หนี้สงสัยจะสูญ คืออะไร?
หนี้สงสัยจะสูญ คือ ลูกหนี้ที่บริษัทคาดว่าไม่น่าสามารถเรียกเก็บเงินได้ (คาดว่าจะกลายเป็น หนี้สูญ) หรืออาจจะเก็บได้แต่ไม่ครบ 100% ซึ่งเป็นหนี้สินที่เป็นผลมาจากการขายสินค้าในลักษณะของการให้สินเชื่อทางการค้ากับผู้ซื้อ (ให้ Credit Term)
เนื่องจาก ในการอำนวยความสะดวกกับผู้ซื้อด้วยการให้ Credit Term บางครั้งลูกหนี้ลูกหนี้ก็อาจจะจ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จ่ายเงินล่าช้ากว่ากำหนด หรือในกรณีที่แย่ที่สุดคือผิดนัดชำระหนี้และกลายเป็นหนี้สูญ (Bad Debt)
จากปัญหาดังกล่าว หน้าที่หรือประโยชน์หลักของ หนี้สงสัยจะสูญ (Doubtful Account) คือการใช้เป็นตัวเลขประมาณการเพื่อทำให้บริษัทเห็นตัวเลขของรายการลูกหนี้การค้าที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด (คาดว่าจะเก็บได้จริงเท่าไหร่) เนื่องจาก ลูกหนี้การค้ามีโอกาสที่จะไม่สามารถเก็บได้ 100% ไม่ว่าจะขาดเล็กน้อง 2-3% หรือเก็บไม่ได้เลยก็ตาม
การประมาณการดังกล่าวจะเรียกว่า ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Allowance for Doubtful Account) ที่ตั้งขึ้นมาจากการประมาณจากยอดขายเชื่อหรือจากยอดหนี้ของลูกหนี้
ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Allowance for Doubtful Account)
ดังนั้น เมื่อมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญขึ้นมา ก็จะสามารถประมาณการได้ว่าจะเก็บหนี้จากลูกหนี้การค้าได้จริงประมาณเท่าไหร่
โดยความสัมพันธ์ระหว่าง ลูกหนี้การค้าที่คาดว่าจะเก็บได้, ลูกหนี้การค้า, และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จะสามารถเขียนเป็นสมการได้ว่า:
ลูกหนี้การค้าที่คาดว่าจะเก็บได้ = ลูกหนี้การค้า – ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
ตัวอย่างเช่น ประมาณการจากยอดขายเชื่อ 5% โดยยอดขายเชื่อให้กับนายเอคือ 1 ล้านบาท ดังนั้น หนี้สงสัยจะสูญที่จะตั้งเป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในบัญชีจะเป็น 50,000 บาท
กล่าวคือ บริษัทคาดว่าจะเก็บหนี้ได้จากนาย A แค่ 950,000 บาท อีก 50,000 คาดว่าจะกลายเป็นหนี้สูญ
ทั้งหมดคือที่มาของ หนี้สงสัยจะสูญ (Doubtful Account) ว่าทำไม “สงสัยจะสูญ”
หนี้สงสัยจะสูญ คือ ค่าใช้จ่าย
ในการบันทึกบัญชี หนี้สงสัยจะสูญ หรือ ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จะบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แต่จะไม่นับเป็นค่าใช้จ่ายในทางภาษี เพราะยังไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงแค่การคาดการณ์ว่าหนี้จำนวนดังกล่าวน่าจะสูญหรือน่าจะไม่ได้คืน
โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Allowance for Doubtful Account) อย่างละเอียด พร้อมกับวิธีบันทึกบัญชีของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้ในบทความ ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ คืออะไร?
นอกจากนี้ เนื่องจากการบันทึกหนี้สงสัยจะสูญได้บันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่าย ทำให้ในกรณีที่หากหนี้สงสัยจะสูญจำนวนนั้นสามารถเรียกเก็บได้ (ด้วยเหตุผลบางอย่าง) ก็จะต้องทำบัญชีกลับค่าใช้จ่ายที่บันทึกไปเมื่อตอนที่ตั้งหนี้สงสัยจะสูญไว้เมื่อก่อนหน้านี้ เพื่อทำให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทลดลงอย่างที่ควรจะเป็น จากการที่สามารถเรียกเก็บเงินคืนมาได้แล้ว