ช่วงนี้มีข่าวมากมายเกี่ยวกับ วิกฤตการเงินของประเทศตุรกี มาดูกันว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับประเทศตุรกี อะไรทำให้ประเทศตุรกีเกิดวิกฤตทางการเงิน และทำไมค่าเงินตุรกีถึงได้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เริ่มจากทำความเข้าใจกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีกันก่อน
หนี้ระหว่างประเทศจำนวนมาก จากการที่ประเทศตุรกีมีหนี้ที่กู้จากต่างประเทศ สูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 3.5 เท่า
ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง จากปัญหาการขาดดุล และค่าเงินที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่อง
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ขึ้นไปแตะในระดับที่สูงกว่า 20% เป็น All-time High ซึ่งเป็นผลจากความกลัวของนักลงทุนในเรื่องที่ ตุรกีขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ถึง 6.25% ของ GDP
อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) สูงถึง 15.85% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางตุรกีถึง 3 เท่าและเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี
ค่าเงินลีรา (Lira) ตุรกีอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุก็มาจากความเชื่อมั่นใน ค่าเงินตุรกี ที่ลดลงอย่างหนักจากปัญหาที่เกิดขึ้น โดย 4 ปีที่ผ่านมามูลค่าของเงิน 1 ลีราตุรกี (Lira) เมื่อเทียบกับเงินบาทไทย (Baht) ลดลงไปประมาณ 10 บาท (จากประมาณลีราละ 15 บาท ทุกวันนี้เหลือประมาณลีราละ 5 บาท)

สำหรับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศตุรกีในครั้งนี้เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศตุรกี กับ การเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกาที่ซ้ำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก
พื้นฐานเศรษฐกิจประเทศตุรกี
ประเทศตุรกี เป็นหนึ่งในประเทศตลาดเกิดใหม่เช่นเดียวกับไทย ตุรกีเป็นประเทศที่มีลักษณะของเศรษฐกิจที่เหมือนกับประเทศจีนรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก แต่อย่างไรก็ตามประเทศตุรกีกลับ ขาดดุล อย่างหนัก จากการที่ประเทศตุรกีมี หนี้ที่กู้จากต่างประเทศ อยู่สูงมาก ทำให้ตุรกี ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มากกว่า 6% จาก GDP
ถ้าถามว่า ประเทศตุรกี ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มากขนาดไหนในปัจจุบัน? คำตอบคือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มากที่สุดในโลก
สาเหตุของการขาดดุลของตุรกีนั้นมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งมาจากการกู้ยืมเงินทุนจากต่างประเทศ โดยหนี้เหล่านี้ถูกใช้ในการทำมาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับสร้างห้างสรรพสินค้าเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งในระยะสั้นหนี้เหล่านี้ช่วยดันเศรษฐกิจได้จริง (ถ้าย้อนไปดูเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจตุรกีค่อนข้างสูง) แต่ในระยะยาวแล้วไม่ค่อยช่วยให้เศรษฐกิจโตเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่กู้มาสร้างไม่ได้ช่วยให้เกิด Productivity มากเท่าไหร่ (ฟังดูคุ้น ๆ เหมือนประเทศหนึ่งเมื่อปี 2540)
และสิ่งที่แย่สำหรับเรื่องนี้ คือ ตอนนี้ นโยบายทางการเงินของโลก เริ่มกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกครั้ง นักลงทุนเริ่มถอนเงินออกจาตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) + ดอกเบี้ยที่เริ่มกลับมาสูงอีกครั้ง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับประเทศที่มีหนี้สูง ๆ อย่างประเทศตุรกีในตอนนี้ เพราะต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้ภาระในการชำระหนี้ของตุรกีเพิ่มขึ้นโดยตรง
ปัญหาความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา
