GreedisGoods » Finance » ลดหย่อนภาษี 2562 มีอะไรบ้าง? เตรียมพร้อมยื่นภาษีปี 2563

ลดหย่อนภาษี 2562 มีอะไรบ้าง? เตรียมพร้อมยื่นภาษีปี 2563

by Kris Piroj
ลดหย่อนภาษี 2562 ค่าลดหย่อนภาษี คือ อะไร ภาษี

ค่าลดหย่อนภาษี คือ สิทธิที่ทำให้ผู้มีเงินได้สามารถลดฐานภาษีลงได้เมื่อทำตามเงื่อนไขของการ ลดหย่อนภาษี ที่จะแตกต่างกันไปตามค่าลดหย่อนภาษีแต่ละรายการ ซึ่งการที่ฐานภาษีลดลงก็ช่วยจะทำให้ภาษีต้องจ่ายลดลง

ค่าลดหย่อนภาษี คือ การทำให้เงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายลดลง เพื่อที่จะได้คำนวณออกมาแล้วจ่ายภาษีน้อยลง นอกจากนี้ความหมายของ ลดหย่อนภาษี (Allowance) จะไม่ใช่การจ่ายภาษีลดลง 60,000 บาทเมื่อค่าลดหย่อนภาษีบอกว่า ลดหย่อนภาษี 60,000 บาท

การลดหย่อนภาษี จะเกิดขึ้นในขั้นตอนที่ 2 ของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายได้จาก: (เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ลดหย่อนภาษี) x อัตราภาษี

ตัวอย่างเช่น เงินได้ของนาย A หลังจากหักค่าใช้จ่ายคือ 500,000 บาท การใช้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท (สมมติว่านาย A ใช้สิทธิเดียว) จะทำให้เงินได้ที่ต้องนำไปคิดภาษีของนาย A คือ 440,000 บาท ซึ่งเงินได้หลังจาก ลดหย่อนภาษี จะเรียกว่า เงินได้สุทธิ

ทำความเข้าใจวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบละเอียดได้ที่บทความ วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ง่ายๆใครก็ทำได้

โดยรายการ ลดหย่อนภาษี จะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใญ่ๆ คือ ค่าลดหย่อนที่มีอยู่แล้วทุกปี (ในบทความนี้) และ ค่าลดหย่อนภาษีที่มีเฉพาะปีนั้นๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาในแต่ละปี ซึ่งค่าลดหย่อนตามนโยบายในปี 2562 สามารถติดตามได้ที่บทความ รายการลดหย่อนภาษี 2562 ตามนโยบายของรัฐบาล

บทความนี้เราจะพูดถึง ค่าลดหย่อนภาษีที่มีทุกปี (อัพเดทรายการ ลดหย่อนภาษี 2562) เท่านั้น และแบ่งจะกลุ่มสิทธิ ลดหย่อนภาษี ออกเป็นกลุ่ม 4 กลุ่มเพื่อความสะดวกในการอ่าน คือ ค่าลดหย่อนภาษีที่เกี่ยวกับตัวเองและครอบครัว, กองทุนลดหย่อนภาษี, ประกันลดหย่อนภาษี, และค่าลดหย่อนภาษีจากการบริจาค

ลดหย่อนภาษีส่วนตัว และ ครอบครัว

หมวดหมู่แรกจะเป็นค่าลดหย่อนเกี่ยวกับค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว และค่าลดหย่อนภาษีที่เกี่ยวกับครอบครัว โดยแต่ละค่าลดหย่อนในกลุ่มนี้อธิบายแบบคร่าวๆ ได้ดังนี้

  1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส (อีกฝ่ายไม่มีรายได้) 60,000 บาท แต่ถ้ามีรายได้ทั้งคู่แล้วยื่นร่วมกันจะลดหย่อนรวมกันได้สูงสุด 120,000 บาท
  3. ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท
  4. ค่าลดหย่อนภาษีฝากครรภ์และคลอดบุตร ท้องละ 60,000 บาท
  5. ค่าลดหย่อนภาษีเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 30,000 บาท
  6. ค่าลดหย่อนภาษีเลี้ยงดูคนพิการ/ผู้ทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท

ค่าลดหย่อนส่วนตัว

ค่าลดหย่อนส่วนตัว คือ ค่าลดหย่อนภาษีที่ให้สิทธิสำหรับผู้ที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคน (รวมไปถึงกรณี ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี) ลดหย่อนภาษี 60,000 บาทได้ทันที

