หนี้ครัวเรือน คือ หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมโดยบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศ ซึ่งบุคคลคนนั้นจะนำเงินกู้ก้อนนั้นไปจับจ่ายใช้สอยหรือใช้ประกอบธุรกิจก็นับว่าเป็นหนี้ครัวเรือน โดยผู้ให้กู้ในกรณีหนี้ครัวเรือน (Household Debt) คือสถาบันการเงิน
ไม่ว่าจะเป็น เงินกู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด เงินกู้ซื้อรถ เงินกู้ไปลงทุนเปิดร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งเงินกู้เพื่อซื้อของฟุ่มเฟือย ทั้งหมดจะนับว่าเป็น หนี้ครัวเรือน หรือ Household Debt
อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนหรือ Household Debt จะเป็นหนี้ที่ครอบคลุมแค่เงินกู้จากสถาบันการเงินที่ธนาคารกลาง (Central Bank) หรือธนาคารแห่งประเทศไทยเก็บข้อมูลได้เท่านั้น (แน่นอนว่าไม่รวมหนี้นอกระบบ)
สำหรับที่มาของ ตัวเลขหนี้ครัวเรือน จะประกอบตัวเลขเงินกู้จาก 2 กลุ่มหลัก คือ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร อย่างเช่น บริษัทบัตรเครดิต บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์ และ โรงรับจำนำ เป็นต้น
ความหมายอ้างอิงจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ พื้นฐานวิธีคิดหนี้ครัวเรือนของแต่ละประเทศบางส่วนอาจจะต่างกันเล็กน้อย
หนี้ครัวเรือน (Household Debt) บอกอะไร?
หนี้ (Loan) ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เช่นเดียวกับ หนี้ครัวเรือน (Household Debt) หลายอย่างในเศรษฐกิจต่างขับเคลื่อนด้วยหนี้สินและหนี้สินก็สะท้อนให้เห็นว่ารายได้ของคนในชาติสูงขึ้น (รายได้มาก ก็สามารถกู้ได้ไปใช้จ่ายหมุนเวียนในเศรษฐกิจได้มาก)
อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือน (Household Debt) ที่ดีก็ควรจะสอดคล้องกันกับ ระดับรายได้ของประชากร เนื่องจากรายได้ก็คือความสามารถในการชำระหนี้
ถ้าหนี้ครัวเรือน อยู่ในระดับสูงกว่า ระดับรายได้ของประชากร ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้ ซึ่งในท้ายที่สุดหนี้เหล่านั้นก็จะกลายเป็นหนี้เสีย หรือ NPL (Non Profit Loan) หรือหนี้ที่เกิดจากการผิดนัดชำระหนี้
และถ้าหากว่า หนี้ครัวเรือนกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ในจำนวนที่มากเกินไป ในท้ายที่สุดก็จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) เหมือนกับหลายวิกฤตการเงินที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Subprime หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง
หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น มาจากไหน?
สำหรับเหตุผลที่ทำให้ หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น นอกจากการที่คนมีรายได้เพิ่มขึ้นจนสามารถกู้ได้มากขึ้น มีอยู่หลายปัจจัย ซึ่งแต่ละปัจจัยก็ใช่ว่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด การก่อนหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นโดยตรงเสมอไป
ดังนั้น แนะนำให้มองว่าเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิด การก่อหนี้ครัวเรือน (Household Debt) โดยปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการก่อหนี้ครัวเรือน ได้แก่:
เศรษฐกิจดี (หรือดีมาก) จนคนทั่วไปกล้าใช้เงิน รวมถึงกล้ากู้เงิน (กล้าผ่อนรถ กล้าผ่อนบ้าน)
ความรู้ด้านการบริหารเงินน้อย พูดง่ายๆ คือคนทั่วไปไม่มีความรู้ในการบริหารเงินที่มี จนนำไปสู่การก่อหนี้นั่นเอง
การกู้เงินไปใช้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ถ้าสังเกตดี ๆ ในระยะยาวของทุกวัฏจักรเศรษฐกิจ จะมีอยู่ช่วงหนึ่งเสมอที่คนจะแห่กันกู้เงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร
ธนาคารแข่งกันปล่อยเงินกู้ บางครั้งสาเหตุก็ไม่ได้มาจากคนกู้ บางครั้งก็มาจากธนาคารที่แข่งกันปล่อยกู้ (จนทำให้กู้ผ่านง่ายมากๆ) ซึ่งเหตุการณ์การแข่งกับปล่อยกู้จนหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมจนกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ก็คือช่วงวิกฤติ Subprime ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเงินกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำเงินไปเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์
นโยบายของรัฐที่เอื้อให้ประชาชนก่อหนี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเพื่อหาเสียง หรือนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม
ความสามารถในการเข้าถึงเงินกู้ในระบบมากขึ้น การเปลี่ยนจากกู้นอกระบบมากู้ในระบบได้ จึงทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
จะเห็นว่า หนี้ครัวเรือน (Household Debt) เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างน่าสนใจตัวหนึ่ง เนื่องจากเป็นตัวเลขที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี เพราะหนี้คือหนึ่งในสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น สำหรับใครที่สนใจในเศรษฐกิจ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนคือหนึ่งในตัวเลขที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด โดยสามารถติดตามรายงานหนี้ครัวเรือนของไทยได้จาก เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย