GreedisGoods » Business » ระดับกลยุทธ์ (Strategy Level) ในการจัดการเชิงกลยุทธ์

ระดับกลยุทธ์ (Strategy Level) ในการจัดการเชิงกลยุทธ์

by Kris Piroj
ระดับกลยุทธ์ คือ Strategy Level ระดับของกลยุทธ์ 3 Levels of Strategy กลยุทธ์ 3 ระดับ

ระดับกลยุทธ์ คืออะไร?

ระดับกลยุทธ์ คือ ระดับของกลยุทธ์ (Level of Strategy) ตามหลักการจัดการเชิงกลยุทธ์ที่แบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 3 ระดับ โดยที่กลยุทธ์แต่ละระดับจะใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ในแต่ละส่วนขององค์กรในระดับที่แตกต่างกัน

ระดับของกลยุทธ์ตามหลักการจัดการเชิงกลยุทธ์ จะแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • กลยุทธ์ระดับบริษัท (Corporate Strategy)
  • กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Strategy)
  • กลยุทธ์ระดับหน้าที่ (Functional Strategy)

จากทั้ง 3 ระดับกลยุทธ์ จะมีกลยุทธ์ระดับบริษัท (หรือกลยุทธ์ระดับองค์กร) เป็นกลยุทธ์ในระดับที่เป็นภาพกว้างที่สุด ในขณะที่กลยุทธ์ระดับหน้าที่จะเป็นกลยุทธ์ในระดับย่อยที่สุด และในแต่ละระดับของกลยุทธ์ 3 ระดับจะมีความสำคัญและวิธีดำเนินกลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไปตามระดับ

โดยในเบื้องต้น กลยุทธ์ระดับบริษัท (Corporate Strategy) จะเป็นกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมของทั้งบริษัทหรือทั้งองค์กร ส่วนกลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Strategy) จะเป็นกลยุทธ์สำหรับการแข่งขันในแต่ละหน่วยธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ ในขณะที่กลยุทธ์ระดับหน้าที่ (Functional Strategy) จะเป็นกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละส่วนย่อยของการดำเนินธุรกิจ

กลยุทธ์ระดับบริษัท หรือ Corporate Strategy

กลยุทธ์ระดับบริษัท คือ การกำหนดกลยุทธ์ในภาพกว้างของทั้งบริษัทหรือทั้งองค์กร เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของทั้งบริษัท (หรือทั้งองค์กร) เช่น จะลงทุนเพิ่มหรือจะลดธุรกิจบางส่วนอย่างไร จะดำเนินงานในระยะยาวอย่างไร โดยกลยุทธ์ระดับบริษัท (Corporate Strategy) สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลยุทธ์ ได้แก่

Growth Strategy หรือ กลยุทธ์แบบเน้นการเติบโต เป็นการดำเนินธุรกิจให้ธุรกิจเติบโตด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การหาตลาดใหม่ การควบกิจการ การเข้าซื้อกิจการอื่น และขยายกิจการจากรายได้ของกิจการ

Stability Strategy หรือ กลยุทธ์แบบคงที่ ไม่ขยายกิจการแบบ Growth Strategy เป็นการดำเนินธุรกิจในตลาดที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงหรืออิ่มตัวแล้ว ซึ่งทำให้ลงทุนเพิ่มไปก็ไม่ได้อะไร บริษัทที่ใช้ Stability Strategy จึงเลือกที่จะไม่ลงทุนเพิ่มและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อไปจนกว่าสภาพแวดล้อมในการแข่งขันจะเปลี่ยนแปลงไป

Retrenchment Strategy หรือ กลยุทธ์แบบหดตัว ด้วยการลดระดับการดำเนินงาน มักจะพบในบริษัทที่เริ่มมองเห็นทิศทางของตลาดที่หดตัวลง เช่น ในยุค FinTech ที่ธนาคารต่าง ๆ หันมาใช้เทคโนโลยีแทนมากขึ้น ทำให้ทยอยปิดสาขาและปลดพนักงานออกเรื่อย ๆ

กลยุทธ์ระดับธุรกิจ หรือ Business Strategy

กลยุทธ์ระดับธุรกิจ คือ กลยุทธ์ในการแข่งขันของบริษัทในแต่ละหน่วยธุรกิจย่อยหรือในแต่ละผลิตภัณธ์ เป็นการวางกลยุทธ์ว่าบริษัทจะแข่งขันด้วยวิธีไหน และทำให้เห็นด้วยว่าคู่แข่งทางธุรกิจของบริษัทคือใคร นอกจากนี้กลยุทธ์ระดับธุรกิจยังสามารถนำไปใช้วางแผนการตลาดและผลิตภัณฑ์

กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Strategy) ที่พบได้บ่อยจะมีอยู่ทั้งหมด 5 กลยุทธ์ ได้แก่:

กลยุทธ์ความเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership Strategy) ที่แข่งขันด้วยความสามารถในการผลิตสินค้าเดียวกันได้ในต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกกว่าเจ้าอื่น ทำให้ได้กำไรต่อหน่วยมากขึ้น และสามารถแข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งทำให้สามารถขายได้ในราคาที่ถูกลง หรือขายได้ในราคาเท่ากันแต่กำไรต่อหน่วยมากกว่าคู่แข่ง

กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง (Differentiation Strategy) เป็นกลยุทธ์การแข่งขันด้วยการมีสินค้าหรือบริการที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นในตลาดเป็นตัวดึงดูด โดยอาจเป็นสินค้าที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือเป็นสินค้าที่เคยมีมาก่อนแต่แตกต่างจากเดิมก็ได้

กลยุทธ์การตอบสนองอย่างรวดเร็ว (Quick Response) เน้นการปรับตัวในด้านต่าง ๆ เพื่อให้บริษัทสามารถตอบสนองลูกค้าได้ตามความต้องการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่แข่งขันกันตอบสนองความต้องการของลูกค้าจนทำให้มีรุ่นใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์ Focus ที่เป็นการเน้นจับลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษในตลาดที่แคบและเฉพาะทางมากขึ้น (ทั้งนี้ ลูกค้ากลุ่มอื่นที่ไม่ได้ Focus ก็สามารถใช้สินค้านั้นได้เหมือนกัน) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ต่อยอดมาจากกลยุทธ์ Cost Leadership Stategy และ Differentiation Strategy

Focus Differentiation คือกลยุทธ์สร้างความแตกต่างให้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ร้านหนังสือที่สามารถมานั่งแช่ได้ทั้งวันจับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา (ในขณะที่คนที่ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษาก็มานั่งได้)

Cost Focus คือกลยุทธ์ที่เน้นเรื่องต้นทุนเพื่อตอบสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น เครื่องดื่มชูกำลังต้นทุนต่ำยี่ห้อหนึ่งจับกลุ่มแรงงาน (ซึ่งลูกค้ากลุ่มอื่นอย่างนักศึกษาที่อ่านหนังสือดึกดื่น ก็ซื้อไปกินได้เช่นกัน)

กลยุทธ์ระดับหน้าที่ หรือ Functional Strategy

กลยุทธ์ระดับหน้าที่ คือ การกำหนดกลยุทธ์ในแต่ละหน้าที่ของธุรกิจนั้น ๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งกลยุทธ์ระดับหน้าที่ในแต่ละหน้าที่จะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป โดยจากทั้งกลยุทธ์ 3 ระดับ ในส่วนนี้คือระดับกลยุทธ์ที่เป็นส่วนย่อยที่สุด

โดยการดำเนินกลยุทธ์ระดับหน้าที่ให้นึกถึงในแต่ละแผนกในบริษัท กลยุทธ์ที่แผนกเหล่านั้นใช้แก้ปัญหาคือกลยุทธ์ระดับหน้าที่ โดยตัวอย่างของกลยุทธ์ระดับหน้าที่ (Functional Strategy) ที่พบได้ในองค์กรทั่วไป ได้แก่

การตลาด (Marketing) จะใช้กลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ เพื่อศึกษา นำเสนอสินค้า และตอบสนองความต้องการของลูกค้า

การผลิต (Production) มีหน้าที่ผลิตสินค้าให้ได้ผลผลิตสูงสุด และเกิดผลเสียจากการผลิตให้น้อยที่สุด

การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) คอยคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น หรือมีคุณภาพเท่าเดิมในต้นทุนที่ลดลง

การจัดซื้อ (Purchasing) ใช้กลยุทธ์ในการคัดเลือกผู้ขายวัตถุดิบตามความต้องการของแต่ละส่วนงานในธุรกิจ รวมถึงการใช้กลยุทธ์ในการเจรจาต่อรองให้ได้ราคาที่เหมาะสมในแต่ละการสั่งซื้อ

การเงิน (Financial) ที่เกี่ยวกับกิจกรรมจัดหาแหล่งเงินทุน และใช้กลยุทธ์ทางการเงินต่าง ๆ ทำให้บริษัทสามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น ต่อเนื่อง

กล่าวคือ กลยุทธ์ระดับหน้าที่ หรือ Functional Strategy คือแต่ละส่วนขององค์กรตามแนวคิด Value Chain ของ Michael E. Porter นั่นเอง

บทความที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด