GreedisGoods » Economics » ลัทธิพาณิชย์นิยม คืออะไร? (Mercantilism)

ลัทธิพาณิชย์นิยม คืออะไร? (Mercantilism)

by Kris Piroj
ลัทธิพาณิชย์นิยม คือ Mercantilism คือ แนวคิด ปัญหา ทฤษฎี การค้าระหว่างประเทศ

ลัทธิพาณิชย์นิยม คืออะไร?

ลัทธิพาณิชย์นิยม คือ แนวคิดที่เชื่อว่าความมั่งคั่งของทั้งโลกมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นความมั่งคั่งของชาติจึงเกิดขึ้นได้จากการสะสมสินทรัพย์มีค่าอย่างเช่นทองคำและโลหะเงินเงิน แนวคิดลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) จึงเชื่อว่าการเกินดุลการค้าจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้สูงสุด

ประเทศที่มีแนวคิดลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) จึงมุ่งไปที่การสนับสนุนการส่งออกและกีดกันการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อทำให้ประเทศของตนส่งออกมากกว่านำเข้า (เกินดุลการค้า) ทำให้มีทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างทองคำและโลหะมีค่าอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งมีค่าในการแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น

โดยวิธีที่ใช้สร้างความได้เปรียบในการค้าระหว่างประเทศของแนวคิดลัทธิพาณิชย์นิยม ได้แก่ การกำหนดโควต้าการนำเข้า ภาษีศุลกากร การห้ามการนำเข้าสินค้าจากบางประเทศ และการตั้งเงื่อนไขกีดกันอื่น ๆ กับประเทศที่ส่งออกเข้ามายังประเทศของตน

พูดได้ว่าแนวคิดแบบลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) คือ การมุ่งสะสมความมั่งคั่งของชาติด้วยการส่งออกสินค้าเพื่อแลกเป็นทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศในขณะนั้น

ลัทธิพาณิชย์นิยมเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมในช่วงศตวรรษที่ 16 ถึงกลางศตวรรษที่ 18 ก่อนอุตสาหกรรม (proto-industrialization) จนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยแนวคิด Absolute Advantage ของ Adam Smith ในปี 1776

ปัญหาของลัทธิพาณิชย์นิยม

ปัญหาของลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) คือ สิ่งที่เป็นเงาของการมุ่งสร้างความได้เปรียบของดุลการค้าระหว่างประเทศ ปัญหาแรกจึงเป็นการที่ “ถ้าประเทศหนึ่งได้เปรียบ อีกประเทศก็ต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบ”

สิ่งที่ตามมาคือแต่ละประเทศพยายามกีดกันการนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ในขณะที่ประเทศที่มีแนวคิดแบบลัทธิพาณิชย์นิยมต้องการส่งออกให้เกินดุลการค้าเพื่อเพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่สงครามการค้าและความขัดแย้งที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในท้ายที่สุด

อธิบายให้ง่ายกว่านั้นปัญหาคือ “เป็นธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ต่างไม่ยอมเสียเปรียบ” เพราะไม่มีทางที่แต่ละประเทศจะยอมเสียเปรียบ เว้นแต่ว่าไม่มีอำนาจต่อรองด้วยเหตุผลบางอย่าง เหมือนกับการหาเรื่องคนอื่นก่อนก็ย่อมไม่มีเหตุผลที่อีกฝ่ายจะไม่ตอบโต้

นอกจากนี้ อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องของเงินเฟ้อ (Inflation) ที่เป็นผลมาจากปริมาณเงินที่เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมากจากการเกินดุลการค้าของประเทศที่เป็นผู้ชนะในสงครามการค้า

จากทั้ง 2 ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ในท้ายที่สุดแนวคิดลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) จึงได้เสื่อมสลายไปในที่สุด และได้กลายเป็นยุคของแนวคิดแบบ Absolute Advantage หรือความได้เปรียบอย่างสมบูรณ์ของ Adam Smith ตั้งแต่ช่วงปี 1776

แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดแบบลัทธิพาณิชย์นิยมก็ยังคงมีหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะไม่ชัดเจนเท่ากับในอดีต ตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่องการเกินดุลการค้าของหลายประเทศ หรือเรื่องนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างกันของสหรัฐอเมริกาและจีน

ข้อมูลอ้างอิงจาก: Feriors

บทความที่เกี่ยวข้อง