วัฒนธรรมปรปักษ์ คืออะไร?
วัฒนธรรมปรปักษ์ คือ วัฒนธรรมที่มีลักษณะขัดแย้งกับวัฒนธรรมหลักหรือวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น ๆ ในส่วนของ วัฒนธรรมปรปักษ์ที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมองค์กร คือการที่เกิดวัฒนธรรมที่ขัดแย้งต่อวัฒนธรรมหลักภายในองค์กร โดยมักจะเกิดจากกลุ่มย่อยในองค์กร
โดยกลุ่มย่อยดังกล่าวจะมีแนวความคิดไปในทิศทางตรงข้ามกับวัฒนธรรมองค์กร (และบางครั้งอาจรวมไปถึงขัดต่อระเบียบต่าง ๆ ในองค์กร)
ตัวอย่างเช่น การที่นาย A มองว่าวัฒนธรรมองค์กรแบบญี่ปุ่นที่ทำงานจนเกินเวลาถือว่าขยัน เป็นเรื่องที่ไร้สาระ เพราะนาย A มองว่าการทำงานให้จบไว ๆ ต่างหากคือเรื่องที่ถูกต้อง นาย A จึงไม่สนใจแล้วรีบทำงานให้เสร็จแล้วกลับบ้านตามปกติ
พฤติกรรมของนาย A จากตัวอย่างนี้เองที่จะเรียกว่าวัฒนธรรมปรปักษ์หรือ Counter Culture ไม่ว่ามุมมองต่อนาย A จะมองว่าทำถูกหรือไม่ถูกก็ตาม
สาเหตุของวัฒนธรรมปรปักษ์ในองค์กร
สำหรับสาเหตุของวัฒนธรรมปรปักษ์ (Counter Culture) ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร โดยส่วนมากมักจะเกิดขึ้นกับการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) และการควบรวมกิจการ (Merger)
เพราะการเข้าซื้อกิจการและการควบกิจการ นั่นหมายความว่าพนักงานจากบริษัทหนึ่ง (จากวัฒนธรรมองค์กรแบบหนึ่ง) จะต้องเข้าไปอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ตามบริษัทแม่ที่ได้เข้ามาควบรวม (Merger) หรือเข้าซื้อกิจการ (Acquisition)
ดังนั้น การที่พนักงานที่ต้องพบเจอวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ (โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน) และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) แบบใหม่ได้ ในท้ายที่สุดพนักงานอาจเลือกที่จะต่อต้านหรือไม่สามารถปรับตัวได้แล้วเลือกใช้วัฒนธรรมองค์กรแบบเดิม
ผลของวัฒนธรรมปรปักษ์
ผลที่ตามมาของการเกิดวัฒนธรรมปรปักษ์ (Counter Culture) ในกรณีของการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) และการควบรวมกิจการ (Merger) คือการที่องค์กรอาจจะต้องเสียบุคลากรที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ได้ หรืออาจทำให้ประสิทธิภาพของงานลดลง ซึ่งส่งผลอย่างมากกับในกรณีที่ควบรวมหรือซื้อกิจการเพราะต้องการทรัพยากรมนุษย์
ตัวอย่างเช่น บริษัท A ซึ่งมีนโยบายการบริหารงานที่ค่อนข้างเข้มงวดได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท B ในประเทศไทย ซึ่งบริษัท B มีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ค่อยชัดเจนและมีการผ่อนปรนในประเด็นต่าง ๆ มากพอสมควร
เมื่อบริษัท A เข้าซื้อกิจการและเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานของบริษัท B ให้เข้มงวดขึ้นตามมาตรฐานของบริษัท B ผลที่มักจะตามมาในกรณีลักษณะนี้คือ วัฒนธรรมปรปักษ์ (Counter Culture) จากพนักงานที่ไม่พอใจและพนักงานที่ไม่สามารถปรับตัวตามได้ทัน ซึ่งผลที่ตามมาอาจเป็นการลาออกของพนักงานหรือประสิทธิภาพงานที่ลดลงในช่วงระยะเวลาของการปรับตัว
นอกจากนี้ ในบางกรณีที่เลวร้ายที่สุดวัฒนธรรมปรปักษ์ (Counter Culture) ที่เกิดจากการนำวัฒนธรรมเดิมที่นำมาใช้ในองค์กรใหม่ อาจนำไปสู่การควบรวมกิจการที่ล้มเหลวได้ด้วย