พูดง่ายๆ ก็คือผู้ที่ยื่นภาษีทุกคนจะได้ ลดหย่อนภาษี 60,000 บาทนี้แบบอัตโนมัติทันที

ลดหย่อนคู่สมรส

สำหรับผู้ที่มีคู่สมรสตามกฎหมาย (ต้องจดทะเบียนสมรส) และคู่สมรสอีกฝ่ายไม่มีเงินได้หรือมีแต่เลือกยื่นภาษีร่วมกันกับคุณ จะสามารถ ลดหย่อนภาษี 60,000 บาท

แต่ในกรณีที่คู่สมรสทั้ง 2 ฝ่ายต่างฝ่ายต่างมีเงินได้จะสามารถ ลดหย่อนภาษี รวมกันได้ 120,000 บาท

ลดหย่อนบุตร

ผู้ที่มีบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมสามารถใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษี ได้คนละ 30,000 บาทต่อคน (ลูกคนเดียวกัน สามารถนำไปใช้เป็น ค่าลดหย่อนบุตร ได้ทั้งพ่อและแม่) โดยบุตรที่นำมาใช้สิทธิค่า ลดหย่อนบุตร จะต้องอยู่บนเงื่อนไขต่อไปนี้

  1. มีอายุไม่เกิน 20 ปี แต่ถ้าอายุระหว่าง 21-25 ปีจะต้องกำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา อนุปริญญา หรือมหาวิทยาลัย
  2. หรือเป็นผู้ที่ศาลสั่งให้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู

กรณีที่มีแต่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ลดหย่อนภาษี ได้ไม่จำกัดจำนวนคน (มี 4 คนลดหย่อนได้ 30,000 x 4)

กรณีที่มีแต่บุตรบุญธรรม ลดหย่อนภาษีในส่วนของ ค่าลดหย่อนบุตร ได้สูงสุด 3 คนเท่านั้น

กรณีที่มีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายมาใช้ลดหย่อนก่อน แต่ถ้าใช้บุตรชอบด้วยกฎหมายลดหย่อนภาษีไปไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาใช้สิทธิเพิ่มจนครบ 3 คน อย่างเช่น มีบุตรตามกฎหมาย 2 คน และบุตรบุญธรรม 2 คน ก็จะใช้สิทธิ ลดหย่อนบุตร ได้ทั้งหมด 3 คน (บุตร 2 บุญธรรม 1)

ตัวอย่างวิธีใช้สิทธิหัก ลดหย่อนบุตร ทั้ง 3 กรณี

ลดหย่อนภาษี บุตร ลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนภาษี Infographic

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไปได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์เพิ่มเข้ามา ในกรณีที่ลูกคนที่ 2 เป็นต้นไปเกิดตั้งปี 2561 เป็นต้นไป จะสามารถใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษี ได้เพิ่มเป็นคนละ 60,000 บาทต่อคน

ลดหย่อนภาษีคลอดบุตร

คู่สามีภรรยาที่ตั้งครรภ์สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการฝากครรภ์และคลอดบุตร ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการตรวจและฝากครรภ์ ค่ายา ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร นำมาใช้เป็นค่า ลดหย่อนภาษีคลอดบุตร ได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาทต่อครรภ์ (แท้งก็ยังใช้สิทธิได้)

โดยหลักฐานที่ต้องใช้สำหรับ ลดหย่อนภาษีคลอดบุตร คือ ใบเสร็จ และใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าตั้งครรภ์

กรณีที่ตั้งครรภ์และท้องข้ามปีจะสามารถ ลดหย่อนภาษี ตามจริงได้ทั้ง 2 ปีแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท (เช่น ปีนี้จ่ายค่าฝากครรภ์ 30,000 บาทก็จะ ลดหย่อนค่าฝากครรภ์ได้ 30,000 ปีหน้าจ่ายค่าคลอด 60,000 ในปีหน้าจะ ลดหย่อนภาษีคลอดบุตร ได้แค่ 30,000 บาทเท่านั้น)

นอกจากนี้ กรณีที่ในปีภาษีนั้นทั้งสามีและภรรยายื่นภาษีทั้งคู่ จะมีเพียงแค่ภรรยาที่ใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษีคลอดบุตร ได้เท่านั้น

ลดหย่อนภาษีบิดามารดา

สำหรับผู้ที่อุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป (ในปีภาษีที่ใช้สิทธิ) ลดหย่อนภาษี ได้คนละ 30,000 บาท โดยพ่อและแม่ที่จะนำมาใช้สิทธิ ลดหย่อนพ่อแม่ จะต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท

นอกจากนี้ ถ้าหากในปีภาษีนั้นคู่สมรสของคุณไม่ได้ยื่นภาษีเงินได้ คุณก็จะสามารถใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษีบิดามารดา ได้อีกคนละ 30,000 บาท

โดยผู้ใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษีบิดามารดา จะต้องให้พ่อแม่ลงเซ็นต์รับรองในหนังสือรับรอง (ลย.03) ว่าลูกคนไหนเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ 1 คนจะลดหย่อนได้เพียง 1 สิทธิเท่านั้น (พี่น้องใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบิดามารดาพร้อมกันไม่ได้)

ลดหย่อนภาษีคนพิการ/ผู้ทุพพลภาพ

ผู้มีเงินได้ที่มีชื่อเป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพ สามารถใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษีคนพิการ ได้คนละ 60,000 บาท (ผู้พิการ/ผู้ทุพพลภาพ 1 คนใช้ได้ 1 สิทธิ) โดยคนพิการหรือคนทุพพลภาพจะต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท ในปีภาษีที่ขอลดหย่อนภาษี

นอกจากนี้ ผู้ใช้สิทธิลดหย่อน หรือ ผู้พิการ/ผู้ทุพพลภาพ จะต้องอยู่ไทยครบ 180 วันขึ้นไปในปีภาษีที่ใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษีคนพิการ

กองทุนลดหย่อนภาษี

ค่าลดหย่อนภาษีเกี่ยวกับกองทุนจะมีทั้งหมด 6 รายการ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

โดยทุกรายการของค่าลดหย่อนภาษีเกี่ยวกับกองทุน (ยกเว้นการซื้อหน่วยลงทุนกองทุน LTF) เมื่อรวมกันจะสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนภาษี

เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำไปใช้เป็น ค่าลดหย่อนภาษี ได้ตามที่จ่ายจริงในปีภาษีนั้น แต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และไม่เกิน 500,000 บาท

เมื่อรวมกับ เงินซื้อหน่วยลงทุน RMF เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ

เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สามารถนำมา ลดหย่อนภาษี ได้เท่ากับจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท

และจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อนำไปรวมกับ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินซื้อหน่วยลงทุน RMF

กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ

เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ สามารถนำไปใช้เป็นสิทธิ ลดหย่อนภาษี ได้เท่าจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และไม่เกิน 500,000 บาทเมื่อนำไปรวมกับ

เงินซื้อหน่วยลงทุน RMF เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้งชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำไปใช้เป็นสิทธิ ลดหย่อนภาษี ได้เท่าจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อนำไปรวมกับ

เงินซื้อหน่วยลงทุน RMF เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้งชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

RMF ลดหย่อนภาษี

ผู้มีเงินได้ที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (กองทุนเดียวกัน หรือหลายกองทุนก็ได้) สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อหน่วยลงทุน RMF ลดหย่อนภาษี ได้เท่ากับที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในปีนั้น และไม่เกิน 500,000 บาท

เมื่อรวมกับ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ

ค่าลดหย่อนภาษี คือ ลดหย่อนภาษี กองทุน

LTF ลดหย่อนภาษี

การซื้อหน่วยลงทุน LTF ลดหย่อนภาษี ได้จากการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อหน่วยลงทุนกองทุน LTF หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาวไปใช้ ลดหย่อนภาษี ได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขของการ ซื้อ LTF ลดหย่อนภาษี คือ จะต้องถือหน่วยลงทุน LTF ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ทุพพลภาพหรือตาย (ถ้าหากขายก่อนครบกำหนดต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้ ลดหย่อนภาษี จากการซื้อ LTF พร้อมกับเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 จะเป็นปีสุดท้ายที่สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อ LTF มาใช้ ลดหย่อนภาษี

ประกันลดหย่อนภาษี

ค่าลดหย่อนภาษีเกี่ยวกับประกัน จะมีอยู่ทั้งหมด 5 รายการ โดยทุกรายการจะลดหย่อนภาษีได้เท่ากับที่จ่ายจริง และจะมีเพดานสูงสุดของค่าลดหย่อนแต่ละประกันแตกต่างกันไป สำหรับค่าลดหย่อนภาษีเกี่ยวกับประกันต่างๆ มีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

  1. ประกันสังคม หักได้เท่าที่จ่ายจริง โดยจ่ายสูงสุดได้ปีละ 9,000 บาท
  2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท 
  3. ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี หักลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  4. ประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไป (ข้อ 3) ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  5. ประกันสุขภาพพ่อแม่ ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

ประกันสังคมลดหย่อนภาษี

ผู้ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคม จะสามารถนำจำนวนเงินที่จ่ายไปใช้เป็น ค่าค่าลดหย่อน ได้เท่ากับที่จ่ายจริง

โดยในปัจจุบันสามารถจ่ายเงินประกันสังคมได้สูงสุดเดือนละ 750 บาท หรือปีละ 9,000 บาท

ประกันบำนาญลดหย่อนภาษี

ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาใช้เป็น ค่าลดหย่อนภาษี ได้ในอัตราร้อย 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่นำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้จะต้องให้ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่ออายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือมากกว่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่ที่นำไปใช้ลดหย่อนภาษีรวมกับ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี

ในกรณีที่ทำประกันให้ตัวเอง (รวมถึง เงินฝากแบบมีประกันชีวิต) โดยกรมธรรม์มีอายุ 10 ปีขึ้นไป จะสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิต ลดหย่อนภาษี ได้เท่ากับที่จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

สำหรับกรณีที่คู่สมรสทำประกันชีวิตให้อีกฝ่ายที่ไม่มีรายได้ จะสามารถนำค่าเบี้ยประกันประกันชีวิต ลดหย่อนภาษี ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยจะต้องเป็นสามีภริยากันตลอดปีภาษี

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี แบบละเอียดได้ที่ – ประกันลดหย่อนภาษี คืออะไร? ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่บ้าง?

ประกันสุขภาพตัวเอง

เบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี ได้สูงสุด 15,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตลดหย่อนภาษี (หัวข้อที่แล้ว) ต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยเงื่อนไขของ ประกันสุขภาพ ที่จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ คือ ประกันต่อไปนี้

  1. ประกันโรคร้ายแรง (Critical Illness)
  2. ประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
  3. ประกันที่คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพ และการสูญเสียอวัยวะเนืองจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  4. ประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก

ประกันสุขภาพพ่อแม่ลดหย่อนภาษี

ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ โดยบิดามารดาที่เราจ่ายค่าประกันสุขภาพให้ ต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิไม่เกิน 30,000 บาท สามารถนำมาใช้สิทธิหักลดหย่อนในรายการ ประกันสุขภาพพ่อแม่ลดหย่อนภาษี ได้เท่ากับที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

โดยเงื่อนไขของ ประกันสุขภาพ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้จะเหมือนกับในส่วนของ ประกันสุขภาพตัวเอง (หัวข้อที่แล้ว)


บริจาคลดหย่อนภาษี

เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา สามารถได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ

  • ตรวจสอบรายชื่อสถานศึกษาที่ผู้มีเงินได้สามารถบริจาคลดเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://bit.ly/2qcqtBN

เงินบริจาคอื่นๆ สามารถหักลดหย่อนภาษีได้เท่าที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

ค่าลดหย่อนภาษี 2562 (เท่านั้น)

รายการสิทธิ ลดหย่อนภาษี ที่อธิบายมาทั้งหมดในบทความนี้คือ ค่าลดหย่อนภาษี ที่จะมีอยู่แล้วทุกปี (หรือจนกว่าจะแก้ไขหรือยกเลิก) แต่นอกจากรายการเหล่านี้ในแต่ละปีอาจมีมาตรการบางอย่างของรัฐบาลเพิ่มเข้ามา อย่างเช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้มีรายการลดหย่อนภาษีบางอย่างเพิ่มเข้ามา

เพื่อที่จะได้ไม่ทำให้บทความนี้ยาวเกินไปสามารถดู ค่าลดหย่อนภาษีปี 2562 ทุกรายการได้ที่บทความ รายการลดหย่อนภาษี 2562 (พิเศษ)


อ้างอิงจากรายการค่าลดหย่อนภาษีจากเว็บไซต์กรมสรรพกร rd.go.th/publish/557.0.html

หมายเหตุ: ค่าลดหย่อนภาษีอาจมีการเปลี่ยนแปลง แนะนำให้ติดตามอัพเดทความเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

บทความที่เกี่ยวข้อง