วัฒนธรรมองค์กร คืออะไร?
วัฒนธรรมองค์กร คือ วัฒธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มภายในแต่ละองค์กร โดยสิ่งที่นับว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ได้แก่ ค่านิยม แนวคิด แนวทาง หรือวิธีปฏิบัติที่เกิดขึ้นภายในแต่ละองค์กร ทำให้วัฒนธรรมองค์กรจะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละองค์กร
สำหรับคำว่า วัฒนธรรม คือ สิ่งที่เป็นรากฐานและเป็นตัวกำหนดทัศนคติและพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ ซึ่งในส่วนของ วัฒนธรรมองค์กร ก็เช่นกัน เพียงแต่วัฒนธรรมองค์กรจะมีขอบเขตที่เล็กลงมาเหลือแค่ในสังคมขององค์กรเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) เป็นสิ่งที่มักจะมีความใกล้เคียงกับวัฒนธรรมของประเทศที่บริษัทนั้นตั้งอยู่ แต่ในกรณีที่เป็นบรรษัทข้ามชาติอาจจะมีความเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ได้รับอิทธิพลจากทั้งวัฒนธรรมจากประเทศแม่และวัฒนธรรมของประเทศที่เข้าไปลงทุน
ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ที่สามารถพบเห็นได้บ่อยในไทย มักจะเป็น วัฒนธรรมองค์กรแบบญี่ปุ่นที่ติดมาพร้อมกับบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งก็คือการทำงานล่วงเวลาจนดึกที่วัฒนธรรมองค์กรแบบญี่ปุ่นจะมองว่าเป็นความขยัน ในทางกลับกันการกลับก่อนเวลาถึงแม้ว่างานเสร็จแล้วก็จะถูกมองว่าขี้เกียจอยู่ดี
โดยความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กร คือการที่เป็นสิ่งที่มีผลโดยตรงกับรูปแบบการทำงานในองค์กรและพฤติกรรมของคนในองค์กร นอกจากนี้ ในบางกรณีวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) อาจมีผลไปถึงเรื่องความถูกผิดและความเหมาะสมภายในองค์กรได้ด้วย นอกจากนี้ จากการวิจัยของ James L. Heskett จากมหาวิทยาลัย Harvard ยังพบว่าวัฒนธรรมองค์กรสามารถทำให้เกิดความแตกต่างของประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้ถึง 20-30% เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ไม่ได้เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน
วัฒนธรรมองค์กร เกิดจากอะไร?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า วัฒนธรรม (Culture) เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางสังคมหรือว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับปัจจัยที่สำคัญของ วัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) จะประกอบด้วย 6 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่
Vision (วิสัยทัศน์) จากการที่วิสัยทัศน์ หรือ Vision คือสิ่งที่กำหนดทิศทางขององค์กร ทำให้ภาพรวมของการดำเนินงานและพฤติกรรมของคนองค์กรมักจะมีแนวโน้มไปตามทิศทางขององค์กร ตัวอย่างเช่น องค์กรที่อยากเป็นที่ 1 ในอุตสาหรรม ก็จะมีการเสนอแนวคิดเพื่อวิจัยและพัฒนาให้เป็นผู้นำอยู่เสมอ
Value (ค่านิยมขององค์กร) ค่านิยมอีกหนึ่งส่วนที่มีผลอย่างมากต่อวัฒนธรรมทุกรูปแบบ สำหรับวัฒนธรรมองค์กรเองก็เช่นกัน เพราะค่านิยมขององค์กร คือ สิ่งที่จะช่วยกำหนดแนวทางการดำเนินงาน เพื่อนำองค์กรไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์เกิดความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น บริษัท McKinsey ที่มีการตั้งค่านิยมขององค์กรขึ้นมาชัดเจน เพื่อสื่อสารไปยังพนักงานว่าปฏิบัตอย่างไรกับลูกค้า
Practices (แนวการปฏิบัติของบริษัท) ตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าบริษัทมีนโยบายว่าเป็นองค์กรที่ไม่สนใจเรื่องลำดับขั้นความอาวุโส พนักงานในองค์กรก็จะมีแนวโน้มสูงที่จะกล้าออกความเห็นเกี่ยวกับปัญหา และปฏิเสธสิ่งที่ประสิทธิภาพต่ำกว่าจากผู้ที่อาวุโสมากกว่า
Narrative (เรื่องราวขององค์กร) ทุกองค์กรต่างมีประวัติศาสตร์ขององค์กร ซึ่งบางครั้งเรื่องราวและประวัติศาสตร์ขององค์กรคือสิ่งที่สืบทอดวัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบัน
People (คนภายในองค์กร) เพราะอย่างที่ได้อธิบายไว้ในตอนต้นว่าวัฒธรรมคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากคน ทำให้หลายบริษัททั่วโลกให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ และในบางองค์กรยังมีการคัดเลือกพนักงานให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร ตัวอย่างเช่น บริษัทเทคโนโลยีที่ตั้งอยู่ใน Silicon Valley มักจะมองว่าคนที่อายุมากเป็นคนแก่ที่ไม่มีความสามารถในการทำงานเกี่ยวกับ Technology ได้เท่ากับวัยรุ่น ทำให้หลายองค์กรใน Silicon Valley มักจะไม่จ้างผู้ที่มีอายุมากเกินไป
Place (สถานที่ตั้งขององค์กร) ที่ตั้งขององค์กรเองก็มีผลกับวัฒนธรรมองค์กรและพฤติกรรมของคนในองค์กร ตัวอย่างเช่น บริษัทเทคโนโลยีมักจะตั้งอยู่ใน Silicon Valley เพราะนอกจากจะหาพนักงานง่ายแล้ว สิ่งแวดล้อมของ Silicon Valley ยังเป็นตัวกระตุ้นพนักงานด้วยการที่อยู่ท่ามกลางบริษัท IT ชั้นนำ
ตัวอย่าง วัฒนธรรมองค์กร
วัฒนธรรมองค์กร หรือ Corporate Culture คือ อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องของค่านิยม แนวคิด แนวทาง หรือวิธีปฏิบัติที่เกิดขึ้นภายในแต่องค์กร จนทำให้คนส่วนใหญ่ในองค์กรยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น
ทัศนคติในการทำงานเกินเวลาเพื่อแสดงถึงความตั้งใจ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เกิดขึ้นในประเทศเอเชีย อย่างเช่น ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น ที่มักจะนั่งทำงานเกินเวลาใครกลับก่อนก็จะถูกเพ่งเล็ง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล แต่สำหรับวัฒนธรรมการทำงานเกินเวลาในองค์กรแถบเอเชีย คือเรื่องปกติที่จะเป็นการแสดงออกความตั้งใจทำงานด้วยการทำงานให้เสร็จก่อนจะกลับ (ในลักษณะไม่เสร็จไม่กลับ)
ในทางกลับกันในวัฒนธรรมที่ต่างกัน วัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) บางอย่างอาจเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วก็ได้ จากตัวอย่างเดิม การทำงานเกินเวลาเป็นประจำสำหรับประเทศแถบตะวันตกจะมองกรณีนี้ว่าไม่มีความรับผิดชอบ เพราะไม่สามารถทำงานให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดได้ ซึ่งนี่ก็จะเป็นอีกตัวอย่างที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรแบบตะวันตก)
ข้อมูลอ้างอิงจาก: Harvard Business School, Harvard Business Review, Workspace from Meta