Economic Crisis หรือ วิกฤตเศรษฐกิจ คือ อะไร? มาหาคำตอบกันว่าวิกฤตเศรษฐกิจ (Economics Crisis) และวิกฤตการเงิน (Financial Crisis) ในอดีตเกิดจากอะไร
วิกฤตเศรษฐกิจ คือ สถานการณ์ที่เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรงภายด้วยระยะเวลาสั้นๆ โดยสาเหตุของ วิกฤตเศรษฐกิจ (Economic Crisis) ส่วนใหญ่มีต้นเหตุจาก วิกฤตการเงิน (Financial Crisis) ซึ่งเกิดจากการที่มูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินบางอย่างลดลงอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังส่วนอื่นของระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจ (Economic Crisis) คือ สิ่งที่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีต้นเหตุมาจากวิกฤตการเงินเสมอไป แม้ว่า 2 ครั้งล่าสุดอย่าง วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง และ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 จะมีต้นเหตุมาจาก Financial Crisis หรือวิกฤตการเงินก็ตาม
แต่เงื่อนไขของ วิกฤตเศรษฐกิจ คือ การที่เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรง จนทำให้การจ้างงานลดลง การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง การลงทุนลดลง และมีหนี้เสียมากขึ้นจากการที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ เพราะไม่สามารถสร้างกำไรได้ เนื่องจากไม่มีการจับจ่ายใช้สอย
วิกฤตเศรษฐกิจ (Economic Crisis) จึงเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้เศรษฐกิจชะงักอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดปัญหาในข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น โรคระบาดที่รุนแรงจนคนไม่สามารถออกมาใช้เงินได้ สงคราม และวิกฤตการเงินอย่างในอดีตที่ธุรกิจต้องปิดตัวจนเกิดคนว่างงานจำนวนมาก
สาเหตุของ วิกฤตเศรษฐกิจ ในอดีต
จริงอยู่ที่ วิกฤตเศรษฐกิจ คือ สิ่งที่ไม่ได้จำเป็นจะต้องเริ่มจากวิกฤตการเงินเสมอไปอย่างที่ได้อธิบายในตอนต้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตการเงินหรือ Financial Crisis คือ สิ่งที่นำไปสู่ วิกฤตเศรษฐกิจ (Economic Crisis) ได้ง่ายที่สุด เพราะวิกฤตการเงินคือสิ่งที่ทำให้กำลังซื้อลดลง
จุดที่ทำให้วิกฤตการเงิน (Financial Crisis) ลุกลาม จนเป็นต้นเหตุของ Economic Crisis หรือ วิกฤตเศรษฐกิจ คือ การล้มของสถาบันการเงิน เพราะนั่นหมายความว่าเงินของผู้ฝากจะกลายเป็น 0 ทันทีที่ธนาคารล้มละลาย ทำให้คนที่ฝากเงินทุกคนสูญเงินไม่มากก็น้อย
เมื่อคนทั่วไปมีเงินน้อยลงก็จะใช้จ่ายเงินน้อยลง หมายความว่ารายได้ธุรกิจจะลดลงหรือไม่มีรายได้เพราะคนทั่วไปไม่มีกำลังซื้อหรือไม่อยากซื้อ ส่งผลให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถจ่ายหนี้ได้และไม่สามารถจ้างงานได้ เมื่อไม่มีการจ้างงาน รายได้ของคนทั่วไปก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก
ส่วนหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายคืนได้ก็จะกลายเป็นหนี้สูญ ซึ่งหนี้สูญที่มากในระดับหนึ่งจะทำให้ธนาคารที่ปล่อยกู้ขาดสภาพคล่อง จนอาจทำให้มีธนาคารที่ 2 และ 3 ล้มตามมาวนไป และเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในที่สุด
วิกฤตเศรษฐกิจ (Economic Crisis) ในอดีต
ในอดีตวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นก็ล้วนเกิดขึ้นมาโดยมีจุดเริ่มต้นมาจากวิกฤตการเงิน (Financial Crisis) ทั้งสิ้น ซึ่งมีรูปแบบในลักษณะเดียวกับที่อธิบายในข้างต้นเกือบทุกอย่าง สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจเหล่านั้น ได้แก่
วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่เกิดขึ้นเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถตรึงค่าเงินบาทได้อีกต่อไปจึงต้องลอยตัวค่าเงินบาทของไทย ทำให้หนี้จากการกู้ต่างชาติเพิ่มขึ้น 2 เท่าชั่วข้ามคืน (อธิบายแบบรวบรัด) ส่งผลให้เกิดการเทขายสินทรัพย์อย่างหนักเพื่อใช้หนี้ที่กู้มาจากต่างประเทศเพื่อเก็งกำไร และทำให้สถาบันการเงินกว่า 56 แห่งต้องปิดตัว
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือ วิกฤต Subprime ปี ค.ศ. 2008 ปัญหาหนี้เสียจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐด้วยการปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่มีความน่าเชื่อถือ (Credit) ต่ำกว่ามาตรฐาน (เรียกว่า Subprime) จนทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียจำนวนมหาศาล จนทำให้สถาบันการเงินขาดสภาพคล่องและล้มในที่สุด (อธิบายแบบรวบรัด ถ้าอยากทำความเข้าใจง่ายๆ แนะนำให้ดูหนังเรื่อง The Big Short)
สาเหตุของ Economic Crisis คือ อะไร
จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ วิกฤตเศรษฐกิจ คือ วิกฤตการเงิน (Financial Crisis) ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากอะไร แต่ปัญหาที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินจนลามไปเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ (Economic Crisis) คือ หนี้ (Credit) ที่ไม่จำเป็นและมากเกินไปในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหนี้เพื่อการเก็งกำไรสินทรัพย์ จนทำให้สินทรัพย์ราคาสูงขึ้นเกินมูลค่าที่แท้จริง
สาเหตุที่หนี้ (Credit) คือ ปัญหาที่นำไปสู่ กฤตเศรษฐกิจ เสมอมา เพราะการที่มีหนี้หมายความว่าคุณต้องใช้หนี้ โดยการก่อหนี้เพื่อการลงทุนอะไรก็ตาม อยู่บนพื้นฐานที่ว่า “จะทำให้คุณได้กำไรมากกว่าต้นทุน (ดอกเบี้ย) ที่ต้องจ่าย” ในทางกลับกันถ้าหากคุณล้มและไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ เงินก้อนนั้นของธนาคารก็จะกลายเป็น 0 ทันที
ซึ่งทุกวิกฤตการเงินก่อนจะพัฒนาไปเป็น วิกฤตเศรษฐกิจ (Economic Crisis) จุดเริ่มต้นจะมาจากเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้คนขาดสภาพคล่องและไม่มีรายได้จนทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ และหนี้ของคนเหล่านี้กลายเป็นหนี้สูญ และเมื่อมีคนผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นในท้ายที่สุดสถาบันการเงินจะขาดสภาพคล่อง
จุดที่กลายเป็น Financial Crisis
จากที่อธิบายน่าจะพอมองออกกันแล้วว่า จุดที่จาก “การก่อหนี้” พัฒนาไปเป็น Financial Crisis หรือ วิฤตการเงิน ได้ก็คือเหตุการณ์ที่คนจำนวนมากและธุรกิจจำนวนมากเกิดการผิดนัดชำระหนี้
ในอดีตวิกฤตการเงินเกิดขึ้นกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ราคาสูงขึ้นเพราะการเก็งกำไร (ความต้องการซื้อมาจากคนที่ซื้อบ้านมากกว่า 1 หลังเพื่อเก็งกำไร) จนราคาไปถึงในระดับที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งไม่ใช่ราคาที่เกิดจากความต้องการซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริงๆ
อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งหรือ วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 จุดที่ทำให้ลูกหนี้ (ที่กู้เงินไปเก็งกำไรอสังหา) ขาดสภาพคล่อง คือการลอยตัวค่าเงินบาทจากดอลลาร์ละ 25 บาท เป็นดอลลาร์ละ 50 บาท ซึ่งทำให้หนี้เพิ่มเป็น 2 เท่าในชั่วข้ามคืน และเป็นจุดเริ่มต้นของการขายอสังหาฯ (ที่กู้เงินมาซื้อ) เพื่อหนีตาย
