายามหาทางป้องกันความเสี่ยง เช่น การตั้งกฎเกณฑ์จำนวนมาก ต้องการเหตุผลพอสมควรในการตัดสินใจ
ข้อคิดเห็น: Uncertainty Avoidance ที่สูงแต่ไม่อยู่ในระดับที่สูงมาก แสดงให้เห็นว่าคนไทยจะป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระดับหนึ่งเท่านั้น เช่น ตั้งกฎไว้มากมายเพราะกลัวความผิดพลาด แต่ถ้าหากไม่เกิดปัญหาขึ้นมาก็จะละเลยกฎที่ตั้งไว้ในบางครั้ง
Individualism
Individualism คือ ค่าที่แสดงให้เห็นว่าสังคมนั้นมีความเป็นปัจเจกบุคคลมากแค่ไหน สำหรับประเทศไทยจะมีคะแนน Individualism อยู่ที่ 20 คะแนน อยู่ในระดับที่ต่ำมาก
หรือเรียกได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมแบบ Collective ที่เน้นอยู่กันเป็นกลุ่ม ที่ในการทำงานจะเน้นทำเป็นกลุ่ม เช่น การตัดสินใจต้องถามทีม จะทำอะไรต้องปรึกษา มากกว่าตัดสินใจด้วยตัวเอง รวมถึงวัฒนธรรมการใช้เส้นสายในการทำให้งานราบรื่น เป็นต้น
ข้อคิดเห็น: คะแนน Individualism ที่ต่ำมากของประเทศค่อนข้างสอดคล้องกับรูปแบบทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่เน้นการทำงานเป็นกลุ่มในมุมของการรอความเห็นของคนในทีมมากกว่าจะตัดสินใจเอง รวมถึงประเด็นในส่วนของการใช้ Connection ในการทำงาน
Masculinity
Masculinity คือ การให้ความสำคัญระหว่างชาย-หญิง และสภาพการแข่งขันในสังคม ซึ่งประเทศไทยมีคะแนน Masculinity ที่ 34 อยู่ในระดับต่ำ
Masculinity ที่ต่ำหมายถึงประเทศไทยเป็นสังคมแบบ Femininity หรือ เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิงและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากในพอสมควร (แต่ก็ไม่มากที่สุด) อีกทั้งยังเป็นสังคมที่มีสภาพการแข่งขันต่ำ มุ่งความสัมพันธ์มากกว่ามุ่งความสำเร็จของงาน
ข้อคิดเห็น: สอดคล้องกับการที่ประเทศสังคมไทยเป็นสังคมแบบ Collective ที่เน้นอยู่ร่วมกันมากกว่าการแข่งขันกันเองอย่างจริงจัง
Long Term Orientation
Long Term Orientation คือ มุมมองต่อเรื่องระยะยาว โดยประเทศไทยมีคะแนน Long Term Orientation ที่ 32 อยู่ในระดับต่ำ
ความหมายของ Long Term Orientation ที่ต่ำจะหมายถึง สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องในระยะยาวมากนัก หรือก็คือสนใจเรื่องในระยะสั้นเป็นหลัก (Short Term Orientation) ตัวอย่างเช่น การตกลงธุรกิจโดยส่วนมากจะเป็นการทำตามสัญญาแล้วแยกย้าย ไม่ได้มีการผูกมิตรกันมากนัก
ข้อคิดเห็น: มุมมองของ Hofstede ค่อนข้างขัดกับรูปแบบการทำงานของไทย เพราะในไทยมุมมองต่อเรื่องในระยะยาวอย่างเช่น Connection และการรักษาความสัมพันธ์กันระหว่างธุรกิจยังคงมีให้เห็นอยู่มาก
Indulgence
Indulgence คือ ความชัดเจนของการแสดงออกทางอารมณ์ (เก็บอารมณ์ หรือ แสดงออก) โดยคะแนน Indulgence ของไทยอยู่ที่ 45 คะแนน อยู่ในระดับปานกลาง
กล่าวคือ สังคมไทยมักจะเป็นสังคมที่มีแสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดเจนในบางครั้งบางกรณี ในขณะที่บางเรื่องก็จะไม่แสดงออกมาชัดเจน
ข้อคิดเห็น: ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกับวัฒนธรรมการทำงานของไทย ที่บางเรื่องคนไทยจะแสดงออกมาอย่างชัดเจน ในขณะที่บางเรื่องก็อาจจะไม่แสดงออกมาให้เห็นต่อหน้า
ข้อมูลอ้างอิงจาก Hofstede Insight นอกจากนี้สามารถดูมิติทางวัฒนธรรมประเทศอื่น ๆ ได้ที่เว็บไซต์ Hofstede-insights โดยสามารถเปรียบเทียบระหว่างสองประเทศได้