ถ้าตามข่าวช่วงที่ผ่านมาถ้าใครตามข่าวการเมืองระหว่างประเทศ จะเห็นว่ามีข่าวประเด็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับตุรกีออกมาให้เห็นบ่อย ๆ ซึ่งความกังวลที่เกิดจากเรื่องนี้ที่หลาย ๆ คนกังวลกันก็คือความขัดแย้งนี้อาจทำไปสู่การกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา
ซึ่งสหรัฐอเมริกาถือเป็น 1 ใน Top 5 ประเทศที่นำเข้าสินค้าจากตุรกีมากที่สุด และถ้าหากว่าสหรัฐอเมริกาออกมาตรการกีดกันทางการค้า ก็จะยิ่งทำให้ตุรกีส่งออกได้น้อยลงทำให้รายได้ลดลง กลายเป็นปัญหาที่เข้ามาซ้ำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก
และเมื่อรู้ว่าทุกคนกลัว มาตรการกีดกันทางการค้า จากอเมริกา Donald Trump ก็ไม่นิ่งเฉย ออกมาสาดน้ำมันเข้ากองเพลิงผ่าน Twitter ส่วนตัว
อีกหนึ่งตัวกระตุ้น, Donald Trump
สิ่งที่ทำให้เรื่องของตุรกีกลับมาเป็นประเด็นคือ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Donald Trump ได้ทวีตบท Twitter ส่วนตัวว่า จะปรับขึ้นกำแพงภาษี (Tariff) ของเหล็กและอะลูมิเนียมที่มาจากตุรกีให้สูงขึ้น โดยจะเพิ่มภาษีเหล็กเป็น 50% และเพิ่มภาษีอะลูมิเนียมเป็น 20% ด้วยเหตุผลที่ว่า ค่าเงินลีรา (Lira) ของประเทศตุรกีอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
เท่านั้นยังไม่พอ Donald Trump ยังทิ้งท้ายไว้ใน Tweet เดียวกันอีกว่า ความสัมพันธ์กับตุรกีช่วงนี้ไม่ดีเท่าไหร่
หลังจาก Donald Trump ได้ออกมาทวีต ทวีตดังกล่าวก็ทำให้ ค่าเงินลีราตุรกี อ่อนค่าลง อย่างรุนแรง จากความกังวลของนักลงทุน โดยค่าเงินลีราตุรกี (TRY) ได้ลงไปทำ All-time Low ที่ 6.88 ลีรา (Lira) ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (USDollar) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา

เงินอ่อนมีผลอะไรกับประเทศตุรกี
นอกจากปัญหาดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นแล้ว อีกปัญหาที่น่าสำคัญก็คือการที่ค่าเงินตุรกีอ่อนค่าอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา เพราะอย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าตุรกีเป็นประเทศที่มีหนี้ระหว่างประเทศอยู่มาก การที่ยิ่งเงินลีราอ่อนค่ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ต้องจ่ายหนี้มากขึ้นเท่านั้น สำหรับใครที่งงว่าลีราอ่อนแล้วต้องจ่ายหนี้มากขึ้นอย่างไร ลองดูตัวอย่าง
สมมติ บริษัท A จากประเทศตุรกี ทำสัญญากู้จากธนาคาร Z ของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเงิน 1,000 ลีราตุรกี ระยะเวลาใช้หนี้ คือ 5 ปี (แต่ก่อนอื่นจำไว้ว่ากู้จากที่ไหนจะได้เงินเป็นสกุลนั้น และตอนใช้คืนก็ต้องใช้เป็นเงินสกุลที่กู้มา) ดังนั้นบริษัท A ที่ต้องการกู้ 1,000 ลีราตุรกีจะได้มาเป็นเงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรืออัตราแลกเปลี่ยนเมื่อ 5 ปีก่อนที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 2 ลีราตุรกี
เวลา 5 ปีผ่านไปบริษัท A ต้องใช้หนี้ที่กู้มา 500 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง 2 ประเทศอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 6 ลีราตุรกี นั่นหมายความว่าเงินที่ต้องหามาเพื่อนำไปแลกเป็นดอลลาร์ เพื่อคืนธนาคาร Z ไม่ใช่ 1,000 ลีราอีกต่อไป เพราะวันนี้การที่จะแลก 1 ดอลลาร์ได้ ต้องใช้ถึง 6 ลีราตุรกี
ดังนั้น เงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน (5 ปีผ่านไป) จะต้องใช้เงินถึง 3,000 ลีราตุรกี เพื่อแลก (500 x 6) นั่นหมายความว่า บริษัท A จะมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง 300% ในระยะเวลา 5 ปีนั่นเอง ผลที่ตามมาก็คือ การที่บริษัทที่มีเงินทุนไม่มากพออาจจะล้มละลายได้เลย
ซึ่งบริษัทล้มละลายก็หมายถึงพนักงานที่ไม่มีงานทำ > พนักงานที่ไม่มีงานทำ ก็ไม่มีเงินซื้อของกินของใช้ > เมื่อไม่มีคนใช้จ่าย ก็ไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบ และไม่มีงานในที่สุด
ข้อมูลอ้างอิงจาก: Bloomberg, CNBC