- ถ้าหากต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกราคาจากการก่อหนี้ แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง Demand เทียม ที่ทำให้ราคาสินทรัพย์สูงเกินจริง
อย่างที่บอกว่าการที่ราคาขึ้นมาถึงตรงนี้ได้ไม่ใช่เพราะมีคนแย่งกันซื้อเพราะต้องการซื้อไปอยู่อาศัย แต่ราคาขึ้นมาได้เพราะการเก็งกำไรของนักลงทุนล้วนๆ (ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่คล้ายกันของ วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 40 และ วิกฤต Subprime ปี 2008)
เมื่อมีแต่ความต้องการขายแต่ไม่มีความต้องการซื้อ ราคาของสินทรัพย์ก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว (ในกรณีนี้คือราคาอสังหาฯ) และถ้าหากว่าไม่รีบขายก็อาจจะต้องขายในราคาที่ต่ำลงเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้ความต้องการขายเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก ส่งผลให้ราคาก็จะยิ่งลดลงเร็วขึ้นแบบทวีคูณ ซึ่งเราเรียกอะไรแบบนี้ว่า Panic Sell หรือ การเทขายด้วยความแตกตื่น
ตัวอย่าง การเทขายอย่างหนักในวันที่ 12 มีนาคม 2563 จนทำให้เกิด Circuit Breaker ครั้งที่ 4 ของตลาดหุ้นไทย และครั้งแรกในรอบ 11 ปี แบบนี้เรียกได้ว่าการ Panic Sell (แต่ไม่เกี่ยวกับวิกฤตการเงิน)

วิกฤตการเงิน กลายเป็น วิกฤตเศรษฐกิจ
หลังจากการเทขายด้วยราคาเท่าไหร่ก็ได้เพื่อหนีตายก่อนที่จะไม่เหลืออะไรเลย ก็ใช่ว่าจะได้เงินมาเงินพอใช้หนี้ (เพราะส่วนใหญ่เป็นการขายขาดทุน) และไม่ใช่ทุกคนจะขายสินทรัพย์ออก
เมื่อไม่สามารถจ่ายหนี้ได้หนี้เหล่านี้จะกลายเป็นหนี้สูญ (Default) ซึ่งผู้ที่ต้องรับภาระหนี้สูญก็คือสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้เหล่านั้น โดยหนี้สูญจะทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่องและเมื่อถึงจุดหนึ่งธนาคารจะไม่มีเงินให้ลูกค้าถอนหรือในกรณีที่แย่กว่านั้นคือล้มไปเลย ซึ่งหมายความเงินฝากของลูกค้าทั้งหมดจะกลายเป็น 0
นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ วิกฤตเศรษฐกิจ ได้เช่นกันคือการกู้เงินของธุรกิจเพื่อนำไปใช้ลงทุน แต่โชคไม่ดีที่มีเหตุให้ธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถขายสินค้าได้ เมื่อถึงจุดที่ธุรกิจขาดสภาพคล่องจนล้มละลายหนี้ก็จะกลายเป็นสูญ และเช่นเดิมธนาคารที่ปล่อยกู้คือผู้รับภาระจากการที่ผู้กู้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้จะไม่ล้ม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือธนาคารจะไม่อยากปล่อยกู้ ซึ่งหมายถึงการลงทุนใหม่ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น ในขณะที่ธุรกิจเองก็ไม่อยากกู้เพราะไม่เห็นโอกาสที่จะทำกำไรได้ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ทั้งหมดจะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้นและการจ้างงานไม่เพิ่มขึ้น ตามที่ได้อธิบายเอาไว้ในตอนต้น
สำหรับใครที่ยังไม่เห็นภาพว่าหนี้นำไปสู่ วิกฤตเศรษฐกิจ (Economic Crisis) ได้อย่างไร แนะนำให้ดู How the Economic Machine Works by Ray Dalio ตั้งแต่ต้นไปจนถึงนาทีที 19.09
อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่กำลังคิดว่าปัญหา วิกฤต COVID-19 คือสิ่งที่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ วิกฤตเศรษฐกิจ ครั้งใหม่หรือไม่สามารถอ่านต่อได้ที่บทความ – Coming Soon