ส่วนเกินมูลค่าหุ้น คืออะไร?
ส่วนเกินมูลค่าหุ้น คือ รายการบัญชีที่แสดงส่วนที่เกินมูลค่าของหุ้นของบริษัทเมื่อบริษัทออกหุ้นด้วยราคาที่สูงกว่าราคาพาร์ (Par Value) โดยรายการบัญชีส่วนเกินมูลค่าหุ้น (Share Premium) จะแสดงอยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholders’ Equity) ของงบแสดงฐานะการเงิน
กล่าวคือ ส่วนเกินมูลค่าหุ้น (Share Premium) เป็นตัวเลขที่จะแสดงให้เห็นว่าหุ้นของบริษัทหนึ่งถูกขายด้วยราคาที่สูงกว่าราคาพาร์ (Par Value) เป็นมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งส่วนที่เกินมาจากราคาพาร์นั้นก็จะถูกบันทึกบัญชีเอาไว้เป็นส่วนเกินมูลค่าหุ้นในส่วนของผู้ถือหุ้น
โดยส่วนเกินมูลค่าหุ้น (Share Premium) ที่ได้รับมาจากการขายหุ้นสามัญ (Common Stock) ในส่วนที่สูงกว่าราคาพาร์ (Par Value) ที่ตราไว้เมื่อจดทะเบียนจะเรียกว่า ส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญ
ในขณะที่ส่วนเกินมูลค่าหุ้น (Share Premium) ที่ได้รับจากการขายหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) ในราคาที่สูงกว่าราคาพาร์ (Par Value) ก็จะเรียกว่า ส่วนเกินมูลค่าหุ้นบุริมสิทธิ
การคำนวณหาส่วนเกินมูลค่าหุ้น (Share Premium) จะสามารถคำนวณได้จากสมการ: (ราคาขายจริง – ราคาพาร์) x จำนวนหุ้น = ส่วนเกินมูลค่าหุ้น
จากสูตรคำนวณจะเห็นว่าส่วนเกินมูลค่าหุ้นจะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทที่ออกหุ้นขายหุ้นด้วยราคาที่สูงกว่าราคา Par และนอกจากนี้ราคาของหุ้นจากการซื้อขายของนักลงทุนในตลาดรองอย่างตลาดหุ้นจะไม่เกี่ยวกับส่วนเกินมูลค่าหุ้นหรือ Share Premium ดังกล่าวแต่อย่างใด
วิธีคำนวณส่วนเกินมูลค่าหุ้น
สมมติว่า บริษัท Greedy Insurance จัดตั้งบริษัทขึ้นมาโดยมีการแบ่งหุ้นออกเป็น 1,000,000 หุ้น และกำหนดราคาพาร์ของหุ้นของบริษัท Greedy Insurance ไว้ที่ 1 บาทต่อหุ้น แต่ราคาที่หุ้นถูกขายไปจริงๆ คือราคา 10 บาทต่อหุ้น
เมื่อ Share Premium หรือ ส่วนเกินมูลค่าหุ้น สามารถคำนวณหาได้จาก: (ราคาขายจริง – ราคาพาร์) x จำนวนหุ้น

ดังนั้น จากสถานการณ์ในตัวอย่าง Share Premium = (10 บาท – 1 บาท) x 1,000,000 หุ้น = 9,000,000 บาท
สรุป ส่วนเกินมูลค่าหุ้น หรือ Share Premium ของบริษัท Greedy Insurance หลังจากที่ขายหุ้นออกไปในราคา 10 บาทต่อหุ้น จึงเท่ากับ 9,000,000 บาท (หรือ 9 บาทต่อหุ้น)
นอกจากนี้ งบแสดงฐานะการเงินของบริษัท Greedy Insurance ก็จะบันทึกว่าบริษัทฯ มีส่วนเกินมูลค่าหุ้น ทั้งสิ้น 9,000,000 บาท ซึ่งจะถูกบันทึกเอาไว้ในบัญชีหมวดส่วนของเจ้าของงบแสดงฐานะการเงิน