ธุรกิจธนาคาร (Banking) คือหนึ่งในธุรกิจที่แหล่งรายได้ต่างจากธุรกิจทั่วไป ในบทความนี้มาทำความเข้าใจกันว่า รายได้ของธนาคาร คืออะไร? มีแหล่งที่มาจากอะไรบ้าง และอะไรเป็นรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์
รายได้ของธนาคาร คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียม และรายได้จากธุรกิจอื่นของธนาคาร โดยทั่วไปสัดส่วนรายได้ธนาคารของทั้ง 3 ประเภทรายได้ของธนาคารที่มากที่สุดจะมาจาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่น ๆ ตามลำดับ
แต่ก่อนจะทำความเข้าใจกับรายได้ของธนาคารแต่ละประเภท ต้องเริ่มจากทำความเข้าใจพื้นฐานการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์กันก่อน
ในทางเทคนิคแล้ว ธนาคารพาณิชย์ คือ ธุรกิจรูปแบบหนึ่งคล้ายกับบริษัทจดทะเบียนอื่น ๆ ที่เราเห็นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงแต่วิธีดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์คือสิ่งทีแตกต่างออกไปจากธุรกิจทั่วไป
การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ โดยพื้นฐานคือการนำเงินฝากของผู้ที่นำเงินมาฝากธนาคาร (ยืมเงิน) ไปลงทุนสร้างผลตอบแทนด้วยการปล่อยกู้ และนำรายได้จากการลงทุนมาจ่ายผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ให้กับผู้ที่นำเงินมาฝากกับธนาคาร
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ดอกเบี้ยเงินกู้
รายได้ของธนาคาร ในส่วนที่ถือเป็นรายได้ที่มีสัดส่วนสูงสุด คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากการที่ธนาคารนำเงินฝากไปปล่อยกู้ให้กับประชาชนทั่วไปและธุรกิจที่ต้องการกู้ยืมเงินไปใช้
ดอกเบี้ยเงินกู้ คือ รายได้ที่เกิดขึ้นจากส่วนต่างระหว่าง ดอกเบี้ยเงินกู้ – ดอกเบี้ยเงินฝาก เรียกว่า ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ Net Interest Margin (NIM)
ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM = ดอกเบี้ยเงินกู้ – ดอกเบี้ยเงินฝาก
อย่างที่ได้อธิบายในตอนต้น ธนาคารไม่ได้รับฝากเงินของเราเอาไว้เฉย ๆ แต่ธนาคารจะนำเงินฝากไปปล่อยกู้ เพื่อสร้างรายได้ในรูปแบบของดอกเบี้ย ซึ่งยิ่งธนาคารปล่อยกู้เงินเป็นจำนวนมากก็จะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยที่มากขึ้น
ดังนั้น ยิ่งพอร์ตสินเชื่อของธนาคารโตรายได้ของธนาคารนั้นก็มักจะยิ่งสูง แต่ในขณะเดียวกันในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง ก็จะทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงที่สูงกว่าเช่นกัน
ในการวิเคราะห์งบการเงินหุ้นกลุ่มธนาคาร สิ่งที่ควรพิจาณาควบคู่กับพอร์ตสินเชื่อของธนาคารในการวิเคราะห์ รายได้ของธนาคาร คือ การพิจารณา Non Profit Loan หรือหนี้สูญของแต่ละธนาคารควบคู่กัน
เพราะการที่มีลูกหนี้จำนวนมาก (ตัวเลขพอร์ตสินเชื่อสูง) แต่ไม่สามารถเก็บหนี้ได้ ก็จะไม่ต่างกับการผลิตสินค้าจำนวนมากแต่ไม่สามารถขายสินค้าได้
ค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียม (Fee) คือ รายได้ที่มีสัดส่วนรองลงมาจากทั้ง 3 ประเภทรายได้ของธนาคาร โดยค่าธรรมเนียม (Fee) คือ รายได้จากการให้บริการเกี่ยวกับการทำธุรกรรมอะไรก็ตามกับธนาคารที่ไม่ใช่การกู้เงินและการรับฝากเงิน
ตัวอย่างเช่น ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชี ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน ค่าธรรมเนียมในการทำบัตรเอทีเอ็ม ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมในการกู้เงิน ค่าประเมินสินทรัพย์เวลากู้เงิน ค่าธรรมเนียมในการลงทุน และค่าธรรมเนียมจากการประกัน เป็นต้น
ในแต่ละธนาคารจะมีสัดส่วนโครงสร้าง รายได้จากค่าธรรมเนียม ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าธนาคารดำเนินธุรกิจอย่างไร ซึ่งนักลงทุนสามารถศึกษาได้จากงบการเงินของแต่ละธนาคาร เพื่อเปรียบเทียบได้ว่าธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมอะไรเป็นหลัก
รายได้อื่น ๆ ของธนาคาร
รายได้ของธนาคารในส่วนสุดท้าย ไม่ใช่รายได้ที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจหลักของธนาคาร แต่มาจากรายได้ส่วนอื่น ๆ ของธนาคาร ในกรณีที่ธนาคารมีธุรกิจอื่นหลายธุรกิจ ตัวอย่างเช่น
- รายได้จากธุรกิจประกัน
- รายได้จากการลงทุน
- รายได้จากบริษัทหลักทรัพย์
อย่างเช่น ธนาคารที่มีธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือนายหน้าค้าหุ้น รายได้จากบริษัทหลักทรัพย์จะถูกนับรวมเอาไว้ในส่วนของรายได้อื่น ๆ